×

เมื่อเด็กๆ คือความหวังของโลกใบนี้ พูดคุยเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และวิธีช่วยโลกในแบบ Circular Way กับน้องลิลลี่และน้องภูมิ [Advertorial]

01.10.2019
  • LOADING...
SCG Circular Way

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • พูดคุยและรับแรงบันดาลใจจากเด็กๆ ผู้เป็นอนาคตและความหวังของโลกอย่าง น้องลิลลี่-ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร อายุ 12 ปี นักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ผู้เขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เพิ่มวิชา Eco Education เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรทุกระดับชั้น และ น้องภูมิ-ด.ช.ภูมิ ตันศิริมาศ อายุ 11 ปี จากเฟซบุ๊กเพจ Bhoomplay ที่บอกเล่าเรื่องราวและทิปส์ในการจัดการทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดจากครอบครัวหัวใจรักษ์โลก 
  • น้องลิลลี่เชื่อว่า “เงินไม่สามารถซื้อโลกให้กลับมาเหมือนเดิมได้ เราต้องมองโลกเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้” เธอไม่อยากจะให้ทุกคนคิดว่าการรีไซเคิลเพียงอย่างเดียวคือทางออก แต่คือการใช้ซ้ำ ลดการใช้ และรีไซเคิล ไปพร้อมๆ กัน ส่วนน้องภูมิบอกว่า “โลกกำลังจะตายและมีทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยได้ ผมอยากให้เราทุกคนพยายาม แม้สุดท้ายมันอาจไม่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างหมดสิ้น แต่การที่ทุกคนร่วมมือกันอย่างน้อยเราก็มีโอกาสช่วยเหลือโลกได้”

จากข่าวคราวสถานการณ์วิกฤตด้านทรัพยากร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ทำให้ผู้คนทั่วโลกในปัจจุบันต่างเริ่มตระหนักถึงปัญหาด้านนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง แต่อาจยังไม่มากพอ ที่น่าสนใจก็คือ ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญ เช่น ที่รู้จักไปทั่วโลกเลยก็คือ เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 16 ปี ผู้สร้างกระแส #FridaysForFuture ในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ไปทั่วโลก 

 

สอดคล้องกับภาพยนตร์รณรงค์ล่าสุดจาก SCG ที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์ ที่ได้หยิบยกเอาปัญหาของโลกเราขณะนี้มาขยายให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น โดยในเรื่องมีเด็กที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นต่อไปในอนาคตมาช่วยกระตุกความคิดให้ทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญของ SCG Circular Way ซึ่ง SCG ต้องการที่จะสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อน โดยร่วมสร้างพฤติกรรมการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด

 

และในวันนี้ THE STANDARD เราก็มีเด็กรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก มาพูดคุยถึงมุมมองความคิด มาแชร์ให้ทุกคนได้ตระหนักกัน เด็กๆ ที่เป็นอนาคตและความหวังของโลกอย่าง น้องลิลลี่-ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร อายุ 12 ปี นักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ผู้เขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เพิ่มวิชา Eco Education เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรทุกระดับชั้น และยังเป็นผู้ได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อม Yunus & Youth Ambassador 2019 ส่วนอีกคนหนึ่งคือ น้องภูมิ-ด.ช.ภูมิ ตันศิริมาศ อายุ 11 ปี จากเฟซบุ๊กเพจ Bhoomplay ที่บอกเล่าเรื่องราวและทิปส์ในการจัดการทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดของครอบครัวหัวใจรักษ์โลก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของผู้คนมากมาย 

 

THE STANDARD อยากจะบอกจริงๆ ว่า จากการพูดคุยกับน้องๆ ทั้ง 2 คนนี้ ทำให้เรารู้สึกทึ่งมาก ที่เด็กๆ อายุเพียงเท่านี้กลับมีความตระหนักและเข้าใจถึงเรื่องการจัดการทรัพยากรและปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เราอดนึกตั้งคำถามถึงวิถีที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ไม่ได้ และน้องๆ ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เราหันมาใส่ใจเรื่องเหล่านี้กันมากขึ้นไม่น้อย ถ้าอยากจะรู้กันแล้วว่าน้องๆ ทั้งสองคนพูดว่าอะไรกันบ้าง มาติดตามไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า

 

Q: ก่อนอื่นเรามาถามน้องลิลลี่และน้องภูมิกันก่อนดีกว่าว่า อะไรที่จุดประกายให้น้องๆ หันมาสนใจเรื่องการจัดการทรัพยากรและปัญหาสิ่งแวดล้อม 

ลิลลี่: ครอบครัวของลิลลี่สอนเสมอว่า ทุกสิ่งรอบตัวเรามีความรู้สึก ต้นไม้ก็มีความรู้สึก ปลาที่ต้องกินพลาสติกเข้าไปตลอดเวลาก็มีความรู้สึกเหมือนกัน และถ้าเราลองคิดดู เราเองก็ไม่ต้องการเป็นแบบนั้น แต่เราเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวบนโลกที่ทำร้ายสัตว์อย่างไม่ใส่ใจ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ลิลลี่จึงพยายามที่จะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ค่ะ 

 

ภูมิ: ผมเริ่มเห็นผลกระทบของขยะที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ตอนเห็นวิดีโอใน TED Talks วิดีโอนั้นทำให้ผมได้รู้ว่า โลกของเรากำลังผลิตขยะมากมายขนาดไหน และแม้ว่าผมจะแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่อย่างน้อยตัวผมและครอบครัวของผมก็พยายามที่จะช่วยกันลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้มากเท่าที่จะทำได้ครับ 

 

Q: อยากรู้ว่า เพื่อนๆ ที่อายุเท่ากันกับน้องๆ ทั้ง 2 คน มีความตระหนักในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนกันหรือเปล่า 

ลิลลี่: เพื่อนๆ ของลิลลี่สนับสนุนเรื่องนี้ค่ะ พวกเขาพยายามช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมากเท่าที่พวกเขาจะทำได้ อย่างตอนที่มีกิจกรรมรณรงค์ พวกเขาก็มาช่วย ทุกคนอยากช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน 

 

ภูมิ: น่าเสียดายที่เพื่อนของผมดูไม่ค่อยสนใจเรื่องภาวะโลกร้อนหรือสิ่งแวดล้อมกันสักเท่าไรครับ พวกเขาไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ ทั้งที่มันเกิดขึ้นอยู่จริงๆ แต่ถึงพวกเขาจะเชื่อ พวกเขาก็รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องไกลตัว เพื่อนของผมเลยไม่ค่อยตระหนักถึงเรื่องภาวะโลกร้อนกัน

 

SCG Circular Way

น้องภูมิ-ด.ช.ภูมิ ตันศิริมาศ 

 

Q: ในชีวิตประจำวันน้องๆ ใช้ชีวิตอย่างไรบ้างที่ช่วยแบ่งเบาปัญหานี้

ภูมิ: มีสิ่งที่ผมทำในชีวิตประจำวันจริงๆ คือ เมื่อผมเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อขนมหรือขนมปังมากินเป็นอาหารเช้า ผมจะบอกพนักงานเสมอว่า ไม่รับถุงพลาสติก หรือตอนไปตลาดผมก็จะพกขวดน้ำไปเอง เพื่อไม่ต้องซื้อน้ำในขวดพลาสติกเวลาหิวน้ำ และผมก็นำภาชนะของตัวเองไปใส่อาหาร เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้พลาสติก มันเป็นสิ่งเล็กน้อยที่ผมพอจะทำได้ 

 

ลิลลี่: ลิลลี่คิดว่า ความจริงแล้วมีหลายสิ่งที่เราสามารถทำในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นได้นะคะ เช่น ตอนเช้าที่ใช้แปรงสีฟันตามปกติ ก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นแปรงสีฟันที่ทำจากไม้ หรือจะใช้ยาสีฟันแบบเม็ดแทนแบบหลอดก็ได้ หรือตอนออกไปกินข้าวข้างนอก ก็สามารถพกหลอดโลหะไปใช้ซ้ำได้ เราต้องทำให้เป็นนิสัยในการพกภาชนะไปเอง แม้ในความเป็นจริงแล้วมันอาจจะไม่สะดวกสบายเท่าไร แต่ก็ยังดีกว่าการทำร้ายโลก ซึ่งนี่คือจุดยืนของลิลลี่ 

 

Q: ทุกวันนี้เราได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมกันบ่อย รู้สึกต่อเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง 

ภูมิ: ผมไม่อยากให้โลกมีอนาคตที่เลวร้าย ตอนเด็กๆ ผมเคยจินตนาการถึงโลกในอนาคตว่าต้องน่าเหลือเชื่อมากๆ แต่ตอนนี้สิ่งที่เกิดกับโลกดูเหมือนจะไม่ใช่อย่างที่ผมเคยคิดเอาไว้เลย ถ้าพวกเรายังใช้ทรัพยากรแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ต่อไปแบบนี้ และไม่เริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง ต่อไปโลกจะเต็มไปด้วยขยะ และเราก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมแย่ๆ ซึ่งผมไม่อยากให้โลกเป็นแบบนั้น ผมเลยกังวลมาก

 

ลิลลี่: ลิลลี่ก็กังวลมากเหมือนกัน บางทีลิลลี่ก็คิดนะว่า ตัวเองควรวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ แทนการออกมารณรงค์เรื่องนี้ มันอาจดูไม่ยุติธรรมกับเด็กๆ สักเท่าไร ที่ต้องคอยกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นและเริ่มเลวร้ายขึ้นทุกวัน อย่างเรื่องข่าวไฟไหม้ป่าแอมะซอนที่เป็นปอดของโลก มันน่ากลัวมากจริงๆ ซึ่งไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลยจนกระทั่งผ่านไป 1 สัปดาห์ เหตุการณ์นี้บอกเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกได้ดีมากว่ากำลังมีปัญหาหนัก 

 

และลิลลี่อยากจะเสริมอีกว่า สาเหตุที่ลิลลี่กับภูมิต้องทำแบบนี้ก็เพราะผู้ใหญ่ไม่ให้ความสนใจปัญหานี้กันมากพอ อย่างที่โรงเรียนก็ไม่มีการสอนเรื่องภาวะโลกร้อน ผลกระทบที่เกิด หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมเลย ลิลลี่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองจากเว็บไซต์ TED Talks หรือยูทูบ มันทำให้ลิลลี่รู้สึกว่า เราต้องมีความรับผิดชอบและลงมือทำอะไรสักอย่าง เราทุกคนต้องลงมือทำอะไรสักอย่างที่แสดงความรับผิดชอบต่อโลก

 

SCG Circular Way

น้องลิลลี่-ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร

 

Q: ทราบมาว่า ลิลลี่เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง แล้วน้องภูมิล่ะ มีส่วนร่วมในการรณรงค์อย่างไรบ้าง

ภูมิ: ผมไม่ค่อยได้ออกไปเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเท่าไร แต่ผมก็มีวิธีของผมเอง ในการช่วยรณรงค์เรื่องนี้ ผมทำโปรเจกต์ชื่อ ‘Mission To Green’ ซึ่งผมเชิญชวนคนอื่นๆ ที่ติดตามเพจครอบครัวของผมอยู่ให้ลองลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไปด้วยกัน โดยที่ครอบครัวของผมสร้างชาร์ตเล็กๆ ขึ้นมา เพื่อใช้บันทึกว่าช่วยลดพลาสติกไปได้กี่ชิ้นในแต่ละวัน อย่างเช่น เมื่อคุณไปร้านสะดวกซื้อและไม่รับถุงพลาสติก ก็จดลงไปว่าวันนี้ลดพลาสติกไป 1 ชิ้น หรือตอนไปร้านอาหารแล้วคุณพกกล่องอาหารไปเองแทนการใช้ภาชนะโฟม ก็จดว่าวันนี้ลดโฟมไปได้ 1 ชิ้น แล้วพอมาดูว่าวันนี้ลดได้มากเท่านี้ มันจะเป็นกำลังใจให้พรุ่งนี้คุณอยากลดให้มากขึ้น หรือถ้าวันนี้ลดได้น้อย พรุ่งนี้ก็ค่อยพยายามใหม่

 

ลิลลี่: ลิลลี่คิดว่า เราควรทำแบบนี้ให้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำ และสิ่งที่น้องภูมิทำก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ชวนให้คนอื่นมาร่วมลดการใช้พลาสติกในแบบของตัวเอง 

 

Q: SCG มีนโยบายสนับสนุนให้ทุกคนหันมาร่วมกันหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด อยากรู้ว่าน้องๆ รู้จักสิ่งนี้มากแค่ไหน SCG Circular Way ตามความเข้าใจของน้องภูมิและลิลลี่คืออะไร

ลิลลี่: SCG Circular Way เป็นแนวทางปฏิบัติตามแนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เป็นทางออกหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นการให้ความสำคัญกับการลดการใช้ทรัพยากร ใช้ซ้ำ และนำกลับมาหมุนเวียนใช้ให้คุ้มค่ากันมากขึ้น แต่ละขั้นตอนต้องทำให้เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน เราจะลดการใช้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องทำทีละขั้น เพื่อให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นและได้ผลจริง  

 

ภูมิ: สำหรับผม เศรษฐกิจหมุนเวียนมีหลายขั้นตอนกระบวนการ และเกิดขึ้นอย่างเป็นวงจร อย่างแรกคือ การสร้างวัสดุที่มีความยั่งยืนที่ใช้งานได้นาน นอกจากนั้นก็ซ่อมง่ายด้วย ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญในขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องคำนึงถึงการใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ ต่อไปก็คือ เมื่อซื้ออะไรสักอย่าง แล้ววันหนึ่งไม่ใช้งานแล้ว ก็สามารถส่งกลับไปต้นทางเพื่อการรีไซเคิล ทำให้วัสดุนั้นกลายเป็นสิ่งใหม่ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง 

 

ลิลลี่: ความจริงก็คือ การรีไซเคิลไม่ใช่ทางออกเดียวของปัญหา ยกตัวอย่างที่มีพลาสติกเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการรีไซเคิลจริงๆ และนั่นเป็นจำนวนที่น้อยมาก การพูดว่า การรีไซเคิลสามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้นั้น ไม่จริงเลย เราต้องช่วยกันลดการสร้างขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง ไม่เช่นนั้นมันก็เหมือนการที่บ้านของคุณน้ำท่วม แล้วคุณพยายามตักน้ำออกแทนการปิดก๊อกน้ำ พวกเราต้องลงมือควบคุมการทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ตอนนี้

 

Q: คิดอย่างไรเกี่ยวกับการตระหนักรู้ของคนไทยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

ภูมิ: ตอนแรกผมว่ามันไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าไร แต่หลังๆ มานี้ผมสัมผัสได้ว่า มีคนที่เริ่มเห็นปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่มากขึ้น อย่างร้านค้าหลายแห่งก็เริ่มมีแคมเปญไม่รับถุงพลาสติก หากเป็นสมาชิกก็ได้คะแนนเพิ่มด้วย ผมคิดว่า คนไทยมีความตื่นรู้กันมากขึ้น

 

ลิลลี่: สำหรับเรื่องแคมเปญพวกนี้ ลิลลี่คิดว่า การได้คะแนนเพิ่มเป็นรางวัลหากไม่รับถุงพลาสติก อาจไม่สำคัญเท่าคุณลดการใช้ถุงพลาสติกหรือเปล่า เพราะสำหรับบางคนเขาไม่สนใจเรื่องคะแนน และเขาก็ไม่เห็นความสำคัญของการเลิกใช้ เพราะถุงพลาสติกทำให้เขาสะดวกสบาย แต่ถ้าเราทำให้คนไม่ต้องการถุงพลาสติก ด้วยการคิดราคาถุงพลาสติกเพิ่ม นั่นอาจเป็นความคิดที่ดีกว่า เพราะถ้าคุณเลิกการให้ถุงพลาสติกไปเลยโดยที่คนยังมีความต้องการอยู่ พวกเขาก็จะหาทางใช้มันอีกจนได้ แล้ววงจรนี้ก็จะไม่มีวันจบ แต่ถ้าเราทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องใช้พวกมันได้ การใช้ก็จะลดลง และเราก็จะเลิกใช้ได้สำเร็จ แต่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา เพราะว่าหลายองค์กรไม่ต้องการทำแบบนี้ หากอีกองค์กรหนึ่งไม่ยอมทำเหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจ แม้พวกเขาจะอยากช่วยโลก แต่พวกเขาก็ไม่อยากเสียผลประโยชน์

 

ภูมิ: ผมเห็นด้วยกับลิลลี่นะ เพราะเคยเห็นร้านขายสินค้ากีฬาร้านหนึ่งที่ขายถุง (กระเป๋า) เขาไม่แจกถุงพลาสติก แต่ขายมันแทน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ทำให้ร้านค้าอื่นๆ เริ่มรับรู้ว่า โลกกำลังมีปัญหานะ และพวกเขาก็พยายามช่วยกันแก้ปัญหาเหมือนกัน

 

SCG Circular Way

ถ้าเด็กๆ ทำได้ พวกเราก็ทำได้เช่นกัน 

 

Q: เมื่อไม่นานมานี้ลิลลี่ได้ขึ้นพูดที่งาน SD Symposium 2019 : 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ ที่จัดโดย SCG ด้วย เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าพูดว่าอย่างไรบ้าง

ลิลลี่: เงินไม่สามารถซื้อโลกให้กลับมาเหมือนเดิมได้ เราต้องมองโลกเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ ลองคิดดูสิคะ ทุกสิ่งที่เราทำบนโลกใบนี้ล้วนทำเพื่อเงิน และกลายเป็นว่ามันทำร้ายโลก เช่น เราตัดต้นไม้เพื่อนำมาทำเป็นกระดาษขาย เราสร้างพลาสติกขึ้นมาเพื่อความสะดวกสบายและทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่าย ลิลลี่
บอกเลยว่า เราใช้เงินซื้อโลกคืนไม่ได้อย่างแน่นอน และลิลลี่รู้สึกว่าผู้ใหญ่พูดกันเยอะมากว่าพวกเราจะทำอย่างไรกับโลกใบนี้ดี โลกใบนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น แต่พวกเขาไม่ลงมือทำอะไรเลย พวกผู้ใหญ่ควรหยุดพูดและลงมือทำกันได้แล้ว ลิลลี่ไม่อยากเห็นอนาคตที่เลวร้าย นี่คือสาเหตุที่ลิลลี่มาอยู่ตรงนี้แทนการไปวิ่งเล่น หรือน้องภูมิก็ควรนั่งทำการบ้านอยู่ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้พวกเราต้องออกมาทำให้ผู้คนรับรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันไม่ยุติธรรมกับเด็กอย่างพวกเราเลยที่ต้องมาคอยกังวลกับปัญหานี้ พวกเรามีความคิดในหัวตลอดเวลาว่า จะเป็นอย่างไรถ้าเราไม่มีบ้านให้อยู่อีกแล้ว รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วย พวกมันไม่รู้เรื่องเลย และไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งความจริงก็คือ พวกเรากำลังฆ่ามันอยู่

 

ภูมิ: รวมถึงฆ่าพวกเรากันเองด้วย 

 

Q: เชื่อกันไหมว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนคือทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือมีอะไรที่อยากแนะนำกับคนที่อยากแก้ไขปัญหาหรือมีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวนี้ น้องๆ อยากพูดอะไรกับพวกเขา

ภูมิ: โลกกำลังจะตาย และมีทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยได้ ผมอยากให้เราทุกคนพยายาม แม้สุดท้ายมันอาจไม่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างหมดสิ้น แต่การที่ทุกคนร่วมมือกัน อย่างน้อยเราก็มีโอกาสช่วยเหลือโลกได้

 

ลิลลี่: เราจะต้องทำอะไรสักอย่าง ลิลลี่ไม่อยากให้ทุกคนคิดว่า การรีไซเคิลเพียงอย่างเดียวคือทางออก แต่คือการใช้ซ้ำ ลดการใช้ และรีไซเคิล ไปพร้อมๆ กัน จึงจะได้ผล ถ้าพวกเรามัวแต่โยนทุกอย่างไปที่ขั้นตอนรีไซเคิล ปัญหานี้ก็จะไม่หมดสิ้น เหมือนที่ลิลลี่บอกว่า ถ้าบ้านของคุณน้ำท่วม และคุณเพียงตักน้ำออกแทนการปิดก๊อก มันก็ไม่ช่วยอะไร พวกเราต้องควบคุมตั้งแต่ต้นทาง พวกเราต้องช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้

 

SCG Circular Way – โลกหมุนด้วยมือเรา

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI

Circular Economy Tips สไตล์น้องลิลลี่และน้องภูมิ

  • ภูมิ: สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ที่จริงแล้วมันง่ายมากๆ อย่างที่บ้านของผมเราแยกขยะ อย่างเช่น กระดาษ ลัง แบตเตอรี่ เศษอาหาร เราจะไม่รวมขยะเปียกกับขยะแห้ง
  • ลิลลี่: ใช้ตระกร้า ปิ่นโต แยกขยะ ล้างขยะ ภายในบ้าน ล้างถุงพลาสติกแล้วตากให้แห้ง เอามาแบ่งเป็นกอง การทำแบบนี้ทำให้วัสดุนำไปรีไซเคิลต่อได้ อย่างกล่องน้ำผลไม้ก็เอาไปทำ Ecobricks มันเป็นเหมือนเกม ลิลลี่คิดว่า ถ้าเราทำสิ่งพวกนี้ให้ถูกต้อง เด็กๆ อาจจะอยากลองทำก็ได้

 

SCG Circular Way 

  • SCG นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way ที่ส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การผลิต การใช้ และวนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ โดยขับเคลื่อนผ่านแนวทางการดำเนินธุรกิจ และสื่อสารกับทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันสร้างความร่วมมือให้เกิดการลงมือทำจริง    
  • ร่วมเรียนรู้และค้นหาวิธีปฏิบัติตามวิถี SCG Circular Way เพื่อช่วยโลกของเราไปด้วยกัน คลิก
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X