×

จับตา ‘Contactless’ เทคโนโลยีชำระเงินแบบใหม่ที่จะถูกนำมาใช้กับระบบขนส่งมวลชนในไทย

14.10.2019
  • LOADING...
Contactless

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • การชำระเงินในระบบขนส่งมวลชนของไทยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้กำลังเป็น Pain Point ที่เหล่าผู้โดยสารต้องการแก้ไข สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือลดความยุ่งยากในการชำระเงิน
  • Contactless จึงกลายมาเป็นเทคโนโลยีชำระเงินแบบใหม่ที่กำลังถูกจับตา เพราะนี่เป็นวิธีที่สามารถแตะบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของตนเองชำระเงินได้เลย
  • THE STANDARD ร่วมบินลัดฟ้าสู่ประเทศสิงคโปร์กับ Visa เพื่อไปเห็นของจริง หลังจากที่เทคโนโลยี Contactless ถูกนำไปปรับใช้กับระบบขนส่งมวลชนที่นั่นเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะเห็นในเมืองไทยกับ MRT

นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก เมื่อผลสำรวจจาก Visa ออกมาว่าเกือบ 2 ใน 3 ของคนไทย หรือราว 64% ต้องการที่จะชำระเงินค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของตนเอง

 

ในขณะที่ 67% ของผู้ตอบแบบสอบถามในเรื่องทัศนคติและพฤติกรรมการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเทรนด์การใช้จ่ายสำคัญของผู้บริโภคกว่า 4,000 คน จาก 8 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 500 คน มีความต้องการที่จะใช้บัตร Contactless หรือการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในการชำระค่าโดยสาร 

 

เหตุผลหลักสำคัญคือกว่า 76% มองว่าจะช่วยลดการพกเงินสดเพื่อนำไปเติมมูลค่าในบัตรโดยสาร ในขณะที่ 63% มองจะช่วยลดจำนวนบัตรในกระเป๋าสตางค์ และ 56% เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการติดตามค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 

 

ในทางกลับกัน Pain Point สำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าเป็นข้อด้อยของระบบการชำระเงินในปัจจุบันคือ 53% การไม่สามารถชำระเงินได้หากมียอดเงินในบัตรไม่เพียงพอ, 43% การต้องเติมเงินในบัตรโดยสารอยู่เสมอ, 36% เมื่อบัตรสูญหาย เงินในบัตรไม่สามารถขอคืนได้ และ 35% ความยุ่งยากในการเตรียมเงินสดเพื่อเติมเงินในบัตรโดยสาร

 

Contactless

 

ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่าการชำระเงินในระบบขนส่งมวลชนในไทยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้กำลังเป็น Pain Point ที่เหล่าผู้โดยสารต้องการแก้ไข สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือลดความยุ่งยากในการชำระเงิน คนไม่ต้องการไปต่อคิวแลกเหรียญ และนำเหรียญไปต่อคิวซื้อตั๋วอีกครั้งหนึ่ง แต่ 45% ต้องการชำระผ่านบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตประเภท Contactless รองลงมา 22% ต้องการชำระแบบ Contactless ผ่านสมาร์ทโฟน และ 20% การชำระเงินแบบ Biometrics

 

เห็นได้ว่ากลุ่มผู้ถูกสำรวจกำลังสนใจเทคโนโลยีที่เรียกว่า Contactless เป็นอย่างมาก อธิบายง่ายๆ เทคโนโลยี Contactless หรือการชำระเงินแบบไร้สัมผัส ไม่จำเป็นที่จะต้องนำบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตไปรูดด้วยแถบแม่เหล็ก หรือกดรหัส PIN 6 หลักอย่างแต่ก่อน แค่แตะบัตรบนเครื่องชำระเงินในระยะห่างไม่เกิน 4 เซนติเมตรก็สามารถชำระเงินได้แล้ว 

 

ด้วยเหตุนี้ THE STANDARD จึงได้ร่วมบินลัดฟ้าสู่ประเทศสิงคโปร์กับ Visa เพื่อไปเห็นของจริง หลังจากที่เทคโนโลยี Contactless ถูกนำไปปรับใช้กับระบบขนส่งมวลชนที่นั่นเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญคือได้รับกระแสที่ดีเสียด้วย

 

คูนาล ชาเทอร์จี ผู้จัดการ Visa ประจำประเทศสิงคโปร์และบรูไน อธิบายว่าพฤติกรรมของคนสิงคโปร์ตั้งแต่ตื่นนอนนั้นจะอยู่กับสมาร์ทโฟนตลอดเวลาไม่ว่าจะไปไหนก็ตาม ส่งผลให้วิธีหลักในการชำระเงินของคนสิงคโปร์จึงใช้สมาร์ทโฟนเป็นหลัก กว่า 80% ชำระผ่าน e-Payment เหลือเพียง 20% ที่ชำระผ่านเงินสด 

 

 

Contactless

คูนาล ชาเทอร์จี ผู้จัดการ Visa ประจำประเทศสิงคโปร์และบรูไน

 

ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ผลักดันให้ e-Payment ขยายไปสู่ระบบขนส่งมวลชนด้วยเช่นกัน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา คนสิงคโปร์สามารถนำบัตรที่เป็น Contactless ไปใช้กับระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าใต้ดินใต้ทันที ซึ่งจากการทดลองใช้ด้วยตัวของ THE STANDARD พบว่าเป็นวิธีที่สะดวกสบายเลยทีเดียว ลดความยุ่งยากในการซื้อตั๋วผ่านตู้ขายอัตโนมัติที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ

 

“นับตั้งแต่เปิดตัว มีธุรกรรมที่เกิดจากการใช้บัตร Contactless 1 ล้านครั้ง ชี้ให้เห็นถึงความนิยมได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบัน 75% ของธุรกรรมในการชำระเงินทั่วไปมาจาก Contactless ซึ่งคนสิงคโปร์มีเฉลี่ยคนละ 5-7 ใบ”

 

สำหรับในบ้านเรา สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการ Visa ประจำประเทศไทย ระบุว่าที่ผ่านมา Visa ได้เข้าไปแนะนำและเตรียมพร้อมกับการนำ Contactless ไปใช้โดยเฉพาะกับรถไฟฟ้า ซึ่งสิ่งที่ต้องปรับมากที่สุดคือระบบหลังบ้านของผู้ให้บริการแต่ละรายที่ยังเป็นแบบ Closed-loop ใช้ในระบบของตัวเอง ต้องปรับเป็น Open-loop ซึ่งจะสามารถรองรับกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ได้ จึงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง

 

Contactless

สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการ Visa ประจำประเทศไทย

 

Visa เองได้มี Visa Global Transit Solution โครงข่ายการเดินทางระดับโลก ซึ่งในปัจจุบันได้มีการร่วมมือแล้วมากกว่า 120 หัวเมืองหลักทั่วโลกในการวางระบบการชำระเงินแบบเปิด (Open-loop Payment) สำหรับการขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามหานครขนาดใหญ่อย่าง ลอนดอน นิวยอร์ก สิงคโปร์ และซิดนีย์ ได้มีการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดในการชำระเงินค่าขนส่งสาธารณะมาเป็นการชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 

 

การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์กับผู้โดยสาร ในทางกลับกันยังเป็นประโยชน์ต่อให้ผู้บริการเช่นกัน โดยปัจจุบันต้นทุน 14% มาจากการต้องจัดการเงินสด ต่อไปหากใช้ e-Payment ต้นทุนจะลดลงเหลือ 4% เท่านั้น

 

“การใช้ Contactless ในระบบรถไฟฟ้าน่าจะได้เห็นเร็วๆ นี้ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเตรียมระบบ โดยต่อไปจะสามารถใช้บัตรที่มีสัญลักษณ์ Contactless มาแตะใช้ได้ทันที ไม่ต้องพกบัตรหลายใบ”

 

Contactless

 

สุริพงษ์เสริมว่า เมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ บัตรเครดิตและบัตรเดบิตทุกใบจะเป็นเทคโนโลยี Contactless ทั้งหมด ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ทุกบัตรที่ออกจากทุกธนาคารจะรองรับ Contactless เรียบร้อยแล้ว 

 

“ภารกิจหลักของ Visa ในไทยปีหน้าคือการให้ความรู้ทั้งผู้บริโภคและร้านค้าให้รู้จักกับ Contactless ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้จากสิงคโปร์ซึ่งเปิดใช้ไปก่อนแล้ว”

 

ล่าสุด ขสมก. ได้ออกมาเปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป สามารถชำระค่าโดยสารผ่านเครื่อง EDC ด้วยบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (ชำระค่าโดยสารเป็นรายเที่ยว), บัตรโดยสารล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว), บัตรนักเรียน-นักศึกษาอิเล็กทรอนิกส์, บัตรเดบิต-เครดิตที่มีสัญลักษณ์ Contactless ของทุกธนาคาร และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งสแกน QR Code เพื่อชำระค่าโดยสารผ่าน Mobile Banking ของทุกธนาคารโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

 

Contactless

 

ถือเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารแบบเราๆ ได้มากขึ้น ไม่ต้องมาคอยนับเหรียญ แตะบัตรครั้งเดียวจบ! 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X