วันที่ (9 ตุลาคม) ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยกรณีที่มีกระแสเรียกร้องในวงกว้างให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า
ตนเห็นด้วยที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และได้สั่งการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเร่งหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือ รัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร ผู้บริโภคเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวภายใน 60 วัน ขณะที่รัฐมนตรี 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้มีท่าทีชัดเจนในการคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งการเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวยังแสดงถึงการตื่นตัวของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่ช่วยกันติดตามและนำเสนอประเด็นนโยบายของรัฐอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง
ประกายรัตน์กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบที่ 31/2562 เรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกาย อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิผู้บริโภค กรณีคัดค้านการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอตของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งการตรวจสอบของ กสม. ได้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านพิษวิทยาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ปริมาณสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตร รวมถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
พร้อมกันนี้ กสม. ได้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้ดำเนินมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
ประกายรัตน์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. ที่มีถึง 3 หน่วยงานมีดังนี้ 1. คณะกรรมการวัตถุอันตราย ควรกำหนดให้พาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายปี 2535 มาตรา 18 โดยห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง 2. กระทรวงเกษตรฯ ควรแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดในระยะยาว ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาทางเลือกด้านสารชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรอย่างเป็นระบบและจริงจัง และ 3. คณะรัฐมนตรีควรจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมสารเคมีทางการเกษตร เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยพิจารณาจากร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาสังคม-สาธารณสุข
“กสม. ยังรอคอยความหวังว่า ทั้งสามหน่วยงานจะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม. อย่างครบถ้วน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการใช้พาราควอต รวมทั้งสารเคมีการเกษตรตัวอื่นๆ ในภาคการเกษตรที่มีอันตรายสูงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เช่น คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต เป็นไปอย่างเป็นระบบและยั่งยืนในทุกมิติตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 55 ได้บัญญัติให้รัฐต้องดูแลและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี อันสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 12 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้ ดังนั้น รัฐไทยจึงควรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 วรรคสอง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง” ประกายรัตน์ ระบุ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์