เกิดอะไรขึ้น:
วันนี้ (23 กันยายน) มาตรการ ‘ชิม ช้อป ใช้’ เริ่มเปิดลงทะเบียนวันแรกผ่านเว็บไซต์ www.ชิมช้อปใช้.com สำหรับผู้มีบัตรประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยจำกัดจำนวนวันละ 1 ล้านคน ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนอย่างคึกคักและครบจำนวนไปเมื่อเวลา 13.44 น. สำหรับผู้ที่ไม่ทันหรือยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ในวันถัดไปจนกว่าจะครบจำนวน 10 ล้านคน หรือภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ โดยผู้ที่ได้รับ SMS ยืนยันแล้วจะได้รับเงินผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’ โดยเงิน 1,000 บาทจะต้องนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการ (ค่าอาหาร, เครื่องดื่ม, OTOP, ค่าที่พัก, ร้านธงฟ้า) ในร้านที่ร่วมโครงการในจังหวัดใดก็ได้ที่ลงทะเบียนไว้ และต้องไม่ใช่จังหวัดเดียวกันกับในบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านภายใน 14 วัน โดยใช้ได้ระหว่างวันที่ 27 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2562
นอกจากนี้ยังสามารถเติมเงินและใช้จ่ายผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’ ไม่เกิน 30,000 บาท เพื่อรับเงินคืนสูงสุดจากรัฐ 15% โดยใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดตามทะเบียนบ้าน โดยระยะเวลาใช้จ่ายเงินวันที่ 27 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งมาตรการนี้คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินใช้จ่ายสะพัดไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
กระทบอย่างไร:
วันนี้ในช่วงครึ่งเช้า หุ้นที่คาดได้รับประโยชน์จากมาตรการ ‘ชิม ช้อป ใช้’ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นและมีปริมาณการซื้อขายหนาแน่น
นำโดย ERW ราคาช่วงเช้าสูงสุดที่ 5.75 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 5.50 บาท หรือ 3.6%
CENTEL ราคาช่วงเช้าสูงสุดที่ 32.00 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 31.25 บาท หรือ 1.6%, MINT ราคาช่วงเช้าสูงสุดที่ 37.25 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 37.00 บาท หรือ 0.68%
ขณะที่หุ้นกลุ่มค้าปลีกยังไม่ตอบสนองเชิงบวกมากนัก โดย BJC และ CPALL ราคาช่วงเช้าเปิดเท่ากับราคาปิดวันก่อนหน้า
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองมาตรการชิมช้อปใช้เป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนในระยะสั้น เนื่องจากจำกัดเฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทย และเป็นการท่องเที่ยวเฉพาะในประเทศ และมีระยะเวลาที่จำกัดเพียง 14 วัน หากไม่ใช้จ่ายเงินภายในเวลาที่กำหนดจะไม่สามารถใช้ได้อีก โดยประเมินว่านอกจากหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรมและการให้บริการอย่าง CENTEL, MINT, ERW, SPA จะได้เซนทิเมนท์เชิงบวกจากบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศที่น่าจะกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่ปกติจะเป็น High Season แล้ว หุ้นกลุ่มค้าปลีกอย่าง BJC, CPN, CPALL, TNP, ROBINS ยังเป็นอีกกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากกำลังซื้อหรือเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
มุมมองระยะยาว:
ติดตามการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวอื่นๆ ของภาครัฐเพื่อช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว ซึ่งจะดีกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงแค่ระยะสั้นๆ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อปัจจัยภายนอกที่ยังน่ากังวล เช่น สงครามการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์