เมื่อดัชนีหุ้นไทยลดลงต่ำกว่า 1,600 จุด ไหนราคาหุ้นธนาคารกสิกรไทยลดลงมาต่ำสุดในรอบ 7 ปี หุ้นธนาคารอื่นๆ ก็ร่วงตาม เกิดขึ้นจากอะไร และหลังจากนี้เราต้องลงทุนอย่างไร
ดัชนีหุ้นไทยต่ำ 1,600 จุด ผลความกังวลเศรษฐกิจในประเทศ
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (บล.เอเซีย พลัส) เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ระยะนี้ดัชนีหุ้นไทยลดลงต่ำกว่า 1,600 จุด ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความกังวลภาพรวมเศรษฐกิจไทย เพราะในระยะ 1-2 วันนี้ไม่มีเหตุการณ์และผลกระทบจากต่างประเทศเข้ามากระทบ
“ที่ดัชนีหุ้นไทยต่ำ 1,600 จุด น่าจะเกิดคนกังวลภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ เพราะภาพใหญ่การบริโภคที่รัฐพยายามกระตุ้นอยู่น้ำหนักก็ยังดูแผ่ว การลงทุนภาคเอกชนต้องรอดูท่าทีว่าจะมีการกระตุ้นมากกว่านี้ไหม ส่วนการลงทุนภาครัฐแม้จะเริ่มแล้วแต่ยังไม่เห็นเม็ดเงินผ่านเข้ามา ความหวังเลยอยู่ที่รอบนี้ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) จะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มหรือไม่”
ในช่วงที่ดัชนีหุ้นต่ำกว่า 1,600 จุด ถือเป็นโอกาสให้นักลงทุนที่ตั้งใจลงทุนระยะยาว เข้าซื้อเก็บไว้ โดยกลุ่มหุ้นที่สนใจได้แก่
- หุ้นที่ตามเทรนด์ EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) เช่น บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA), บมจ. ช.การช่าง (CK)
- กลุ่มหุ้นที่ให้เงินปันผลสูงอย่าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
- หุ้นที่ราคาไม่เคลื่อนไหวมานาน เช่น บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT)
- หุ้นกลุ่มพลังงาน เช่น บมจ. ปตท. (PTT)
หลังจากนี้ในสัปดาห์หน้า (28 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน) คาดว่าแนวรับจะอยู่ที่ 1,580 และแนวต้านอยู่ที่ 1,600 จุด ทั้งนี้อาจจะเห็นเงินทุนไหลเข้าในช่วงหลังเดือนตุลาคม 2562 แต่ปัญหายังเป็นเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้เงินทุนที่อาจจะไหลเข้าไทยเข้ามาช้าลง
ส่วนช่วงสิ้นปีคาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,580-1,655 จุด
โดยส่วนราคาต่อกำไร (P/E) คาดว่าจะอยู่ที่ 16 เท่า
เจาะลึกเหตุราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ นำโดย KBANK SCB ร่วงลง (เกือบ) ยกแผง
เมื่อวานนี้ (24 ตุลาคม) ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลง นำโดย ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลดลงราว 7% และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ลดลงราว 6% จากวันก่อนหน้า
รองลงมา ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ลดลงราว 3% ขณะที่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารธนชาต (TCAP), ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ราคาติดลบเฉลี่ยประมาณ 2% จากวันก่อนหน้าเช่นกัน
ทั้งนี้สาเหตุที่ราคาหุ้นปรับลดลง คาดว่ามาจากนักลงทุนกังวลสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อ Real Sector ของไทย เช่น ยอดผลิตรถยนต์ไทยที่ติดลบ 5 เดือนต่อเนื่อง ขณะที่การเติบโตเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวเป็น กดดันโอกาสเติบโตสินเชื่อในอนาคต ทั้งสินเชื่อธุรกิจ นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงกว่า 80% ของ GDP เป็นปัจจัยกดดันต่อกลุ่มสินเชื่อรายย่อย
อย่างไรก็ตาม หนี้เสีย (NPL) ในอุตสาหกรรมธนาคารเพิ่มขึ้น โดยช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 NPL เพิ่มขึ้น 4%เมื่อเทียบจากสิ้นงวดไตรมาส 2 ปี 2562
ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจธนาคารปี 2562-2563
ภายในปี 2562 นี้ คาดว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นกลุ่มธนาคารให้ปรับตัวลดลง จึงแนะนำว่าควรชะลอการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารไปก่อน
ทั้งนี้ธุรกิจธนาคารยังเจอปัญหาแนวโน้มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีทิศทางลดลง เห็นได้จากธนาคารกสิกรไทยกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานปี 2563 ที่ประเมินว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปีหน้าจะติดลบ 5 ถึง 17% เมื่อเทียบกับปี 2562
ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) ที่เปลี่ยนการบันทึกทางบัญชีจากเดิม กรณีที่จัดประเภทเป็นหลักทรัพย์เผื่อขาย สามารถบันทึก Unrealized Gain / Loss ผ่าน OCI (งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ) และในกรณีที่ขายจริง สามารถบันทึกลงในงบกำไรขาดทุนในรายการกำไรจากการขายเงินลงทุน แต่ตามเกณฑ์ TFRS 9 กำหนดให้บริษัทเลือกว่าจะบันทึกการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินลงทุนในงบกำไรขาดทุน หรือใน OCI หากเลือกบันทึกการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินลงทุนเข้า OCI ในกรณีที่มีการขายเงินลงทุนดังกล่าว จะต้องบันทึกกำไรใน OCI เพียงอย่างเดียว แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคารว่าจะเลือกบริหารสินทรัพย์อย่างไร
นอกจากนี้เกณฑ์ TFRS 9 มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในการตั้งสำรองหนี้สูญ ที่จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละรายในอนาคต (ขึ้นอยู่กับ Model ประเมินความเสี่ยงของแต่ละธนาคาร) จากเดิมที่ส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลในอดีต ดังนั้นช่วงที่ผ่านมาจะเห็นธนาคารธนาคารพาณิชย์เร่งจัดชั้นเชิงคุณภาพใหม่ เพื่อรองรับเกณฑ์นี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า