อุปสรรคใหญ่ของธุรกิจไทยในวันนี้คือค่าเงินบาทที่แข็งค่า ล่าสุดเงินบาทแข็งค่าต่ำกว่า 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว สาเหตุและทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
บาทแข็งค่าต่ำ 31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลัง Fed ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31 ตุลาคม) ที่ระดับ 30.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากเมื่อวานนี้ (30 ตุลาคม) ที่ปิดตลาดที่ระดับ 30.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าเงินบาทที่ 30.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าแข็งค่าราว 7.82% จากต้นปี 2562
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบที่ 30.15-30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนบางส่วนกลับเข้าซื้อตราสารหนี้ (Bond) หลังจากผลตอบแทน (Yield) ปรับตัวขึ้น เป็นแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าลงไปอีก
สาเหตุหลักท่ีเงินบาทแข็งค่ามาจากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติลดดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 1.50-1.75% ตามที่ตลาดคาดไว้ ส่งผลให้ดัชนีสำคัญอย่าง S&P 500 ปรับตัวขึ้น 0.3% ทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลง 6.5bps ลงมาที่ระดับ 1.77%
ซึ่งการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะกดให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าได้ในระยะสั้น ระยะถัดไปต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจในฝั่งสหรัฐฯ หากยังคงแข็งแกร่ง ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยต่อจากระดับปัจจุบัน เงินดอลลาร์สหรัฐก็มีโอกาสฟื้นตัวได้ในอนาคต
ทั้งนี้นักลงทุนในตลาดมองความน่าจะเป็นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดดอกเบี้ยต่อในเดือนธันวาคมเหลือเพียง 22% ถือว่าเป็นมุมมองเชิงบวกที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงดอกเบี้ยมากขึ้น ซึ่งช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์สหรัฐสามารถปรับตัวแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น แต่ผลตอบแทนพันธบัตรในฝั่งยุโรปกลับไม่มีการปรับตัวลงตาม เพราะ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณให้ภาครัฐในยุโรปหันมาใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น และอาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในยุโรปลงตามสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงในช่วงท้ายตลาด
3 ข้อสังเกตเมื่อ FOMC ลดดอกเบี้ย
1. ผลการประชุมที่มีมติ ‘ลด’ ดอกเบี้ย แต่ครั้งนี้มีคณะกรรมการที่เปลี่ยนใจมาสนับสนุนการลดดอกเบี้ยหนึ่งคนคือ เจมส์ บูลลาร์ด ขณะที่ เอริก โรเซนเรน และเอสเธอร์ จอร์จ ยังคงสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม
2. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านสายตาของธนาคารกลางสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยส่งสัญญาณว่าภาคลงทุนและส่งออกในสหรัฐฯ ยังอ่อนแอ ซึ่งครั้งที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ มองว่าทั้งสองกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ ‘อ่อนแอลง’ ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในระดับ ‘ปานกลาง’ และเงินเฟ้ออยู่ในระดับ ‘ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2%’ ตามเดิมทั้งหมด
3. มุมมองของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอนาคต ครั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดความคิดที่จะปรับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจออก เหลือเพียงการสังเกตการณ์ข้อมูลเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งถือเป็นการ ‘จบรอบ’ การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไว้ที่ 3 ครั้ง หรือ 0.75%
หลังจากนี้เงินบาทมีลุ้นแข็งค่าถึง 29.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
จิติพลเปิดเผยกับ THE STANDARD ว่ากรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทช่วงที่เหลือของปี 2562 อยู่ที่ 29.85-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าช่วงสิ้นปีเงินบาทจะอยู่ที่ 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องจับตามองดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย มีโอกาสจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในช่วงที่เหลือของปี เพราะในปี 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง รวม 0.25% ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง รวม 0.75% ส่งผลเกิดความต่างอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายหรือการออกนโยบายเพื่อดูแลการแข็งค่าเงินบาทเพิ่มเติมหรือไม่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์