สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่มี ส.ส. พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก จะเริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทว่าครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีความสัมพันธ์ที่อื้อฉาวระหว่างทรัมป์กับรัสเซียที่นำไปสู่ปมการแทรกแซงการเลือกตั้งในปี 2016 แต่เป็นเรื่องใหม่จากข้อกล่าวหาที่ว่า ทรัมป์พยายามดึงรัฐบาลต่างชาติมาช่วยทำลายคู่แข่งทางการเมืองก่อนถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020
THE STANDARD ได้รวบรวมคำถามและคำตอบที่ต้องรู้เกี่ยวกับประเด็นการเมืองของสหรัฐฯ ที่กำลังร้อนฉ่า และอยู่ในความสนใจของทั่วโลกขณะนี้
เกิดอะไรขึ้น
รายงานเผยว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ติดต่อประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เพื่อขอให้เขาสืบสวนข้อกล่าวหาคอร์รัปชันที่เกี่ยวพันกับ ฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายของ โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลของบารัก โอบามา
แหล่งข่าวภายในรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านั้นทรัมป์ได้สั่งการให้ มิก มัลเวนีย์ ผู้รักษาการตำแหน่งเสนาธิการทำเนียบขาว ระงับการส่งเงินช่วยเหลือด้านการทหารจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ให้กับยูเครน โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหน้าทรัมป์ต่อสายถึงเซเลนสกีราว 1 สัปดาห์
กรณีดังกล่าวถูกครหาเป็นวงกว้างว่าทรัมป์กำลังกดดันผู้นำยูเครนให้ทำตามข้อเรียกร้อง ด้วยการนำเงินช่วยเหลือมาเป็นเครื่องต่อรอง เพื่อยืมมือรัฐบาลต่างชาติมาช่วยทำลายคู่แข่งทางการเมือง โดย โจ ไบเดน ถือเป็นหนึ่งในผู้สมัครตัวเต็งจากพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020
กรณีอื้อฉาวดังกล่าวทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดบันทึกการสนทนาระหว่างทรัมป์กับเซเลนสกี รวมถึงผู้นำคนอื่นๆ ขณะที่ แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ประกาศเปิดการไต่สวนอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และทรัมป์จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำลงไป
ท่าทีของทรัมป์
ทรัมป์ยืนยันว่าได้พูดคุยเรื่อง โจ ไบเดน และ ฮันเตอร์ กับประธานาธิบดียูเครนจริง แต่ยืนยันว่าไม่ได้ทำเรื่องที่ไม่เหมาะสม ส่วนการระงับเงินช่วยเหลือนั้น เป็นเพราะเขาต้องการกดดันให้ยุโรปให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครนมากขึ้น
นอกจากนี้เขายังตำหนิการยื่นถอดถอนของสภาล่างครั้งนี้ว่าเป็นการล่าแม่มด
ส่วน สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า การที่บุตรชายของไบเดนทำธุรกิจไปทั่วโลกในระหว่างที่พ่อของเขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยโอบามานั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม มนูชินถูกสื่อตอกกลับว่า บุตรหลายคนของทรัมป์ก็ทำธุรกิจหรือทำงานในต่างประเทศในขณะที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเช่นกัน
ถอดถอนได้จริงหรือไม่
ในบทบัญญัติมาตรา 2 หมวด 4 รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระบุไว้ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ หากมีความผิดฐานกบฏต่อชาติ ติดสินบน หรือก่ออาชญากรรมร้ายแรง หรือความผิดทางอาญาประเภทลหุโทษอื่นๆ
สำหรับการถอดถอนทรัมป์ในสภาคองเกรสครั้งนี้ อาจพิจารณาจากความผิดที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมร้ายแรง หรือความผิดทางอาญาอื่นๆ ประกอบด้วยการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากตำแหน่งประธานาธิบดี ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ไปจนถึงการพูดเท็จต่อชาวอเมริกัน
ส่วนกระบวนการถอดถอนจะไม่เหมือนกับการดำเนินคดีในชั้นศาล เพราะจะดำเนินการในสภาคองเกรสเท่านั้น โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะทำหน้าที่เหมือนอัยการหรือโจทก์ ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุน ส่วนประธานศาลสูงสุดจะนั่งเป็นประธาน
มีใครเคยถูกถอดถอนหรือไม่
ในอดีตเคยมีกรณีการยื่นถอดถอนประธานาธิบดีมาแล้ว 2 ครั้ง คือสมัยประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ปี 1868 และบิล คลินตัน ปี 1998 แต่ยังไม่มีใครเคยถูกถอดถอนสำเร็จในขั้นตอนการโหวตที่วุฒิสภา
ส่วนกรณีของ ริชาร์ด นิกสัน กับคดีอื้อฉาว ‘วอเตอร์เกต’ นั้น เขาได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะมีการโหวตในสภาคองเกรส
ใครเป็นคนตรวจสอบ
การสืบสวนข้อกล่าวหาต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องรวม 6 ชุด ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการฝ่ายตุลาการ, ฝ่ายการข่าวกรอง, ฝ่ายพิจารณาวิธีการจัดหารายได้, ฝ่ายการเงิน, ฝ่ายสอบสวน และฝ่ายการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีการรวบรวมหลักฐานต่างๆ รวมถึงข้อมูลการทำธุรกิจของทรัมป์ในอดีตด้วย
หากเดโมแครตต้องการเดินหน้าถอดถอนทรัมป์ คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาล่างจะต้องยื่นรายงานที่ชี้มูลความผิดอันนำไปสู่การถอดถอนได้ต่อ เจอร์รี แนดเลอร์ ประธานฝ่ายตุลาการของสภาผู้แทนราษฎร หลังผ่านความเห็นชอบจากแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
จากนั้นจะมีการลงมติรับรองกันภายใน ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบ ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรเต็มคณะต่อไป โดยขั้นตอนนี้ใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา หรือ 218 เสียงจากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 435 ที่นั่ง
แต่ถึงแม้สภาล่างอาจโหวตถอดถอนทรัมป์ได้สำเร็จ แต่คาดว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบในวุฒิสภาที่มี ส.ว. รีพับลิกันครองเสียงข้างมาก โดยขั้นตอนนี้ต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 จึงจะถอดถอนสำเร็จ ซึ่งหมายความว่าเดโมแครตต้องการเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 67 เสียง แต่ปัจจุบันรีพับลิกันมี ส.ว. จำนวน 53 ที่นั่ง ขณะที่เดโมแครตมี 45 ที่นั่ง ต่อให้รวมกับ ส.ว. อิสระอีก 2 เสียงที่ส่วนใหญ่โหวตให้เดโมแครต ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี
ใช้เวลาถอดถอนนานเท่าใด
ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่ชัด มีความเป็นไปได้ว่าอาจยืดเยื้อหลายเดือน หรือใช้เวลาไม่นาน โดยในอดีตกระบวนการพิจารณาถอดถอนคลินตันในสภาคองเกรสจากกรณีความสัมพันธ์อื้อฉาวระหว่างคลินตันกับโมนิกา ลูวินสกี ใช้เวลาเพียง 3-4 เดือน
หากทรัมป์ถูกถอดถอน ใครทำหน้าที่ต่อ
ถ้าท้ายที่สุดแล้ว ทรัมป์ถูกถอดถอนจริง ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทนคือ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2021
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/us-news/2019/sep/24/impeachment-how-does-it-work-and-what-happens-next-trump
- edition.cnn.com/politics/live-news/trump-ukraine-09-24-2019/index.html
- www.businessinsider.com/mnuchin-grilled-double-standards-hunter-biden-work-abroad-jared-ivanka-2019-9
- www.bbc.com/news/world-us-canada-49814927
- www.washingtonpost.com/politics/2019/09/25/what-you-need-know-about-impeachment-inquiry-into-trump/