×

รายการข่าวเศรษฐกิจอาจเป็น ‘ของหนัก’ สำหรับคนไทยไปบ้าง JKN ยัน รายการข่าว CNBC ยังไปต่อได้ แม้หลุดผัง GMM25

29.10.2019
  • LOADING...

1 กรกฎาคม 2562 เป็นวันแรกที่ 3 รายการข่าว Squawk Box, Power Lunch และ Street Sign อยู่ภายใต้แบรนด์ JKN-CNBC ซึ่งผลิตคอนเทนต์รายการข่าวเศรษฐกิจและนำเสนอข่าวสารด้านการเงินการลงทุน โดยบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อลิขสิทธิ์เป็นระยะเวลา 10 ปีจากช่องข่าวชื่อดังระดับโลกอย่าง CNBC จากสหรัฐอเมริกา โดยออกอากาศในช่อง GMM25 

 

ท่ามกลางเป้าหมายต้องการเป็นเบอร์ 1 สำนักข่าวด้านเศรษฐกิจของไทย และได้แบรนดิ้งของ CNBC มาการันตี แต่ผ่านไปเพียง 3 เดือน เมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้ง 3 รายการกลับไม่ได้ไปต่อ จู่ๆ GMM25 ประกาศปรับผังรายการใหม่ และรายการข่าวเหลือเพียง 1 รายการ โดยปรับเปลี่ยนมาทำรายการข่าวทั่วไปในชื่อ เจาะข่าวเช้านี้ ออกอากาศในวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 06.00-07.00 น.

 

สโรชา พรอุดมศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น นิวส์ จำกัด ยอมรับว่า สาเหตุที่ทั้ง 3 รายการต้องปรับเปลี่ยนเป็นเพราะรายการวิเคราะห์ข่าวด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และการเงินอย่างจริงจังเป็น ‘ของหนัก’ เกินไปสำหรับคนไทย แม้จะมีคนดูก็จริงแต่ตลาดนี้เป็น ‘Niche Market’ เมื่อนำมาออกอากาศใน GMM25 ซึ่งเป็นตลาดแมสที่กลุ่มคนดูชื่นชอบเอ็นเตอร์เทนเมนต์ กระแสจึงไม่ดีเท่าที่ควร

 

แม้ JKN-CNBC จะอยู่ได้ด้วยการบริหารต้นทุน และสามารถหารายได้จากการ Tie-in เข้าไปในรายการ แต่ด้วยการใช้รูปแบบ Time Sharing ทำให้เมื่อเรตติ้งไม่ดีมากนัก การหารายได้จากค่าโฆษณากลายเป็นเรื่องยาก จึงต้องปรับรายการไปสู่รูปแบบที่ทำข่าวทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถใช้ชื่อเดิมได้ แต่ยืนยันยังมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับ GMM25

 

แม่ทัพ JKN-CNBC ยอมรับว่า สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องใหม่ของตลาด เป็นปกติของสินค้าใหม่ที่ต้องทดลองตลาด ฟังฟีดแบ็กจากลูกค้า เช่นเดียวกับรายการที่เราทำซึ่งให้เวลา 3 เดือน ถ้าไม่เวิร์กต้องปรับใหม่ โดยทาง JKN-CNBC เป็นฝ่ายเดินเข้าไปหา GMM25 เพื่อขอปรับเปลี่ยนรูปแบบ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าคนดูเป็นอย่างไร ลูกค้าคือใคร และจะทำคอนเทนต์อย่างไรให้เหมาะสม 

 

JKN-CNBC กล่าวว่า ทั้ง 3 รายการจะกลับมาอย่างแน่นอน ภายในสิ้นปีนี้อย่างน้อย 1 รายการจะไปปรากฏตัวในช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างพูดคุย “การทำธุรกิจมีเดียไม่ตายตัว ถ้าเจอทางตันก็แค่เดินอ้อม CNBC ใช้เวลา 10 ปีกว่าจะติดตลาด แต่เราเชื่อว่าจะทำได้เร็วกว่านั้น” แต่ “ความยากของการทำรายการข่าวเศรษฐกิจคือ ต้องทำเรื่องที่เข้าใจยากและดูเหมือนใกล้ตัวมาย่อยให้คนดูเข้าใจง่ายที่สุด”

 

ข่าวเศรษฐกิจ

 

สโรชาอธิบายเพิ่มเติมว่า คนไทยชอบดูข่าวกระแส หรือจะเรียกข่าว Emotional แต่ข่าวเหล่านี้ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับชีวิตประจำวันเลย เช่น คลิปข่าวรถชนคนก็กลายเป็นกระแส คนอยากรู้เขาคือใครมาจากไหน สำนักข่าวต่างก็นำเสนอเรื่องนี้ แต่ถามว่าเราดูแล้วได้อะไรไหม คำตอบคือไม่ นี่คือทิศทางสื่อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และยังคงเป็นกระแสที่ไปต่อไม่หยุดในเร็ววันนี้

 

“สิ่งที่หวังในฐานะคนทำสื่อมา 20 ปี ถ้าเราในฐานะสำนักข่าวยังทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ อนาคตสังคมเราน่าเป็นห่วง เพราะว่าสิ่งที่คนทั่วไปเสพข่าว ณ วันนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเลย สำนักข่าวในประเทศควรกลับมามองตัวเองให้ชัดอีกครั้งว่าเรากำลังเสิร์ฟอะไรให้กับสังคม สิ่งที่ต้องทำคือเสิร์ฟข่าวที่ให้ประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่”

 

ปัจจุบัน JKN-CNBC ผลิตรายการทั้งหมด 17 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 7 รายการ ทั้งในทีวีดิจิทัล 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง GMM25 ช่อง 5 ช่องอมรินทร์ทีวี 34 และช่อง TNN16 ส่วนปีหน้าเตรียมผลิตเพิ่มเป็น 33 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 10 รายการ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้สัดส่วนรายได้จากโฆษณาเพิ่มขึ้นจาก 3-5% เป็น 5-10% จากภาพรวมของธุรกิจ 

 

ในปี 2563 มีแผนพัฒนาแอปพลิเคชัน JKN-CNBC เพื่อขยายช่องทางการรับชมคอนเทนต์ข่าวเศรษฐกิจผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าจะเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดได้ภายในไตรมาส 1/2563 นี้ หลังเปิดรับชมผ่าน Facebook JKN CNBC, JKN News และเว็บไซต์ JKNCNBC.com ซึ่งออกอากาศรายการสด 6 ชั่วโมงต่อวัน พร้อมเพิ่มคอนเทนต์รายการสารคดีจากทั่วโลก เช่น National Geographic, History Channel, BBC และ Media Corp 

 

การเข้าดู OTT จะกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้นอกเหนือจากการทำรายการเอ็กซ์คลูซีฟที่จะทำเป็นตอนๆ โดยจะหาสปอนเซอร์ก่อนจะผลิตจริงๆ นอกจากนี้ยังเตรียมออกอากาศในทีวีดาวเทียมช่อง PSI 19 แม้หลายคนบอกว่าทีวีดาวเทียมไม่มีคนดูแล้ว ไม่เป็นความจริง ทีวีดาวเทียมยังมีคนดูอยู่เฉพาะกลุ่มที่เสพข่าวผ่านทีวี ส่วนใหญ่จะค่อนข้างมีอายุและไม่ค่อยอยู่ในเมือง 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X