เกิดอะไรขึ้น:
ในที่สุดแล้วการควบรวมระหว่าง บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) และ บมจ.ธนาคารธนชาต (TBANK) ก็ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 ธนาคาร ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นวานนี้ (23 กันยายน) โดยในส่วนของ TMB ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ TBANK เป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งการระดมทุนจะมาจาก
- การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ด้วยการออกใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิ์ได้ (TSR) มูลค่า 4.25 หมื่นล้านบาท
- การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด มูลค่า 6.4 พันล้านบาท
- การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของ TBANK มูลค่า 5.76 หมื่นล้านบาท
โดยวันนี้ (24 กันยายน) TMB ได้ประกาศราคาใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนตาม TSR ที่ราคา 1.40 บาทต่อหุ้น อัตราส่วนการจัดสรร TSR คือ 1.444533 หุ้นเดิม ต่อ TSR 1 หน่วย พร้อมขึ้นเครื่องหมาย XT วันที่ 26 กันยายนนี้ ทั้งนี้หากผู้ถือหุ้นไม่มาใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจนครบ กระทรวงการคลังมีความประสงค์จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนส่วนที่เหลือเองทั้งหมด
ขณะที่ทางด้าน TBANK ที่มี บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TBANK 50.96% จะทำการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดย TBANK จะขายหุ้นในบริษัทย่อยที่ถืออยู่ให้กับ TCAP จากนั้น TMB จะเสนอซื้อหุ้นสามัญของ TBANK จากผู้ถือหุ้นของ TBANK ทุกราย โดยจะชำระค่าหุ้นเป็นเงินสด และ TCAP จะเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ TMB รวมถึงเข้าซื้อส่วนที่ TMB จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TBANK เพื่อให้ TCAP เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TBANK ต่อไปในภายหลัง
ทั้งนี้ในส่วนของโครงสร้างธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ที่จะใช้ชื่อว่า ‘ธนาคารทหารไทยธนชาต’ (TMB-THANACHART BANK) โดยภายหลังการควบรวมเสร็จสิ้น TCAP จะถือหุ้นราว 21% ในธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ และจะมีสภาพคล่องส่วนเกินจากการขายหุ้น TBANK มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดย TCAP จะนำเงินส่วนนี้มาจ่ายปันผลพิเศษราว 5 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 4 บาทต่อหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 5,000 ล้านบาท จะใช้ในการซื้อหุ้นคืน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้
กระทบอย่างไร:
ช่วงเช้าวันนี้ราคาหุ้น TMB ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1.75 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 1.71 บาท หรือ 2.4 %DoD ส่วนราคาหุ้น TCAP ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 56.75 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 56.25 หรือ 0.89%DoD โดยราคาหุ้นของทั้งบริษัทไม่ได้ตอบรับในเชิงบวกมากนักเนื่องจากข่าวที่ออกมาเป็นเพียงความคืบหน้าของการควบรวมกิจการซึ่งนักลงทุนรับทราบข้อมูลนี้กันไปในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว
มุมมองระยะสั้น:
SCBS ประเมินว่าในระยะแรก TCAP จะได้ประโยชน์จากสภาพคล่องส่วนเกินในระดับสูง ขณะที่ TMB ถึงแม้จะมีการเพิ่มทุน แต่ผลกระทบของ Dilution Effect อาจไม่มาก เนื่องจากมีการใช้แหล่งเงินทุนส่วนหนึ่งจากการกู้ยืม และกำไรจาก TBANK มีจำนวนมากพอจะชดเชย Dilution Effect จากการเพิ่มทุนได้บ้าง
มุมมองระยะยาว:
SCBS ประเมินว่า การควบรวมกันของธนาคารทั้งสองแห่งเพื่อก่อให้เกิด Synergy ท่ามกลางภาวะ Disruption ในธุรกิจการเงิน ซึ่งธนาคารใหม่จะมีความสามารถในการทำกำไรที่ยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว เพราะเป็นการรวมจุดแข็งของทั้ง 2 ธนาคาร คือ สินเชื่อเช่าซื้อของ TBANK และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อเอสเอ็มอี ของ TMB โดย SCBS คาดว่าธนาคารทหารไทยธนชาตจะมีส่วนแบ่งตลาด 13% (อันดับ 1) ในการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ, ส่วนแบ่งตลาด 13% (อันดับ 4) ในการให้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และส่วนแบ่งตลาด 6.5% (อันดับ 5) ในการให้บริการสินเชื่อเอสเอ็มอี
ข้อมูลพื้นฐาน:
บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบแก่ลูกค้า 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย โดยมีกลุ่มไอเอ็นจี สถาบันการเงินของประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นพันธมิตรทางธุรกิจและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกับกระทรวงการคลัง
บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ซึ่งบริษัทในกลุ่มธนชาตแบ่งประเภทการประกอบธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม 1. ธุรกิจทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกัน ธุรกิจให้เช่าซื้อ และธุรกิจลิสซิ่ง 2. ธุรกิจสนับสนุน ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจโบรกเกอร์ ธุรกิจบริการ และธุรกิจการพัฒนาฝึกอบรม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า