สภาเมืองซิดนีย์ประกาศว่าเศษอาหารจากบ้านเรือนหลายพันหลังในซิดนีย์จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานสีเขียวและปุ๋ยแทนที่จะส่งไปยังหลุมฝังกลบ ภายใต้โครงการทดลอง เศษขยะอาหารจากบ้านเรือน 330 หลัง และอพาร์ตเมนต์ในเมือง 53 แห่งของซิดนีย์จะถูกส่งไปยังเอิร์ธพาวเวอร์ (EarthPower) โรงงานแปรเศษอาหารเป็นพลังงานแห่งแรกของออสเตรเลียซึ่งเปิดในปี 2003
“ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากต้องการเข้าร่วมโครงการทดลองดังกล่าว และหากโครงการประสบความสำเร็จ เราจะพิจารณาเปิดให้บริการนี้ทั่วบริเวณสภาฯ” โคลเวอร์ มัวร์ นายกเทศมนตรีนครซิดนีย์กล่าว
ครัวเรือนที่เข้าร่วมการทดลองจะได้รับถังขยะใส่เศษอาหารขนาดเล็ก พร้อมถุงที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยสามารถใส่เศษอาหารที่เหลือได้เกือบทุกประเภท รวมถึงเศษผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล เปลือกไข่ ขนมปัง ผลิตภัณฑ์จากนม หรือแม้แต่กระดาษชำระ และผ้าเช็ดปากที่เปื้อนคราบอาหาร
หลังจากนั้นขยะจากครัวเรือนจะถูกนำไปใส่ในถังขยะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ตามริมถนน ก่อนถูกรวบรวมส่งไปยังเอิร์ธพาวเวอร์ เพื่อจัดการด้วยเทคโนโลยีหมักย่อยแบบไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) ภายในห้องที่ปราศจากออกซิเจน โดยจุลินทรีย์จะทำลายวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
กระบวนการดังกล่าวจะผลิตก๊าซชีวภาพซึ่งจะถูกแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ส่วนของแข็งที่เหลือจะถูกทำให้แห้งและอัดเม็ดเป็นปุ๋ย
“ขยะเศษอาหารคิดเป็น 1 ใน 3 ของขยะในถังขยะทั่วไป การทดลองนี้จึงจะช่วยนำขยะปริมาณมหาศาลออกจากหลุมฝังกลบ” มัวร์กล่าว พร้อมเสริมว่า เคยมีการทดลองใช้เทคโนโลยีคัดแยกขยะหลายวิธีแล้ว แต่วิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการที่ผู้อยู่อาศัยคัดแยกขยะด้วยตนเองจากที่บ้าน
ขณะเดียวกันบ้านเรือนหลายหลังในออสเตรเลียยังเลือกที่จะหมักเศษอาหารทำเป็นปุ๋ยด้วยตัวเอง แต่กระบวนการดังกล่าวต้องใช้พื้นที่ ซึ่งผู้อยู่อาศัยในเมืองหลายแห่งมีพื้นที่ไม่เพียงพอ
“โครงการแปลงขยะเป็นพลังงานเป็นความคิดริเริ่มที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้อาศัยในอพาร์ตเมนต์ที่ไม่สามารถหมักปุ๋ยเองได้” โจเอล แฮนด์เลอร์ ผู้ร่วมทดลองกล่าว
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการผลิตปุ๋ยเพื่อส่งขายยังสวนและฟาร์มต่างๆ แล้ว โรงงานเอิร์ธพาวเวอร์ยังสามารถผลิตไฟฟ้าจากเศษอาหารเป็นพลังงานแก่บ้านเรือนได้สูงสุดถึง 3,600 หลัง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว