ไม่รู้จะผิดไหมถ้าผมจะบอกว่าผลงานและฟอร์มการเล่นของทีมชาติไทยที่สามารถสยบทีมระดับท็อปของเอเชียอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้อย่างสวยงามในเกมล่าสุด (15 ตุลาคม) คือเกมที่น่าประทับใจมากที่สุดในรอบหลายปี
เอาเป็นว่าผมคิดและรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ครับ และแอบเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงรู้สึกในแบบเดียวกัน (อย่างน้อยพี่โหน่ง วงศ์ทนง อาเฮียของพวกเราก็คนหนึ่งล่ะ!)
การได้เห็นทีมชาติไทย – ในความหมายถึงทีมฟุตบอลชายไทย – กลับมาเป็นทีมที่เล่นได้น่าเชียร์แบบนี้อีกครั้ง ไม่สามารถมองหาเหตุผลอื่นได้นอกจากเป็นผลงานของ อากิระ นิชิโนะ โค้ชคนใหม่ที่เปลี่ยน ‘ช้างศึก’ ให้กลับมาเล่นแบบมีชีวิตชีวาและมีความหวังอีกครั้ง
ในวงเล็บว่ากุนซือชาวญี่ปุ่นใช้เวลาเพียงแค่ 4 นัด หรือนับระยะเวลาจากการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการก็เพียงแค่เกือบ 3 เดือน (จะครบ 3 เดือนในวันที่ 19 ตุลาคมนี้)
อะไรที่ทำให้เขาสามารถเปลี่ยนแปลงให้ทีมชาติไทยกลายเป็นคนละทีมได้ในเวลาอันรวดเร็วขนาดนี้?
เราลองมาดูกันนะครับ 🙂
1. รู้เขารู้เรา
ถึงแม้จะมีเวลาในการทำงานไม่มากนัก แต่ อากิระ นิชิโนะ สามารถเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างได้ด้วยปรัชญาและแนวทางการทำงานที่ชัดเจน
สิ่งแรกที่เขาทำคือการทำความเข้าใจกับทีมตัวเองก่อนว่า ทีมในเวลานั้นมีจุดอ่อนและจุดแข็งอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะประเมินว่าต้องเจอกับคู่แข่งแบบไหน
ผลงานที่โดดเด่นของนิชิโนะในยุคแรกที่เริ่มต้นการทำงานสายนี้ต้องย้อนกลับไปในกีฬาโอลิมปิกในปี 1996 ที่แอตแลนตา วันนั้นนิชิโนะคุมทีมชาติญี่ปุ่นชุดอายุต่ำกว่า 23 ปี ที่ไม่มีผู้เล่นอายุเกินลงสนามเลยแม้แต่คนเดียว ลงปะทะกับทีมชาติบราซิล ซึ่งในชุดนั้นมีผู้เล่นอย่าง โรนัลโด, โรแบร์โต คาร์ลอส, ดีดา และผู้เล่นอายุเกินอย่าง ริวัลโด, เบเบโต รวมถึง อัลดาเอียร์ และสามารถคว้าชัยชนะมาได้
ชัยชนะในวันนั้นถูกเรียกขานกันว่าเป็น ‘ปาฏิหาริย์แห่งไมอามี’ (สังเวียนที่แข่งในวันนั้น) และเป็นวันแจ้งเกิดอย่างไม่เป็นทางการของสตาร์อย่าง ฮิเดโตชิ นากาตะ
กลยุทธ์ในสมัยนั้นคือการตั้งรับเป็นหลัก ใช้การประกบผู้เล่นตัวต่อตัว อาศัยวินัยและความทุ่มเทในการเล่น ทำให้ทีมที่ผู้เล่นที่มีความสามารถจำกัดอย่างญี่ปุ่นสามารถล้มทีมรวมซูเปอร์สตาร์อย่างบราซิลลงได้
หลังจากนั้นนิชิโนะ เริ่มค้นพบสไตล์ใหม่ด้วยสไตล์ฟุตบอลเกมรุก บุกแหลก เล่นอย่างดุดัน ซึ่งสามารถนำทีมกัมบะ โอซาก้า คว้าแชมป์เจลีกในปี 2005 และแชมป์เอเอฟซี แชมเปี้ยนลีก ได้ในปี 2008 มีการเรียกกันว่าเป็นสไตล์ ‘บันไซ’ (Banzai)
มาถึงโอกาสในการได้คุมทีมชาติญี่ปุ่นในฟุตบอลโลกเมื่อปีกลาย ที่เขาต้องเข้ารับตำแหน่งอย่างกะทันหันแทนที่ของ วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช ที่ถูกปลดก่อนหน้าฟุตบอลโลกจะเริ่มแค่ 2 เดือน แต่นิชิโนะสามารถตีโจทย์ได้แตก
เขาดูออกว่าทีม ‘ซามูไร บลู’ ควรจะเล่นในแบบสไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ คือการเน้นเรื่องของความเร็ว ความคล่องตัว ความทุ่มเท และความอึด
ถึงจะอุ่นเครื่องไม่ดี (แพ้ 2 ชนะ 1) แต่เขาก็พาญี่ปุ่นไปได้ไกลถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย ก่อนจะพ่ายต่อทีมระดับเหนือกว่าอย่างเบลเยียม
สำหรับทีมชาติไทย ถึงจะมีเวลาในการทำงานไม่มากนัก แต่กุนซือจอมเก๋าวัย 64 ปี ก็สามารถแก้ปัญหาให้กับทีมได้อย่างรวดเร็วเหมือนกัน ด้วยการประเมินว่าไทยควรจะเล่นในแบบใกล้เคียงกับญี่ปุ่น คือเน้นเกมรุก เล่นเกมเร็ว ขยัน ทุ่มเท และสู้ไม่ถอย
เราได้เห็นสัญญาณเหล่านี้ตั้งแต่นัดแรกในเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับเวียดนาม ก่อนที่จะเริ่มค้นพบความลงตัวในเกมอุ่นเครื่องกับคองโก และล่าสุดกับฟอร์มยอดเยี่ยมด้วยการเอาชนะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้
อย่างไรก็ดี นิชิโนะเคยบอกว่าถึงเขาจะชื่นชอบสไตล์เกมรุก แต่ถ้าต้องเจอกับทีมที่แข็งแกร่งกว่าเขาก็พร้อมจะปรับสไตล์ให้เน้นความเหนียวแน่นขึ้นได้
ดังนั้น จะเล่นแบบไหนก็อยู่ที่โจทย์วันนั้นและจะทำได้ดีหรือไม่ก็อยู่ที่ว่าจะตีโจทย์ได้แตกไหม
2. ‘ทีมเวิร์ก’ คือสิ่งสำคัญที่สุด
“สิ่งที่ผมพยายามขอนักเตะ และทุกคนก็เริ่มปรับตัวได้ ทุกคนอาจจะไม่ได้มีเทคนิคสูง การจะยกระดับทีมได้ ทางเดียวคือทุกคนต้องช่วยกันและมีทีมเวิร์ก จะทำให้เราสามารถต่อกรกับทีมที่เก่งกว่าเราได้”
นี่คือสิ่งที่นิชิโนะพูดในระหว่างการแถลงข่าวหลังจบเกมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เขาให้คุณค่ามากที่สุดในการทำงาน
สิ่งนั้นคือทีมเวิร์ก
ย้อนกลับไปในฟุตบอลโลกอีกครั้ง นิชิโนะได้ปรับสไตล์การเล่นของญี่ปุ่นใหม่โดยลดความสำคัญของผู้เล่นในระดับสตาร์ลง ไม่ได้ให้อิสระนักเตะในแนวรุกมากเท่าที่วาฮิด ฮาลิลฮอดซิชให้ แต่กลับมาเน้นในเรื่องของการช่วยกันเล่น
“ผมไม่อยากจะโยนความกดดันให้กับใครคนใดคนหนึ่ง” นิชิโนะกล่าวไว้ในขณะนั้น
สำหรับทีมชาติไทย นิชิโนะไม่เคยให้ความสำคัญกับใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ แม้ว่าไทยจะมีสตาร์เด่นที่ไปค้าแข้งในเจลีกอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีราทร บุญมาทัน, ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ แต่ก็ไม่ได้แปลว่านักเตะเหล่านี้จะมีศักดิ์และสิทธิ์เหนือคนอื่น เช่นเดียวกับผู้เล่นที่เคยเป็นขาประจำหลายๆ คนก็ไม่ได้แปลว่าจะได้เป็นขาประจำตลอดไป
หากใครต้องการจะลงสนามก็ต้องพิสูจน์ตัวเองในการเล่นกับสโมสรอย่างสม่ำเสมอ และตั้งใจในการซ้อมกับทีมชาติ
นั่นทำให้ทีมชาติไทยในเวลานี้ช่วยกันเล่นทั้งทีม โดยเฉพาะเมื่อถึงเกมล่าสุดที่เราได้เห็นสไตล์ที่ชัดเจนในเรื่องของเกมเพรสซิ่งที่ขึ้นชื่อลือชาของกุนซือเลือดอาทิตย์อุทัย
ในเกมฟุตบอล การเล่นเพรสซิ่งเป็นแท็กติกที่อาศัยทีมเวิร์กมาก ทุกคนต้องช่วยกันวิ่ง ช่วยกันไล่ ต้องทำงานร่วมกันด้วยความรู้ใจ หากตรงไหนผิดเพี้ยนไปแม้แต่นิดเดียวแทนที่จะสามารถกดดันคู่แข่งได้ก็จะกลายเป็นการเปิดจุดอ่อนตัวเองให้เห็น
ดังนั้นไม่ว่าจะเด่นจะดังหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เมื่อลงสนามแล้วต้องวิ่ง วิ่ง และวิ่ง คิดไว้เสมอว่าทุกอย่างคือการทำเพื่อทีม
All For One, One for All
3. #Fearless
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดของทีมชาติไทยในยุคของนิชิโนะซังคือการแจ้งเกิดของเหล่าดาวรุ่งสายเลือดใหม่
โดยเฉพาะ 3 ประสานแนวรุกอายุน้อยที่เป็นเหมือนประกายความหวังใหม่ของวงการฟุตบอลไทยอย่าง ศศลักษณ์ ไหประโคน, สุภโชค สารชาติ และเอกนิษฐ์ ปัญญา ที่มีอายุ 23, 21 และ 19 ปีตามลำดับ
ไม่นับตัวสำรองบนม้านั่งอย่าง ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ที่มีอายุเพียงแค่ 17 ปีเท่านั้น
ปกติแล้วการจะให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งได้เป็นตัวหลักในทีมชาติชุดใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะมีความเชื่อกันว่านักฟุตบอลอายุน้อยกระดูกกระเดี้ยวทางเกมลูกหนังจะยังไม่แข็งแรงพอ และเสี่ยงต่อการที่จะผิดพลาดหรือล้มเหลว ซึ่งจะส่งผลต่อเรื่องของหน้าที่การงานของโค้ชด้วย
แต่สำหรับนิชิโนะ เขา ‘กล้า’ ที่จะเลือกนักเตะเหล่านี้ลงสนามเพราะเชื่อว่านักเตะดาวรุ่งเหล่านี้ดีพอ
เช่นกันการกล้าที่จะเลือก นิติพงษ์ เสลานนท์ ลงสนามในตำแหน่งแบ็กขวาแทนที่ตัวหลักเดิมอย่าง ทริสตอง โด และทำให้เกมริมเส้นทางฝั่งขวาของไทยอันตรายขึ้นผิดหูผิดตา เมื่อนิติพงษ์สามารถประสานการเล่นกับศศลักษณ์ได้เป็นอย่างดี
ความกล้าของเขายังถูกส่งผ่านถึงการเล่นของลูกทีมในสนามไปด้วย
ทุกคนที่ได้โอกาสลงเล่น เล่นอย่างกล้าหาญ ไม่มีกลัว ไม่มีเกรงคู่แข่ง เล่นกันแบบ #Fearless จริงๆ
ในเกมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีหลายๆ จังหวะที่แข้งช้างศึกเข้าบวกกับซูเปอร์สตาร์ระดับเอเชียอย่าง โอมาร์ อับดุลราห์มาน เพลย์เมกเกอร์ฟ้าประทานของทีมสิงห์ทะเลทรายแบบไม่มีกลัว ทั้งๆ ที่การพบกันในหลายครั้งก่อนหน้านี้ โอมาร์ หลอกนักเตะไทยจนหัวหมุนตลอด จนสุดท้าย เบิร์ต ฟาน มาร์ไวค์ ทนดูสภาพไม่ไหวสั่งเปลี่ยนตัวออกมา โดยที่โอมาร์สีหน้าเหยเกเพราะโดนไล่ตามตลอดทั้งเกมจนเล่นไม่ออก
4. การสื่อสารไร้พรมแดน
ปัญหาใหญ่ของโค้ชที่มาทำงานในไทย หรือใครก็ตามที่ไปทำงานต่างแดนคือเรื่องของกำแพงภาษา
รู้ว่าอยากทำอะไรแต่สื่อสารไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ หรือสื่อสารผิดๆ เพี้ยนๆ ไปก็กลายเป็นโทษได้เหมือนกัน
เรื่องพวกนี้เป็นปัญหาคลาสสิก แม้กระทั่งในยุคของ มิโลวาน ราเยวัช ที่การสื่อสารกันต้องพูดกันสามทอด ระหว่างราเยวัชกับทีมงานที่จะแปลภาษาเซอร์เบียเป็นอังกฤษ และจากภาษาอังกฤษแปลเป็นภาษาไทยอีกที
การต้องแปลต่อกันถึงสามทอด โอกาสที่การสื่อสารจะคลาดเคลื่อนเป็นไปได้เสมอ
แต่สำหรับนิชิโนะ ผมจับประโยคที่เขาพูดหลังเกมที่น่าสนใจได้ว่า
“ผมคิดว่าล่ามน่าจะทำให้นักเตะเข้าใจตัวผมมากขึ้น”
นั่นหมายถึงเขา ‘แคร์’ ในเรื่องของสารที่จะสื่อถึงลูกทีมทุกคนว่าเป็นไปอย่างที่เขาต้องการครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งผลลัพธ์ของการใส่ใจในเรื่องนี้คือการที่ลูกทีมเข้าใจในสิ่งที่เขาสอน (และเชื่อว่าเขาก็พร้อมฟังลูกทีมเหมือนกัน) สุดท้ายคือการที่ทุกคนเข้าใจตรงกันและทำให้ทุกอย่างนั้นออกมาดี บรรยากาศในทีมดูดี (ส่วนหนึ่งเพราะนิชิโนะเองก็เป็นคนที่มีอารมณ์ขันในตัวด้วย เพียงแต่จะจริงจังในการทำงาน)
การทลายกำแพงภาษาได้ยังช่วยให้ใจได้เชื่อมถึงใจจริงๆ ไม่ใช่แค่ปากถึงหู หรือแค่ตามองตาโดยที่ไม่รู้หรือไม่มั่นใจว่าอีกฝ่ายคิดอะไรกันแน่
แน่นอนว่าต้องยกความดีให้กับล่ามของนิชิโนะซังที่นอกจากภาษาจะเป๊ะแล้วยังมีความรู้ความเข้าใจในเกมฟุตบอลเป็นอย่างดี
แต่สุดท้ายก็ต้องให้เครดิตกับนิชิโนะซังด้วยที่ไม่มองข้ามรายละเอียดเล็กๆ เหล่านี้
5. ตั้งใจจริง
ท่ามกลางงานต่างๆ มากมาย แต่หนึ่งในเรื่องที่โค้ชทีมชาติจำเป็นต้องทำทุกคนคือการดูฟอร์มผู้เล่นด้วยตัวเอง
เหตุผลเพราะนั่นคือวิธีที่ดีที่สุดในการที่จะประเมินว่าผู้เล่นที่หมายตาไว้จะเข้ากับระบบการเล่นหรือไม่ และฟอร์มนั้นดีจริงหรือเปล่า ซึ่งโค้ชในทีมระดับโลกต่างก็ทำทั้งนั้นหากมีโอกาสและจังหวะที่เหมาะสม เหมือนที่เรามักจะได้เห็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษโผล่ไปดูฟอร์มนักเตะคนนั้นคนนี้เรื่อยๆ
สำหรับนิชิโนะ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่รับตำแหน่งโค้ชทีมชาติไทยชุดใหญ่ (และชุดอายุต่ำกว่า 23 ปี) จะตระเวนดูฟอร์มของผู้เล่นไปเรื่อยในทุกๆ สัปดาห์ ทำให้ได้รู้ได้เห็นจริงๆ ว่าใครเป็นอะไรอย่างไร
นอกจากนี้ยังส่งทีมงานไปดูฟอร์มคู่แข่งด้วย และบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด ส่งกลับมาให้เขา
งานพวกนี้เป็นงานหนัก ถ้าใครเคยได้เห็นบรรดาข้อมูลต่างๆ ที่มีการรวบรวมกันในเกมฟุตบอลสมัยใหม่จะรู้ว่ามันเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย เป็นเรื่องของ Big Data ที่เทคโนโลยีปัจจุบันช่วยรวบรวมสถิติต่างๆ ที่โค้ชควรรู้ (และบางทีไม่รู้ก็ได้) เอาไว้เต็มไปหมด
แค่คิดก็ปวดหัวแทนแล้ว แต่การเป็นโค้ชสมัยใหม่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจในการนำข้อมูลเหล่านี้มารวบรวมและสังเคราะห์ (โดยมีทีมงานกรองให้ระดับหนึ่ง) เพื่อใช้ประกอบการวางแผน รวมถึงตัดสินจากสิ่งที่ตัวเองได้เห็นกับตาด้วย
ถึงจะประสบการณ์สูง แต่นิชิโนะก็ยังทุ่มเทในการทำงานเกินร้อยเหมือนเดิม ตามสไตล์คนญี่ปุ่นที่จริงจังกับเรื่องงาน และการทำงานหนักของเขาก็ไม่ได้สร้างแค่ความประทับใจ แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนรอบข้าง
ไม่เฉพาะนักเตะ แต่ยังรวมถึงทีมงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการได้เห็น Role Model ที่ดีแบบนี้
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมประเมินจากการทำงานและเรื่องราวของเขาตลอดช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างมันยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนจะสวยงามสักหน่อยในเวลานี้ และเชื่อว่าจะมีช่วงเวลายากๆ ที่จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือของกุนซือชาวญี่ปุ่นอีกมากรออยู่ในอนาคต
แต่อย่างน้อยด้วยสไตล์การทำงานของเขา ด้วยปรัชญาการทำงานของเขา และความตั้งใจจริงของเขา
นิชิโนะได้จุดประกายที่เคยดับลงของทีมชาติไทย และจุดไฟใส่หัวใจของแฟนบอลไทยให้กลับมาลุกโชนสว่างไสว
ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ขอบคุณที่วันนี้ทำให้ฟุตบอลไทยกลับมามีความหวังอีกครั้ง
อาริกาโตะ โกไซมัส!
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า