วันนี้ (20 กันยายน 2562) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกรมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำปลายน้ำ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำท้นตลิ่ง ซึ่งเป็นสาธารณภัยที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ และยังสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ทั้งด้านโครงสร้างทางวิศวกรรม และระบบเศรษฐกิจในพื้นที่
โดยสภาวิศวกรในฐานะสภาวิชาชีพด้านวิศวกรรมของประเทศไทย ได้นำข้อเท็จจริงในสองพื้นที่มาวิเคราะห์โดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเทคนิคด้านวิศวกรรมหลายสาขามาประยุกต์ใช้ โดยมีเป้าหมายในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน รวมถึงตกผลึกเป็นข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นซ้ำซากในช่วงฤดูน้ำหลากของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์พื้นที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำของไทย พบว่าแนวทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม คือ การทำแก้มลิงและระบบท่อใต้ดินที่มีประสิทธิภาพ โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วย ‘แก้มลิง’ คือการปรับพื้นที่แอ่ง บึง ทะเลสาบขนาดเล็ก ให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำเมื่อฝนตกหนัก ซึ่งสภาวิศวกรมั่นใจว่าแนวทางนี้ สามารถใช้ได้ในทุกพื้นที่
แต่สำหรับพื้นที่ชุมชนเมืองที่อัดแน่นด้วยสิ่งปลูกสร้างและที่อยู่อาศัย ซึ่งมีข้อกำจัดในการใช้พื้นที่ทำแก้มลิง ต้องใช้ ‘ระบบท่อใต้ดิน’ และวางเครือข่ายไว้ใต้ดินเพื่อระบายน้ำ เช่น ใต้ถนน สวนสาธารณะ ซึ่งการวางระบบท่อสามารถทำได้ง่าย เพราะไม่เสียพื้นที่ และสิ้นเปลืองงบประมาณน้อย เพราะไม่ต้องเวนคืน
“สำหรับประเทศไทย มีหลายลุ่มน้ำที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ซึ่งนอกจากการลงทุนทำแก้มลิงและระบบท่อใต้ดิน จะช่วยลดผลกระทบให้กับชุมชนในฤดูน้ำหลาก และช่วยรับมือกับฝนที่ตกไม่เป็นไปตามฤดูกาลแล้ว ในพื้นที่ใกล้เคียงยังสามารถนำน้ำจากแก้มลิงไปช่วยเรื่องชลประทาน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและช่วยพื้นที่เกษตรกรรมให้มีน้ำใช้ทั้งปีได้อีกด้วย
“โดยทั้ง 2 ระบบ คือ ‘แก้มลิง’ และ ‘ระบบท่อใต้ดิน’ จะทำงานเชื่อมโยงกัน เมื่อน้ำในแม่น้ำสูงเกินมาตรฐานก็ระบายไปตามระบบท่อใต้ดิน และระบายสู่แก้มลิง โดยใช้วิธีการสูบน้ำด้วยระบบอัตโนมัติ ด้วยเซนเซอร์ที่แม่นยำ รองรับสมาร์ทซิตี้ เพราะจะช่วยลดปัญหาความผิดพลาดจากมนุษย์ และช่วยให้ชาวบ้านไม่ได้รับความเดือดร้อน” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
นอกจากนี้ พื้นที่ลุ่มต่ำปลายน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นระบบชลประทานทางธรรมชาติที่เปรียบเสมือนหลอดเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ก่อนจะระบายออกสู่ทะเลอ่าวไทย โดยมีต้นน้ำจากแม่น้ำสำคัญ 4 สายในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน ก่อนจะมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีหลายจุดที่มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนกันยายนที่จะมีฝนตกชุกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณดังกล่าว
ซึ่งสภาวิศวกรได้ ‘จัดโซนนิ่ง’ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท้นตลิ่ง ได้แก่ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งยังคงมีหลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต และพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน
ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ สภาวิศวกร กล่าวว่า ประเทศไทยควรมีแนวทางการจัดการภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ประสบอุทกภัย ที่มีมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันปัญหาที่มากับอุทกภัย คือแนวทางการบริหารจัดการไฟฟ้า อาทิ การตัดไฟในพื้นที่น้ำท่วมสูง เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาไฟรั่ว ไฟช็อต ซึ่งเป็นอันตรายต่อชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงแนวทางการบริหารเทคโนโลยีการสื่อสาร
ถึงแม้ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณ จะเพิ่มมาตรการป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมก็ตาม แต่ในข้อเท็จจริงยังพบว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตในหลายจุดมีปัญหา กระทบต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และในพื้นที่น้ำท่วมสูง มักถูกตัดไฟเป็นเวลานาน จนกระทบต่อการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ทำให้ขาดการติดต่อจากโลกภายนอก โดยมีแนวป้องกัน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเตือนภัย และการแจ้งข่าวสารที่ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านสามารถประเมินความเสี่ยง ขนย้ายสิ่งของ และอพยพออกจากพื้นที่ได้ทันเวลา
ทางด้าน รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติและความปลอดภัยสาธารณะ สภาวิศวกร และที่ปรึกษาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาบริเวณริมแม่น้ำมูล และริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประสบปัญหาน้ำท้นตลิ่งในฤดูน้ำหลากซ้ำซากทุกปี และฝนที่ตกหนักยังส่งผลทำให้สิ่งปลูกสร้างที่มีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง และไม่ได้รับการติดตาม ซ่อมแซม ตามอายุการใช้งาน อาจได้รับผลกระทบ เช่น หลังคารั่ว ฝ้าเพดานถล่ม รวมถึงอันตรายจากลมแรง ที่อาจทำให้หลังคา แผ่นป้ายขนาดใหญ่ แผงบังแดด รางน้ำฝน เกิดความเสียหาย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน
ดังนั้น ต้องหมั่นตรวจสอบความแข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งต้องมีระบบการพยากรณ์อากาศต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและแม่นยำ จะช่วยลดความสูญเสียลงได้ โดยสภาวิศวกร เตรียมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเสียหาย พร้อมแนะนำแนวทางในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทุกภัย จังหวัดอุบลราชธานี หลังน้ำลด เน้นการฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐาน และหาแนวทางการบูรณะซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกระน้ำแสที่กัดเซาะและจมอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด
สำหรับปัญหาอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ฝนไม่ตกตอนต้นฤดู และตกหนักสะสมในช่วงปลายฤดู ซึ่งฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องและไม่กระจายตัว กระทบ 4 จังหวัดในลุ่มแม่น้ำชี ได้แก่ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด และขอนแก่น ก่อนระบายออกสู่แม่น้ำมูลบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ ก่อนจะระบายออกสู่แม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้ทั้ง 25 อำเภอ ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยเกือบ 1 เดือนแล้ว นับเป็นเหตุอุทกภัยใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี
ทั้งนี้ เฉพาะฤดูฝนของปีนี้ จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 32 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัด ซึ่งมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 407,069 ครัวเรือน โดยทีมสภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เตรียมพร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังน้ำลดทันที
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์