โลกกำลังเดินหน้าสู่จุดอันตราย เมื่อทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซียต่างก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนและจริงจังที่จะถอนตัวออกจากการเป็นภาคีสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง หรือสนธิสัญญา INF
ในแง่ของการเมืองนั้นคงจะมีการเดินหน้าเจรจาต่อรองกันอีกหลายครั้ง
แต่ในแง่วิทยาศาสตร์ มีคำถามที่น่าสนใจว่าสภาพอากาศโลกจะเป็นเช่นไรตามแบบจำลองล่าสุด หากประเทศมหาอำนาจทั้งสองสาดอาวุธนิวเคลียร์ใส่กันจนหมดคลังแสง และผลกระทบต่อไทยจะเป็นเช่นไร
เมื่อ 12 ปีก่อน มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เกิดความกังวลและอยากรู้เกี่ยวกับปัญหานี้ จึงได้ป้อนข้อมูลต่างๆ ลงในแบบจำลองสภาพอากาศทางคอมพิวเตอร์เพื่อให้ทราบถึงผลบั้นปลายของสงครามนิวเคลียร์ และล่าสุดปีนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์สและมหาวิทยาลัยโคโลราโด วิทยาเขตโบลเดอร์ของสหรัฐฯ ก็ได้ใช้แบบจำลองสภาพอากาศเวอร์ชันล่าสุดที่ทันสมัยกว่าเดิมวิเคราะห์ปัญหาเดียวกัน ผลปรากฏว่าเหตุการณ์หลังการสาดนิวเคลียร์ใส่กันของประเทศมหาอำนาจจะส่งผลต่อสภาพอากาศทั่วโลกแทบไม่ต่างกันทั้งสองแบบจำลอง
แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ล่าสุดมีชื่อว่า Community Earth System Model-Whole Atmosphere Community Climate Model – Version 4 ให้คำตอบว่าหลังบ้านเมืองและชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลในสองประเทศมหาอำนาจจะถูกทำลายล้างด้วยแรงระเบิดแล้ว กัมมันตรังสีที่แผ่กระจายไปทั่วรวมทั้งหมอกควันหนาทึบก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาว ก่อให้เกิดสภาวะที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘ฤดูหนาวนิวเคลียร์’ (Nuclear Winter) ซึ่งส่งผลกว้างไกลไปทั่วโลก รวมไปถึงประเทศที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามด้วย
หมอกควันหนาทึบปริมาณกว่า 150 ล้านตันจะลอยขึ้นไปถึงบริเวณบนสุดของชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ และก่อตัวสูงเลยขึ้นไปถึงส่วนล่างของชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ บดบังแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่ไม่ให้ส่องลงมาถึงพื้นผิวโลก
อุณหภูมิทั่วโลกจะลดลงโดยเฉลี่ย 9 องศาเซลเซียสในช่วง 12 เดือนแรก โดยหมอกควันหนาทึบจากนิวเคลียร์นี้จะปกคลุมทั่วท้องฟ้าของซีกโลกเหนือภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะขยายตัวปกคลุมไปทั่วโลกในเวลา 2 สัปดาห์ต่อมา ในภาวะการณ์เช่นนี้ หากพิจารณาเฉพาะฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ อุณหภูมิในประเทศต่างๆ จะลดลงถึง 20 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิปกติเลยทีเดียว
ความชื้นในอากาศทั่วโลกจะลดลงทันทีถึง 30% ภายในช่วงไม่กี่เดือนแรก และจะลดต่ำลงอีกเรื่อยๆ ไปอีกยาวนานหลายปี จนสุดท้ายระดับความชื้นที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้ฝนจะลดลงถึง 58%
โลกใบนี้จะมืดสลัว ไม่มีแสงแดดสีส้มให้เห็นอีกต่อไปเป็นเวลานาน ช่วงเวลาและทิศทางการพัดของกระแสลมในทวีปต่างจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ไม่มีลมมรสุมที่จะพัดในช่วงเวลาเดิมของทุกปี ภาคการเกษตรทั่วโลกจะเสียหายย่อยยับ แน่นอนว่าประเทศไทยเราก็ไม่รอดจากภัยร้ายนี้
ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นจากฤดูหนาวนิวเคลียร์จะนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนักและยาวนาน โดยเฉพาะประเทศที่ผลิตอาหารเองได้ยากอย่างกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง
ส่วนของไทยเราอาจดีหน่อยที่มีส่วนที่เป็นพื้นดินมากกว่า มีความชื้นสะสมตัวอยู่มากกว่า แต่ในที่สุดเมื่อผ่านไปหลายปี ผลบั้นปลายจากความแห้งแล้งก็แทบไม่ต่างกัน แม้จะมีใครมีความสามารถที่จะกักตุนอาหารไว้บริโภคถึง 5-6 ปี ก็ไม่รอดจากความอดอยากไปได้เมื่อถึงท้ายที่สุด
ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีกว่าที่หมอกควันหนาทึบจากฤดูหนาวนิวเคลียร์จะสลายตัวไปจนหมดจากโลกใบนี้ จนแสงอาทิตย์กลับมาส่องสว่างดังเดิม เพียงแต่มีข่าวดีเล็กน้อยว่าม่านหมอกบนชั้นบรรยากาศจะค่อยๆ จางลง โดยแสงอาทิตย์จะสามารถส่องลงมาถึงผิวโลกได้ราว 40% ในช่วงเวลากลางวันเมื่อผ่านเวลาไปแล้ว 3 ปี ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นคนที่ยังเหลือรอดก็ต้องหาทางปลูกพืชที่ต้องการแสงแดดต่ำให้เติบโตขึ้นมาจนให้ผลผลิตเป็นอาหารให้ได้
ทั้งนี้เรายังไม่พูดถึงเรื่องอื่น เช่น แหล่งน้ำดื่ม และระดับความหนาวเย็นที่จะก่อปัญหากับการใช้เชื้อเพลิงจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างความอบอุ่น ในเวลานี้พลังงานทั่วโลกกลายเป็นของหายาก
ทั้งหมดนี้คือฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิด และก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่สองประเทศมหาอำนาจจะหมดสิ้นหนทางและตกลงกันไม่ได้จนกดปุ่มยิงนิวเคลียร์ใส่กัน ยกเว้นว่าเป็นอุบัติเหตุจริงๆ หรือเป็นการแฮกระบบสื่อสารหรือระบบควบคุมอาวุธที่ผิดพลาด ก็ขอให้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในแบบจำลองคอมพิวเตอร์ก็พอ อย่าได้เกิดขึ้นในชีวิตจริงเลย และหนทางเดียวในทางการเมืองคือต้องดึงคู่เจรจากลับเข้าสู่สนธิสัญญาจำกัดอาวุธให้ได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: