×

Thailand Plus Package ยากระตุ้นการลงทุนไทยหวังผลได้แค่ไหน

โดย THE STANDARD TEAM
13.09.2019
  • LOADING...
Thailand Plus Package

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองว่า มาตรการ Thailand Plus Package ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติจะส่งผลดี และสร้าง Sentiment เศรษฐกิจไทยในเชิงบวก โดยจะเห็นผลลัพธ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 และจะส่งผลบวกชัดเจนขึ้นช่วงปี 2563 ใน 2 ด้านคือ การลงทุนของเอกชน การส่งออกและนำเข้า
  • แม้ว่ามาตรการนี้น่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนเอกชนได้จริง แต่ยังมีข้อเสียบางส่วน อย่างมาตรการการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ประเทศไทยอาจจะเสียประโยชน์
  • อุตสาหกรรมที่น่าจะได้ประโยชน์ และเร่งใช้มาตรการนี้ได้เร็วที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมที่พร้อมลงทุน และมีแผนการลงทุนสูง เช่น กลุ่มปิโตรเคมี ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

หลายปีมานี้เศรษฐกิจไทยอาศัยบุญเก่าทำให้ GDP ยังเติบโตมากกว่า 3% แต่ต้นปี 2562 นี้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณโตชะลอตัว และทั้งปีนี้อาจไม่ถึงเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ จึงเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งฐานราก อย่างการเติมเงินให้บัตรคนจน ล่าสุด ครม. เคาะมาตรการกระตุ้นการลงทุนเอกชนมาแล้ว แต่จะเวิร์กหรือไม่ 

 

THE STANDARD สรุปผลกระทบ Thailand Plus Package ต่อประเทศไทยแบบกระชับมาแล้ว

 

ครม. เศรษฐกิจ เคาะแพ็กเกจ Thailand Plus ตามที่ BOI เสนอ กระตุ้นและเร่งรัดการลงทุน 7 ด้าน

 

นักวิเคราะห์หวัง Thailand Plus Package ดันลงทุนเอกชน-ส่งออกนำเข้าโตเห็นผล Q4/62

ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า มาตรการกระตุ้น Thailand Plus Package ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อ 10 ส.ค. คาดว่าจะส่งผลดี และสร้าง Sentiment เศรษฐกิจไทยในเชิงบวก โดยจะเห็นผลลัพธ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 และจะส่งผลบวกชัดเจนขึ้นช่วงปี 2563 ใน 2 ด้านคือ การลงทุนของเอกชน การส่งออกและนำเข้า

 

1. การลงทุนของเอกชน โดยมาตรการทั้ง 7 ข้อ น่าจะกระตุ้นภาคเอกชนในประเทศทั้งรายเก่า-รายใหม่ และนักลงทุนต่างชาติที่อาจหนีผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน (Trade War) มาเร่งการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทั่วไทย รวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเร่งการลงทุนเครื่องจักร และการพัฒนาอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ 

 

ทั้งนี้คาดว่าจะเห็นผลลัพธ์ผ่านยอดการขอ BOI ปี 2562 มีโอกาสแตะเป้าหมายที่ระดับ 750,000 ล้านบาท เพราะทุกไตรมาส 4 เป็นช่วงที่การขอ BOI จะเพิ่มขึ้นสูง โดยครึ่งปีแรก 2562 ยอดการขอ BOI อยู่ที่ 233,000 ล้านบาท หรือประมาณ 31% ของเป้าหมายทั้งหมด 

 

2. ภาคส่งออกและนำเข้า – ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้การส่งออกติดลบ 1.9% เพราะได้รับผลกระทบจาก Trade War ดังนั้นหนึ่งในมาตรการ Thailand Plus Package ที่เร่งฟื้นข้อตกลงการค้า FTA (ไทย-EU) และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) หากไทยเร่งให้สำเร็จจะส่งผลดีถึง 2 ด้าน ได้แก่ 

 

1) เพิ่มโอกาสส่งออกของไทยใน CPTPP (11 ประเทศ) เช่น ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม (ปัจจุบันไทยส่งออกไปประเทศ CPTPP ราว 30% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย) และหากการเจรจา FTA (ไทย-EU) สำเร็จ จะทำให้ไทยส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันไทยส่งออกไปยุโรปเป็นอันดับ 3 หรือราว 9.45%  

 

2) ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากประเทศต่างๆ เข้ามาที่ไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยัง EU และประเทศในกลุ่ม CPTPP มากขึ้น

 

Thailand Plus Package

ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด

 

มาตรการใหม่ของไทยจะแข่งขันกับต่างประเทศได้ไหม? 

ทางบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองว่า มาตรการใหม่นี้สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ไม่แพ้ประเทศเพื่อนบ้าน จากพื้นฐานจุดแข็งของไทย เช่น การให้สิทธิประโยชน์เช่าที่ดินโดยต่างชาติ 99 ปี อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลฯ 17.5-20% ต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ฯลฯ 

 

ขณะที่มาตรการ Thailand Plus Package จะให้สิทธิประโยชน์ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี การปรับปรุงพระราชบัญญัติการทํางานของคนต่างด้าว และการจัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับประเทศเกาหลีและจีน และมาตรการ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวก ถือว่าตรงจุดและจูงใจนักลงทุนเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายใหม่หรือคนที่ลงทุนอยู่แล้ว 

 

ปัจจุบันเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปี 2555-2561 ผู้ที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น รองลงมาคือ ยุโรป, ประเทศอาเซียน, จีน และเกาหลีใต้   เป็นต้น

 

เปรียบเทียบมาตรการการดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนของแต่ละประเทศ

 

Thailand Plus Package

อ้างอิง: ASPS รวบรวม

 

มาตรการ Thailand Plus Package มีข้อเสียไหม?

แม้ว่ามาตรการนี้น่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนเอกชนได้จริง แต่ยังมีข้อเสียบางส่วน อย่างมาตรการการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ประเทศไทยอาจจะเสียประโยชน์ เช่น

 

1. การแข่งขันจากนักลงทุนต่างชาติจะมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร มีโอกาสที่สินค้าจากต่างชาติจะทะลักสู่ตลาด และอาจถูกตัดราคาสินค้า

 

2. ธุรกิจต่างชาติเข้ามีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล

 

3. การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อกิจการท้องถิ่นได้

 

4. สิทธิประโยชน์ทับซ้อนกัน เนื่องจากบางประเทศ ไทยมีการทำ FTA อยู่แล้ว อาทิ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตามในภาพรวม ทางบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เชื่อว่าข้อตกลงการค้าน่าจะมีผลดีมากกว่า ส่วนเอกชนจะลงทุนในช่วงไหน ยังต้องจับตามองความท้าทายหลักคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการเมืองในประเทศไทยหากมีความไม่แน่นอน

 

เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศแยกตามประเทศ (ปี 2555-2561)

 

Thailand Plus Package

อ้างอิง: ASPS รวบรวม

 

10 อุตสาหกรรม – 3 กลุ่มหุ้นรับอานิสงส์ดีจากมาตรการใหม่ 

ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่น่าจะได้ประโยชน์ และเร่งใช้มาตรการนี้ได้เร็วที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมที่พร้อมลงทุนและมีแผนการลงทุนสูง เช่น กลุ่มปิโตรเคมี ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งตัวอย่างทั้ง 3 ยังสอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-Curve) ที่รัฐบาลมุ่งเน้นให้เกิดขึ้น เช่น ยานยนต์ ท่องเที่ยว ดิจิทัล การแพทย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อากาศยาน ฯลฯ นอกจากนี้อุตสาหกรรมเหล่านี้น่าจะเร่งใช้มาตรการได้ เพราะมีแนวโน้มการส่งให้พนักงานฝึกอบรมด้าน Advance Technology สูงขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม หุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

 

  • กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น AMATA, FPT
  • ขนส่งโลจิสติกส์ เช่น JWD 
  • กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีโครงสร้างสินเชื่อรายใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X