เมื่อวานนี้ (26 ส.ค.) อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความสรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ดร.อุตตม สาวนายน’ เกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในเชิงสังคม เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาถึงความเหมาะสมของโครงการจำนวน 2 โครงการด้วยกัน ดังนี้
1. โครงการศูนย์การแพทย์ โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มูลค่ารวมกว่า 8,200 ล้านบาท ถือเป็นโครงการ PPP ด้านสาธารณสุขโครงการแรก โดยเป็นการก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 510 เตียง ตั้งขึ้นบริเวณสถานีรถไฟกลางบางซื่อ วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีคุณภาพ
โดยศูนย์แห่งนี้จะมีบริการทางการแพทย์เฉพาะทางที่ครอบคลุม ภายใต้อัตราค่ารักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยลดความแออัดในการใช้บริการในโรงพยาบาลรัฐอีกด้วย
ส่วนรูปแบบการร่วมทุนคือ ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง บำรุงรักษาอาคาร และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมด ส่วนภาครัฐจะเป็นผู้บริหาร และให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ใช้บริการ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี
2. โครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ (หนองหอย) ของการเคหะแห่งชาติ มูลค่ารวมกว่า 5,500 ล้านบาท บนเนื้อที่รวม 52 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และมีโรงพยาบาลหรือกิจการด้านดูแลรักษาสุขภาพ พร้อมทั้งศูนย์การค้าชุมชนไว้ให้บริการด้วย
วัตถุประสงค์โครงการนี้คือ เพื่อเป็นทางเลือกด้านที่พักอาศัยให้แก่ผู้สูงอายุ รองรับในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยรูปแบบการร่วมทุนที่ กคช. เสนอมาคือ ให้เอกชนเช่าที่ดิน เพื่อดำเนินการลงทุนออกแบบก่อสร้าง บริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงการ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี
นอกจากนี้ ประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้รายงานผลการประชุมในส่วนอื่นๆ โดยสรุปว่า คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่
- เรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 (1) (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. …
- เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าของโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. …
- เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของที่ปรึกษา พ.ศ. …
- เรื่องลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. … ทั้งนี้เพื่อเป็นการกำหนดรายละเอียดแนวทางในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในแต่ละเรื่องให้เกิดความชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ
ต่อมาคณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบรายละเอียดของแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน (แผน PPP) และแนวทางการจัดทำ ปรับปรุง และติดตามผลการดำเนินการตามแผน PPP โดยมีความสอดคล้องกับแผนแม่บทด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านสังคมของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาดำเนินการโครงการ PPP ของประเทศในภาพรวมต่อไป
และสุดท้าย คณะกรรมการ PPP ได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 20 (9) ในกรณีต่างๆ รวม 6 กรณี ได้แก่
- กรณีโครงการท่าเทียบเรือในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- กรณีการดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์บางส่วน (อาคารกลุ่ม L) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- กรณีโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงแรมชายทะเล ของกรมธนารักษ์
- กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
- กรณีการเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามหลักเกณฑ์โครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) ให้ผู้ประกอบกิจการเชื่อมต่อเพื่อต่อยอดให้บริการไปยังบ้านเรือนประชาชน ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- กรณีโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: