หลังจากท่ีประสบปัญหาปะการังฟอกขาวและดาวมงกุฎหนามกัดกินแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเกรตแบร์ริเออร์รีฟแล้ว ล่าสุด ท่าเรือจำนวนมากในเขตร้อนทางเหนือของประเทศออสเตรเลียตามแนวปะการัง เตรียมติดตั้งระบบตรวจจับและเตือนล่วงหน้า เพื่อรับมือกับสิ่งมีชีวิตทะเลต่างถิ่นที่แปลกปลอมและเป็นภัยต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลของออสเตรเลีย
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 ก.ย.) สกอต สจ๊วด สมาชิกรัฐสภารัฐควีนส์แลนด์ ตัวแทนจากเมืองทาวน์สวิลล์ ระบุว่า การติดตั้งอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูงดังกล่าวจำเป็นต่อการปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเล โดยเครื่องตรวจจับนี้จะถูกติดตั้งอยู่ใต้ทะเลนานประมาณ 2 เดือน เพื่อสร้างพื้นที่ผิวน้ำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลสามารถเข้ามาอาศัยและเติบโตได้
“เราจำเป็นต้องทำให้น่านน้ำของเราปลอดสิ่งมีชีวิตทะเลต่างถิ่น ขณะที่ท่าเรือที่มีการสัญจรไปมาเหล่านี้เป็นเส้นทางที่สำคัญที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะเข้ามา ความร่วมมือนี้แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานการท่าของเรากำลังร่วมมือกันรับผิดชอบต่อความปลอดภัยทางชีวภาพทางทะเลอย่างจริงจัง”
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 2 เดือน จะมีการกู้แผ่นตรวจจับขึ้นมา เพื่อนำไปตรวจสอบในห้องทดลองว่ามีสิ่งมีชีวิตทะเลต่างถิ่นอยู่หรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินมาตรการปกป้องสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นของออสเตรเลียเพิ่มเติม
โดย มาร์ก เฟอร์เนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและประมง เผยว่า “หากสิ่งมีชีวิตทะเลต่างถิ่นเริ่มเข้ามาอาศัย พวกมันจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล รวมถึงอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประมง ท่าเรือ ท่าเทียบเรือ และการท่องเที่ยว ดังนั้น หากมีสัญญาณใดๆ บ่งบอกว่า มีสิ่งมีชีวิตทะเลต่างถิ่นอาศัยอยู่ นั่นจะเป็นสัญญาณเตือนแรกๆ ให้พวกเรารีบแก้ปัญหาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ภาพ: MagSpace / Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: