ช่วงตี 3 เศษของเช้าวันเสาร์ที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย ผู้คนที่สนใจความก้าวหน้าในด้านการสำรวจอวกาศทั่วโลกโดยเฉพาะประชาชนชาวอินเดียทั้งประเทศไปจนถึง นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ต่างก็เฝ้าลุ้นระทึกกับรายงานสดระหว่างการลงจอดของยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ विक्रम ณ ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ดินแดนที่ไม่เคยมียานอวกาศของชาติใดลงจอดมาก่อน
วิกรัม คือหนึ่งใน 3 ส่วนของ ‘จันทรายาน-2’ चंद्रयान 2 ยานอวกาศแห่งความภาคภูมิใจของคนอินเดีย มีหน้าที่หลักในการลงจอดบนดวงจันทร์ อีก 2 ส่วนที่เหลือ คือ โรเวอร์ติดล้อหนัก 27 กิโลกรัมในชื่อ “ปรากยาน” प्रज्ञान ที่บรรจุอยู่ภายในยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ อีกที ซึ่งจะแล่นออกสำรวจพื้นที่บริเวณโดยรอบ หลังยานแลนเดอร์ลงจอดเรียบร้อยแล้ว และยานออบิทเทอร์ หรือยานโคจร มีหน้าที่คอยสนับสนุนและสำรวจดวงจันทร์จากอวกาศใกล้ๆ นั้น
เมื่อถึงเวลา 03.08 น. ตามเวลาไทย ยานแลนเดอร์เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนลดความเร็ว เพื่อให้ตัวยานถูกแรงโน้มถ่วงดวงจันทร์ดึงให้โค้งลงสู่ตำแหน่งลงจอดที่หมายตาไว้ ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี ยานเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 48 เมตรตามแนวนอน และ 60 เมตรตามแนวตั้ง เข้าตามเส้นโค้ง เพื่อลงจอดตามที่วางแผนไว้
แต่แล้วสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อการติดต่อสื่อสารกับยานแลนเดอร์ขาดหายไปเฉยๆ ขณะที่ยังอยู่ที่ระดับความสูง 2.1 กิโลเมตรจากผิวดวงจันทร์ เหลือเพียงสัญญาณแจ้งระดับความสูงที่ยังคงทำงานได้ ซึ่งสุดท้ายสัญญาณแจ้งความสูงนี้ก็ขาดหายไปที่ระยะ 330 เมตร สิ่งที่ทุกคนรับรู้ได้ ณ วินาทีนั้นก็คือ เราสูญเสียยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ ไปแล้ว โดยจุดที่ยานขาดการติดต่อนั้นอยู่ห่างจากเป้าหมายการลงจอดราว 1 กิโลเมตรตามแนวระดับ
ทางหอบังคับการ ISRO ยังคงพยายามกู้คืนการสื่อสารทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่สำเร็จ หลายฝ่ายคาดว่า ยานแลนเดอร์น่าจะตกกระแทกพื้นพังเสียหาย นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ทวีตข้อความให้กำลังใจทีมงาน ISRO และประกาศว่า จะไม่หยุดโครงการสำรวจอวกาศเพียงเท่านี้
India is proud of our scientists! They’ve given their best and have always made India proud. These are moments to be courageous, and courageous we will be!
Chairman @isro gave updates on Chandrayaan-2. We remain hopeful and will continue working hard on our space programme.
— Narendra Modi (@narendramodi) September 6, 2019
แน่นอนว่า ยานโคจรหรือออบิทเทอร์ของจันทรายาน-2 ยังคงทำงานได้ ทางทีมงานที่หอบังคับการบนโลกจึงได้สั่งให้ยานโคจรพยายามสแกนหาว่า ยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ ประสบชะตากรรมเช่นใด ตกเสียหายหรือไม่ โดยให้ใช้กล้องและอุปกรณ์ต่างๆ ค้นหา ณ บริเวณที่ยานแลนเดอร์ลงจอด นั่นคือที่ละติจูด 70°S หรือ 70 องศาใต้ของดวงจันทร์
และความตื่นเต้นก็บังเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน เมื่อกล้องถ่ายภาพระบบความร้อนของยานโคจรหรือออบิทเทอร์จันทรายาน-2 ได้สแกนพบยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ อยู่ห่างจากตำแหน่งลงจอดออกมาเล็กน้อย และในเวลาต่อมา กล้องความละเอียดสูงแบบออพติคอล (OHRC) ที่ติดตั้งในยานโคจรก็พบว่า ยานแลนเดอร์ ‘วิกรัม’ นั้น ดูเหมือนจะมีสภาพไม่เสียหายจากการตกกระแทกพื้น
เมื่อเป็นดังนี้ แม้จะยังกู้คืนระบบสื่อสารไม่ได้ และไม่อาจสั่งการให้ยานแลนเดอร์หรือโรเวอร์ ออกสำรวจผิวดวงจันทร์ตามแผนเดิมได้ แต่ทางอินเดียก็ได้ถือว่า ตนเป็นชาติแรกของโลกที่ทำซอฟต์แลนดิ้ง หรือการลงจอดอย่างเรียบร้อย ณ บริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และถือเป็นชาติที่ 4 ของโลกนับจากโซเวียต (ในเวลานั้น) สหรัฐฯ และจีน ตามลำดับ ที่สามารถนำยานแลนเดอร์ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ดังปรากฏในทวีตขององค์การอวกาศอินเดียหรือ ISRO มีข้อความดังนี้
https://twitter.com/shivraj_Office/status/1170651507554803712
หลังจากนี้ ทางหอบังคับการของ ISRO ก็ยังหาทางกู้คืนระบบสื่อสารกับยานแลนเดอร์ให้ได้ต่อไป โดยมีเงื่อนเวลาบังคับที่ 14 วันหลังการลงจอด ก่อนที่อุปกรณ์บนยานจะหมดอายุ เพราะความร้อนของผิวดวงจันทร์
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- หลายคนอาจนึกว่า ดวงจันทร์นั้นเย็นสบาย ด้วยความเข้าใจตามแสงจันทร์ที่ส่องมายังโลกว่า สวยเย็นตา แต่ที่จริงแล้ว ด้านสว่างของดวงจันทร์นั้นมีอุณหภูมิสูงถึง 127°C ที่เส้นศูนย์สูตร เรียกว่า ร้อนจนน้ำเดือดได้ทันที อุปกรณ์บนยานแลนเดอร์ต่างๆ จึงไม่อาจคงสภาพอยู่ได้นาน
- ทำไมต้องเป็นขั้วใต้ของดวงจันทร์ บริเวณขั้วใต้เป็นเหมือน “โอเอซิส” เนื่องจากมีหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่อายุนับพันล้านปีที่ภายในมีน้ำแข็งปริมาณมหาศาลซ่อนอยู่ และน้ำแข็งนี้ไม่เคยละลายเนื่องจากก้นหลุมเป็นเงามืดไม่เคยถูกแสงอาทิตย์เลย น้ำแข็งคือคำตอบในการแปลงสภาพให้เป็นอ๊อกซิเจนสำหรับหายใจ ไฮโดรเจนสำหรับเป็นเชื้อเพลิงให้ยานอวกาศในอนาคต และน้ำสำหรับดื่มกิน โครงการ อาร์เทมีส (Artemis) ของสหรัฐฯที่จะนำผู้หญิงคนแรกมาเดินบนดวงจันทร์ในปี 2024 ก็มุ่งมาที่ขั้วใต้ดวงจันทร์นี้เช่นกัน