บรรดาสื่อและประชาชนทั่วโลกต่างจับตามองถึงวาระการประชุมที่จะถูกหยิบยกมาปรึกษาหารือกันในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ครั้งที่ 72 ณ มหานครนิวยอร์กในปีนี้ ซึ่งมีผู้นำจาก 193 ประเทศสมาชิก และสองประเทศผู้สังเกตการณ์อย่างนครรัฐวาติกันและรัฐปาเลสไตน์ ที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมในปีนี้ด้วย
การเสนอให้มีการปฏิรูปสหประชาชาติ
นี่เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำของสหรัฐฯ เดินทางเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 2017 ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ผู้นำประเทศอันดับต้นๆ ของโลกคนนี้น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมในที่ประชุมได้ไม่น้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้ทรัมป์ทวีตข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสหประชาชาติว่า “เป็นองค์กรที่ (เคย) มีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้กลับเป็นเพียงคลับที่ผู้คนต่างมาพบเจอและร่วมพูดคุยกันเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากเมื่อศตวรรษก่อนๆ”
ทั้งนี้ทรัมป์จึงใช้โอกาสนี้เสนอให้มีการปฏิรูปสหประชาชาติเสียใหม่ โดยให้เหตุผลว่า UN ในปัจจุบันทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และไม่คุ้มค่ากับเงินสนับสนุนและงบประมาณที่องค์กรได้รับ โดยสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนรายใหญ่ที่สุดของ UN และมีผู้นำและตัวแทนกว่า 128 ประเทศที่เห็นด้วยกับความคิดนี้ ซึ่งประเทศไทยคือหนึ่งในนั้น ขณะที่สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงอย่างรัสเซีย จีน ฝรั่งเศส และประเทศสมาชิกกว่า 70 ประเทศมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของทรัมป์ โดยเฉพาะรัสเซีย ที่มองว่าการปฏิรูป UN ที่ทรัมป์เสนอถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเปิดพื้นที่ให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไม่ใช่โน้มตามเพียงเพราะประเทศที่เสนอเป็นสหรัฐฯ
การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือและข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน
ประเด็นร้อนและประเด็นใหญ่ที่จะไม่ถูกพูดถึงไม่ได้เลยในการประชุมครั้งนี้คือการร่วมกันหาทางออกให้แก่วิกฤตการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีที่ความตึงเครียดปะทุขึ้นเป็นระยะๆ เนื่องจากการเดินหน้าทดสอบและพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างเต็บสูบ ซึ่งในปีนี้กองทัพโสมแดงทดสอบขีปนาวุธไปแล้วถึง 16 ครั้ง ทั้งนี้การดำเนินมาตรการป้องปรามของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรที่ร่วมกันซ้อมรบและปฏิบัติการทางทหารร่วมกัน รวมถึงการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ก่อน ยิ่งทำให้อุณหภูมิภายในภูมิภาคนี้ร้อนระอุมากยิ่งขึ้น
ทรัมป์กล่าวต่อที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา (19 ก.ย.) ถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ในฐานะประเทศมหาอำนาจของโลกต่อประเด็นในคาบสมุทรเกาหลีว่า “หากเกาหลีเหนือกดดันและบีบบังคับให้สหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกอื่น สหรัฐฯ เองก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องทำลายล้างเกาหลีเหนือให้ราบคาบ”
นอกจากนี้ทรัมป์ยังกล่าวโจมตีอิหร่านที่ทำตัวเป็น ‘รัฐอันธพาล’ ที่มุ่งแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในตะวันออกกลาง และเรียกร้องให้อิหร่านยุติการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง พร้อมทั้งกล่าวประณามว่าความพยายามที่จะดำเนินข้อตกลงเพื่อยุติการพัฒนาและเผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา คือความล้มเหลวครั้งสำคัญของสหรัฐฯ คำพูดดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากบรรดาผู้นำและตัวแทนประเทศที่เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้พวกเขายังเรียกร้องให้สหรัฐฯ เลือกใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
ภาวะโลกร้อนและข้อตกลงปารีส
ภายหลังจากที่ทรัมป์ตัดสินใจนำสหรัฐฯ (ประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน) ออกจากการเป็นสมาชิกภาคีของข้อตกลงปารีส ทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลต่อแนวทางการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ จะถอนตัวไป แต่บรรดาผู้นำประเทศที่ลงนามอีกเกือบ 200 ประเทศ โดยเฉพาะผู้นำแคนาดา จีน รวมถึงสหภาพยุโรป ที่พยายามผลักดันให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและค้นหาผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน
โดยเกือบทุกประเทศต่างแสดงความพร้อมที่พยายามจะก้าวไปสู่เป้าหมายของข้อตกลงปารีส ที่ทุกประเทศสมาชิกจะช่วยกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 โดยทุกประเทศยังเตรียมกำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของตัวเอง และหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น โดยสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาตินี้มีกำหนดการจะหารือในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนอีกครั้งในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (United Nations Conference on Climate Change: COP23) ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน โดยเมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ
วิกฤตการณ์ชาวโรฮีนจา
และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ บรรดาผู้นำ และตัวแทนประเทศสมาชิกต่างให้ความสำคัญคือ ประเด็นการกวาดล้างชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของเมียนมาที่ปะทุขึ้นอย่างหนักเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งสหประชาชาติมองว่าเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ต่างอะไรกับการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ
ขณะนี้มีชาวโรฮีนจาอพยพลี้ภัยไปยังบังกลาเทศเกือบ 5 แสนคนแล้ว โดยผู้นำคนสำคัญของเมียนมาอย่างนางออง ซาน ซูจี ที่ยกเลิกการเดินทางเข้าร่วมประชุมใหญ่ในครั้งนี้ได้ออกมาเคลื่อนไหวและแสดงจุดยืนของตนต่อวิกฤตการณ์ชาวโรฮีนจาภายในประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (19 ก.ย.) หลังได้รับแรงกดดันและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประชาคมโลก ทั้งนี้นางออง ซาน ซูจี ยืนยันว่า “จะเร่งฟื้นฟูสันติภาพ ความมั่นคง และหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศอีกครั้งโดยเร็ว”
นอกจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติแล้ว พระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขสูงสุดของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ก็ได้แสดงความกังวลต่อวิกฤตการณ์เรื้อรังที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมในเมียนมา และมีกำหนดเดินทางเยือนเมียนมาในวันที่ 27-30 พฤศจิกายนนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำสูงสุดของศาสนาคริสต์เดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ
ดูเหมือนว่าที่ประชุมใหญ่ของสหประชาชาติครั้งนี้จะเต็มไปด้วยเรื่องตึงเครียดที่ทั่วโลกต้องร่วมกันหาทางออก คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าผลลัพธ์จากการพบปะกันครั้งนี้ของผู้นำทั่วโลก 193 ประเทศจะสามารถสร้างสันติภาพและทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้นได้จริงหรือไม่
อ้างอิง:
- www.un.org/en/ga/
- sdg.iisd.org/events/72nd-session-of-the-un-general-assembly-unga-72/
- www.rt.com/news/403734-trump-un-reform-russia/
- mobile.nytimes.com/2017/09/17/world/americas/united-nations-general-assembly-issues.html?referer=https%3A%2F%2Fwww.google.co.th%2F
- tass.com/politics/966200
- medium.com/we-the-peoples/things-to-look-out-for-during-the-un-general-assembly-debate-787116ab93b8