×

ความตายของบิวรี และสิ่งที่เราควรเรียนรู้จากโศกนาฏกรรมลูกหนังเรื่องนี้

30.08.2019
  • LOADING...
Bury FC

HIGHLIGHTS

9 MINS. READ
  • คำถามที่หลายคนสงสัยคือเรื่องมันเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร อะไรที่ทำให้สโมสรฟุตบอลที่มีอายุยืนยาวถึง 134 ปีอย่างบิวรี สโมสรที่เคยคว้าแชมป์เอฟเอคัพได้ถึง 2 สมัย และเป็นเจ้าของสถิติชนะด้วยสกอร์ขาดที่สุดเทียบเท่ากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถึง 6-0 ต้องตายทั้งเป็นแบบนี้ 
  • มันน่าเศร้าที่ในขณะเดียวกับที่สโมสรในพรีเมียร์ลีกมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในระดับร้อยล้านปอนด์ แต่สโมสรในลีกล่างๆ ต้องกัดก้อนเกลือกิน มีหลายสโมสร (เช่น บิวรี) ที่กู้ยืมเงินมาเพื่อต่อลมหายใจ
  • ความตายของบิวรีไม่ได้สูญเปล่าเสียทีเดียว ในทางตรงกันข้าม มันทำให้เกิดความตื่นตัวขึ้นอย่างมากในโลกฟุตบอล เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับบิวรีสามารถเกิดขึ้นกับสโมสรแห่งใดก็ได้ในโลก สิ่งสำคัญคือเราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง

ผมอ่านจดหมายบอกรักและบอกลาจากแฟนบอลสาวคนหนึ่งถึงทีมฟุตบอลที่หนึ่งในดวงใจของเธอด้วยหัวใจที่รวดร้าว และอยากนำมาถ่ายทอดต่อ

 

“ฉันเขียนจดหมายฉบับนี้ที่บ้าน หลังจากที่เจ้านายพาฉันมาส่งจากที่ทำงาน โดยที่ฉันร้องไห้มาตลอดทาง

 

“ฉันร้องไห้อยู่คนเดียวเงียบๆ ที่โต๊ะทำงานของฉัน หลังจากที่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของบิวรีฟุตบอลคลับ ซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอลที่ฉันรักได้ดับลงไป เมื่อผู้ที่มีโอกาสจะเป็นผู้ซื้อสโมสรอย่างซีแอนด์เอ็น สปอร์ติง ริสก์ ไม่ปรากฏตัว ราวกับว่าเครื่องช่วยชีวิตของสโมสรของฉันได้ถูกปิดสวิตช์

 

“สิ่งนี้เป็นยิ่งกว่าแค่เกมกีฬาสำหรับคนอย่างฉัน มันคือตัวตนของเรา มันคือสิ่งที่เราทำ

 

“สำหรับเราแล้วสโมสรแห่งนี้มันคือครอบครัว และการที่พรากมันไปจากพวกเรานั้นได้ทำให้หัวใจของเราแตกสลายไม่เหลือชิ้นดี

 

“แต่อย่างน้อยที่สุดเราสามารถเก็บความทรงจำของสโมสรแห่งประวัติศาสตร์แห่งนี้เอาไว้ โดยไม่มีใครจะสามารถพรากมันไปจากเราได้

 

“การที่ได้สนับสนุนสโมสรท้องถิ่นของเราด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ มันยิ่งทำให้เราชื่นชมกับช่วงเวลาดีๆ มากยิ่งกว่าเดิม

 

“การเป็นแฟนฟุตบอลทีมในลีกล่างเป็นสิ่งที่พิเศษ คุณสามารถจะพูดคุยกับผู้จัดการทีมของคุณในตอนที่เขาเดินออกจากสนาม สามารถเซลฟีไวๆ กับนักฟุตบอลคนโปรด หรือเดินทัวร์สนามในช่วงก่อนเกม

 

“เรามีความสุขดีที่ได้เป็น ‘ลิตเติลบิวรี’ เหมือนที่เราเป็นแบบนี้เสมอมา เรามีความสุขกับการเป็นทีมรองบ่อน และเราแค่อยากจะได้เห็นทีมของเราลงสนามในวันเสาร์

 

“เดวิด สไควร์ นักวาดการ์ตูนใน The Guardian สรุปเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์แบบในผลงานของเขาวันนี้ ‘ถ้าพีระมิดของเกมฟุตบอลถูกเผา ต่อให้คนที่อยู่ข้างบนสุดก็ย่อมสำลักควันไปด้วย’

 

“ใครจะเป็นรายต่อไป แล้วเมื่อไรเรื่องนี้จะจบเสียที”

 

จดหมายจากสาวก The Shakers ตัวยงอย่าง ฮันนาห์ โมนาแกน ฉบับนี้เป็นหนึ่งในมวลความเศร้าอันประเมินค่าไม่ได้ที่ปกคลุมวงการฟุตบอลอังกฤษอยู่ในเวลานี้ครับ โดยนอกจากจดหมายฉบับนี้แล้ว เรายังได้เห็นเรื่องราวที่น่าเศร้าอีกมากมายหลายรูปแบบ

 

ไม่ว่าจะเป็นภาพชุดของสนามกิกก์เลนที่ถูกปิดตาย

 

Bury FC

 

แววตาของแฟนบอลที่หัวใจสลาย แววตาของคนที่ไม่อยากเชื่อว่าต่อจากนี้จะไม่มีสโมสรฟุตบอลเล็กๆ ที่พวกเขารักอีกแล้ว

 

รวมถึงคุณตาวัย 78 ปีที่เชียร์บิวรีเพียงทีมเดียวมาตั้งแต่อายุ 8 ปี และด้วยความที่เล่นอินเทอร์เน็ตไม่เป็น ทุกวันจึงทำได้เพียงเดินจากบ้านมาเพื่อฟังข่าวคราวที่หน้าสนามว่าจะมีใครสักคนมาช่วยสโมสรของพวกเขาไหม

 

จากการถูกลงโทษตัดแต้ม 12 คะแนนตั้งแต่ยังไม่เริ่มฤดูกาล สู่นัดที่ 1 ที่ถูกเลื่อนการแข่งขัน สู่นัดที่ 2, 3, 4 และ 5 และการถูกปรับแพ้ในรายการลีกคัพ

 

เส้นตายถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถเลื่อนได้อีก สุดท้ายปาฏิหาริย์ไม่มีจริง บิวรีถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกของฟุตบอลลีก (EFL) สิ้นสุดสถานะที่ดำรงมากว่า 125 ปี และไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของพวกเขาจะดำเนินต่อไปในทิศทางไหน

 

ผมรู้ว่ามันเป็นเรื่องยากที่เราจะเข้าใจในความรู้สึกของแฟนบอลบิวรี แต่เราอาจจะลองคิดตามดูง่ายๆ ครับ

 

หากเรานอนหลับไปในคืนนี้ แล้วพรุ่งนี้เช้าตื่นมาไม่มีลิเวอร์พูล ไม่มีแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่มีอาร์เซนอล หรือไม่มีบาร์เซโลนา เรอัล มาดริด 

 

ไม่มีบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไม่มีชลบุรี เอฟซี 

 

ไม่มีสโมสรที่เราเคยรัก ราวกับว่าเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย ทั้งๆ ที่มันคือความทรงจำและความผูกพันชั่วชีวิตของเรา

 

กว่าจะทำใจยอมรับได้ ไม่รู้ต้องใช้เวลานานสักเท่าไร

 

Bury FC

 

ลมหายใจที่สูญหายของเมืองบิวรี

คำถามที่หลายคนสงสัยคือเรื่องมันเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร อะไรที่ทำให้สโมสรฟุตบอลที่มีอายุยืนยาวถึง 134 ปีอย่างบิวรี สโมสรที่เคยคว้าแชมป์เอฟเอคัพได้ถึง 2 สมัย และเป็นเจ้าของสถิติชนะด้วยสกอร์ขาดที่สุดเทียบเท่ากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถึง 6-0 ต้องตายทั้งเป็นแบบนี้ 

 

ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นฤดูกาลที่น่าตื่นเต้นสำหรับพวกเขา หลังจากที่สามารถเลื่อนชั้นจากลีกทู (รายการฟุตบอลในลำดับขั้นที่ 4) กลับมาสู่ลีกวัน (ลำดับขั้นที่ 3) ได้สำเร็จ

 

เรื่องนั้นเกิดจากการที่บิวรีเป็นสโมสรที่มีปัญหาทางการเงินค่อนข้างรุนแรงมาก พวกเขาอยู่กันอย่างยากลำบากในระดับลีกล่างของอังกฤษ

 

ย้อนหลังกลับไปในปี 2001-2002 บิวรีประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงจนถึงขั้นถูกเข้าควบคุมกิจการและเกือบจะถูกยุบทีม แต่ในครั้งนั้นแฟนบอลได้รณรงค์เพื่อระดมทุนช่วยเหลือทีมจนสามารถที่จะรอดพ้นจากวิกฤตได้

 

ผลจากความทุ่มเทด้วยหัวใจ ทำให้ยูฟ่ามอบรางวัล Best Supporter Award หรือรางวัลกองเชียร์ดีเด่นประจำฤดูกาล 2001-02 ให้แก่ กอร์ดอน ซอร์ฟลีท เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านสื่อของสโมสรที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของการรณรงค์

 

บิวรีมาประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงอีกครั้งในปีที่แล้ว เมื่อ สจ๊วร์ต เดย์ เจ้าของสโมสรไม่สามารถแบกรับภาระไหว เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเขาประสบปัญหาอย่างรุนแรงจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำ จึงตัดใจขายสโมสรต่อให้กับ สตีฟ เดล นักธุรกิจที่ซื้อต่อกิจการสโมสรในราคาแค่ 1 ปอนด์ เมื่อเดือนธันวาคม 2018

 

พูดไปแล้วช่างน่าเศร้าที่มูลค่าของบิวรีนั้นน้อยกว่าข้าวแกงในตลาดหรือกาแฟสดหน้าออฟฟิศเสียอีก

 

สตีฟ เดล เข้ามาพร้อมกับคำหวานและความหวังว่าเขาจะนำพาสโมสรให้รอดพ้นจากวิกฤตด้วยการใช้ความรู้จากการทำธุรกิจของเขา และรักษาบิวรีไว้เพื่อให้อยู่คู่กับแฟนฟุตบอลโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และเพื่อให้ชาวเมืองยังมีงาน มีรายได้จากสโมสรแห่งนี้

 

แต่มันไม่ได้เป็นไปตามนั้น เมื่อเจ้าของใหม่อย่างเขาพบว่าจำนวนหนี้สินที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่เจ้าของเดิมได้กู้ยืมเงินจากบริษัทที่ชื่อว่า Capital Bridging Finance Solutions หรือ Capital นั้นสูงถึง 3.7 ล้านปอนด์ 

 

สโมสรต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 1,500 ปอนด์ทุกวัน เลือดไม่เคยหยุดไหลแม้แต่วันเดียว

 

สุดท้ายเขาก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเหนื่อยให้ผู้เล่น เรื่องเกิดแดงขึ้นมาและนำไปสู่การตรวจสอบจากฟุตบอลลีก และเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบในที่สุด

 

ความจริงแล้วรายละเอียดของการกู้ยืมเงินนี้มีมากและค่อนข้างซับซ้อนครับ เป็นผลจากการบริหารของ สจ๊วร์ต เดย์ ที่นำสโมสรก้าวไปสู่ความตายอย่างแท้จริง

 

โดยเรื่องที่น่าเศร้ามากกว่านั้นคือการที่ สตีฟ เดล เจ้าของสโมสรบิวรีคนสุดท้ายเองก็ไม่ได้รักในสโมสรแห่งนี้เลยแม้แต่น้อย

 

ไม่แม้แต่จะรู้จักด้วยซ้ำว่ามีสโมสรฟุตบอลชื่อนี้อยู่บนโลกใบนี้ – ตามคำสารภาพของเขาที่ให้สัมภาษณ์ในรายการของ talkSPORT 

 

ก็ไม่แปลกอะไรที่เมื่อถึงนาทีชีวิต สตีฟ เดล ก็ไม่ได้พยายามอะไรที่จะช่วยให้สโมสรของชาวเมืองรอดชีวิต

 

เขาแค่มองดูบิวรีตายอย่างเงียบๆ และไม่ได้แยแสต่อเสียงก่นด่าสาปแช่งจากแฟนฟุตบอลที่หัวใจสลายเพราะสโมสรฟุตบอลที่มีความสำคัญไม่ใช่เพียงต่อเรื่องจิตใจ แต่ยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนเมืองต้องตายตรงหน้า

 

เช่นเดียวกับนักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ของทีมที่ชีวิตแทบหมดทางไปต่อ เพราะไม่ได้รับค่าเหนื่อยและค่าแรงที่ควรจะได้

 

Bury FC

 

บทเรียนจากความตายของสโมสรเล็กๆ

ความตายของบิวรี ผมคิดว่ามันไม่ได้สูญเปล่าเสียทีเดียวครับ

 

ในทางตรงกันข้าม มันทำให้เกิดการตื่นตัวขึ้นอย่างมากในโลกฟุตบอล เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับบิวรีสามารถเกิดขึ้นกับสโมสรแห่งใดก็ได้บนโลก

 

สิ่งสำคัญคือเราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง

 

เครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ที่แฟนฟุตบอลจำนวนมากตั้งไว้ ไม่ใช่มีต่อ สตีฟ เดล หรือสจ๊วร์ต เดย์ (คนที่ความจริงแล้วเป็นคนสร้างปัญหาทั้งหมด) หากแต่เป็นคำถามต่อฟุตบอลลีกว่า ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่ปกป้องค้ำชูลีกลูกหนัง

 

พวกเขาปล่อยให้เจ้าของสโมสรอย่างสตีฟ เดล – ซึ่งมีประวัติในการบริหารงานที่ล้มเหลว กิจการ 51 แห่งของเขาเจ๊งถึง 43 แห่ง – เข้ามาซื้อกิจการสโมสรอย่างง่ายดายได้อย่างไร 

 

ถึงเวลาที่จะต้องมีการทบทวนกระบวนการตรวจสอบที่เรียกว่า Fit and Proper Test แล้วหรือยัง

 

ไม่เช่นนั้นก็มีโอกาสที่จะมีเจ้าของสโมสรเหมือนสตีฟ เดล (และสจ๊วร์ต เดย์) คนต่อไปเรื่อยๆ อีก

 

ประเด็นสืบเนื่องต่อมาคือปัญหาของสโมสรฟุตบอลในระดับล่างซึ่งเป็นฐานของระบบ พวกเขาอยู่กันอย่างยากลำบาก สโมสรจำนวนมากประสบปัญหาทางการเงิน และมีโอกาสที่เราจะได้เห็นสโมสรที่ต้องเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับบิวรี

 

โบลตัน วันเดอเรอร์ส เป็นอีกทีมที่มีข่าวในช่วงเวลาเดียวกัน แต่รอดตัวที่มีคนมาซื้อกิจการทีมฟุตบอลเก่าแก่ที่โด่งดังทีมนี้ได้ทันเวลา แต่คำถามที่ยังอยู่คือเจ้าของใหม่จะช่วยให้พวกเขารอดพ้นจากวิกฤตได้จริงไหม ในอนาคตจะเกิดปัญหาแบบเดิมอีกหรือเปล่า

 

จริงอยู่ที่สโมสรฟุตบอลควรจะอยู่ได้ด้วยลมหายใจของตัวเอง แต่ในวันเวลาที่ยากลำบาก บางครั้งพวกเขาก็ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอกบ้าง

 

มันน่าเศร้าที่ในขณะเดียวกับที่สโมสรในพรีเมียร์ลีกมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในระดับร้อยล้านปอนด์ แต่สโมสรในลีกล่างๆ ต้องกัดก้อนเกลือกิน มีหลายสโมสร (เช่น บิวรี) ที่กู้ยืมเงินมาเพื่อต่อลมหายใจ

 

ถึงจะมีการแบ่งสัดส่วนเงินจากพรีเมียร์ลีกมาบ้าง แต่เป็นไปได้ไหมที่จะมีการแบ่งให้มากกว่านี้ พร้อมกับการลงมาช่วยเหลือหาวิธีให้สโมสรทุกแห่งสามารถอยู่รอดได้อย่างมั่นคง

 

นี่ขนาดเป็นสโมสรฟุตบอลในอังกฤษที่มีวัฒนธรรมลูกหนังที่เข้มแข็งและยาวนานนับร้อยปีนะครับ ผมคิดย้อนกลับมาถึงบ้านเราเองก็มีสัญญาณอันตรายของความตกต่ำที่น่ากลัว

 

เราได้ยินเรื่องของสโมสรที่ไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่นักฟุตบอล ถูกยุบทีมไปก็มี

 

เราได้เห็นการย้ายถิ่นฐานของทีมฟุตบอลแบบชนิดไม่สนความรู้สึกของแฟนบอลที่ติดตามเชียร์มาด้วยใจ (เช่น ล่าสุดกับกรณีของลำปาง เอฟซี ที่ขอย้ายไปสงขลา…)

 

และอื่นๆ อีกมากมาย

 

ความตายของบิวรีแม้จะเป็นเรื่องห่างไกล แต่ก็ใกล้ตัว ได้แต่หวังว่าโลกฟุตบอลจะเรียนรู้จากความสูญเสียในครั้งนี้ 

 

เพื่อไม่ให้ความตายของสโมสรเล็กๆ แห่งนี้สูญเปล่า

 

และหวังว่าจะมีดอกไม้บานขึ้นที่กลางสุสานของพวกเขาในไม่ช้านี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • ยังไม่มีใครรู้อนาคตของบิวรีว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไรหลังจากนี้ ทั้งกับนักฟุตบอลที่เหลืออยู่แค่ไม่กี่คน เจ้าหน้าที่ รวมถึงสนามกิกก์เลน 
  • EFL ระบุว่าบิวรีสามารถลงทะเบียนกับสมาคมฟุตบอลและเข้าร่วมการแข่งขันลีกได้ใหม่ในฤดูกาล 2020-21 แต่จะต้องเริ่มจากระดับนอกลีกก่อน
  • ก่อนหน้าบิวรี มีสโมสรที่ถูกยกเลิกสถานะสมาชิกฟุตบอลลีกคือเมดสโตนในปี 1992
  • การแข่งขันฟุตบอลลีกวันจะเหลือแค่ 23 ทีมในฤดูกาลนี้ และจะลดทีมตกชั้นเหลือแค่ 3 ทีมเท่านั้น
  • เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีอาสาสมัครจำนวนกว่า 300 คนที่มาช่วยทำความสะอาดสนามกิกก์เลน ด้วยหวังว่าทีมจะลงแข่งในวันเสาร์กับดอนคาสเตอร์ โรเวอร์ส 
  • จิลล์ เนวิลล์ แม่ของฟิล เนวิลล์ ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษหญิง เป็นเลขาฯ ของสโมสร และเพิ่งจะลาออกจากสโมสรเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
  • ล่าสุดมีความพยายามจะคืนชีพบิวรีด้วยการขอให้ EFL พิจารณาข้อเสนอจากกลุ่มทุนใหม่ที่พร้อมจะซื้อบิวรีในราคา 7 ล้านปอนด์ แต่เชื่อว่าการกลับคำตัดสินของ EFL เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X