เมื่อวานที่ผ่านมา (3 พฤศจิกายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ค.ศ. 2016-2020
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นของชาวโรฮีนจาที่ถูกกวาดล้างโดยกองทัพเมียนมา จนก่อให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ไปยังบังกลาเทศตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา โดยได้ร้องขอให้รัฐบาลเมียนมาประกันความปลอดภัยของพี่น้องชาวโรฮีนจาในกรณีที่พวกเขาทยอยเดินทางกลับจากบังกลาเทศสู่ภูมิลำเนาเดิมบริเวณรัฐยะไข่
นอกเหนือจากการประกันด้านความปลอดภัยแล้ว เมียนมายังจะต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวโรฮีนจา สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย ให้เกียรติพวกเขาในฐานะพลเมืองกลุ่มหนึ่งของประเทศ โดยจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรมสากล ในขณะที่ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาของเมียนมาที่นั่งอยู่ในที่ประชุมไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้เมียนมาเคยปฏิเสธที่จะเรียกชนกลุ่มนี้ว่าชาวโรฮีนจาตามที่พวกเขาต้องการ แต่จะเรียกชนกลุ่มนี้ว่าชาวเบงกาลีแทน และถึงแม้ว่าเมียนมาและบังกลาเทศมีการลงนามข้อตกลงทยอยส่งชาวโรฮีนจากลับประเทศ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะชาวโรฮีนจาจำนวนไม่น้อยต่างกังวลต่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว สำหรับพวกเขาบางคน การเดินทางกลับเมียนมาก็ไม่ต่างอะไรกับการเดินเข้าไปหาความตาย
ภาพ: Manan Vatsyayana / AFP via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: