×

จากคีนถึงป็อกบา กับนิยาม ‘ความเป็นผู้นำ’ ที่เปลี่ยนไปในสนามฟุตบอล

23.08.2019
  • LOADING...
Paul Pogba

HIGHLIGHTS

  • สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในโลกฟุตบอล เมื่อ พอล ป็อกบา รับหน้าที่สังหารจุดโทษด้วยตัวเอง ในเกมที่แมนฯ ยู พบกับวูล์ฟแฮมป์ตันฯ แทนที่จะมอบหน้าที่นี้ให้ มาร์คัส แรชฟอร์ด กองหน้ามือสังหารที่มีสถิติยอดเยี่ยม 
  • โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ในฐานะผู้จัดการทีมพยายามชี้แจงว่าได้มอบหมายหน้าที่ให้กับทั้งแรชฟอร์ดและป็อกบาเป็นคนทำหน้าที่ยิงจุดโทษทั้งสองคน ที่เหลืออยู่ที่ไปตกลงกันเอง แกรี เนวิลล์ แบ็กขวาระดับตำนานของแมนฯ ยูไนเต็ด ที่เป็นนักวิจารณ์ทางโทรทัศน์ถึงกับบอกว่าเล่นกันอย่างกับ ‘เด็ก 5 ขวบเตะฟุตบอลในสนามเด็กเล่น’
  • “โอลด์แทรฟฟอร์ดต้องการผู้นำที่มีความเหมาะสม” เสียงจากโอลด์แทรฟฟอร์ดดังขึ้น และไม่ใช่เพิ่งจะดังหลังเกมวันจันทร์ แต่ดังมานานหลายปี แต่ไม่ใช่เฉพาะที่โอลด์แทรฟฟอร์ดที่มีปัญหาแบบนี้ ในหลายๆ สโมสรเองก็มีเสียงบ่นว่า “นักเตะสมัยใหม่มันไม่มีคุณสมบัติแบบนี้” เหมือนกัน

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาในเกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมีเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากครับ และนำไปสู่การถกเถียงที่หลากหลาย

 

เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเกมระหว่างวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส พบกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่สนามโมลินิวซ์กราวด์ของฝ่ายแรก เมื่อทีม ‘ปีศาจแดง’ ได้ลูกจุดโทษจากจังหวะที่ พอล ป็อกบา ถูกทำฟาวล์โดยคอเนอร์ โคดี

 

ปรากฏว่าป็อกบาขอรับหน้าที่สังหารด้วยตัวเอง ไม่ให้มาร์คัส แรชฟอร์ด กองหน้าที่มีหน้าที่เป็นมือสังหารทำงานของตัวเอง ทั้งๆ ที่กองหน้ารุ่นน้องเพิ่งจะยิงจุดโทษเข้าในเกมกับเชลซีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และมีสถิติที่ยอดเยี่ยมถึงขั้นไม่เคยยิงพลาดเลยในเกมพรีเมียร์ลีก ซึ่งตรงข้ามกับดาวเตะชาวฝรั่งเศสที่ในฤดูกาลที่แล้วยิงพลาดถึง 4 ครั้ง

 

ลูกนี้หากยิงเข้าก็คงไม่เป็นอะไรมากนัก แต่ป็อกบาดันยิงไม่เข้าก็กลายเป็นเรื่องขึ้นมา 

 

โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ในฐานะผู้จัดการทีมพยายามชี้แจงว่า ได้มอบหมายหน้าที่ให้กับทั้งแรชฟอร์ดและป็อกบา เป็นคนทำหน้าที่ยิงจุดโทษทั้งสองคน ที่เหลืออยู่ที่ไปตกลงกันเอง ซึ่งเรื่องนี้นักวิจารณ์ลูกหนังไม่ค่อยเข้าใจนัก และคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นความอ่อนหัดในการจัดการของนายใหญ่ชาวนอร์เวย์

 

แกรี เนวิลล์ แบ็กขวาระดับตำนานของแมนฯ ยูไนเต็ด ที่เป็นนักวิจารณ์ทางโทรทัศน์ถึงกับบอกว่าเล่นกันอย่างกับ “เด็ก 5 ขวบเตะฟุตบอลในสนามเด็กเล่น”

 

นอกจากโซลชาร์ที่ถูกวิจารณ์แล้ว คนที่โดนหนักไม่แพ้กันหรืออาจจะโดนหนักกว่าคือป็อกบา ซึ่งถูกแฟนบอลนิสัยเสียด่าเสียๆ หายๆ บนโลกโซเชียล โดยเฉพาะบนทวิตเตอร์ที่หนักข้อมากถึงขั้นมีการเรียกร้องให้นักฟุตบอลมีการบอยคอตโซเชียลมีเดียเพื่อประท้วงในเรื่องนี้

 

Paul Pogba

 

ทวิตเตอร์รับลูกครับ และกำลังจะจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่คัดกรองบัญชีทวิตเตอร์ของนักกีฬาผิวสีระดับชั้นนำเป็นพิเศษ เพื่อคัดกรองไม่ให้มีการเหยียดผิว ลงโทษผู้กระทำผิด และอื่นๆ (แล้วทำไมไม่ทำก่อนหน้านี้) 

 

แต่หากตัดประเด็นเรื่องที่โดนเหยียดสีผิว โฟกัสที่ประเด็นในสนามแล้ว เรื่องหนึ่งที่ป็อกบาหลีกเลี่ยงจะถูกครหาไม่ได้คือภาวะความเป็นผู้นำในสนาม

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโมลินิวซ์ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เมื่อปี 2002 หรือเมื่อ 17 ปีที่แล้วในเกมรอบคัดเลือกยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก ระหว่างแมนเชสเตอร์​ ยูไนเต็ด กับทีมซาเลเกอร์สเซ็ก (Zalaegerszeg)

 

ในเกมนั้นปีศาจแดงนำอยู่ 3-0 สกอร์ขาดและไม่มีปัญหาสำหรับพวกเขาแล้ว และยังมาได้จุดโทษอีก ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะให้ ดิเอโก ฟอร์ลัน หัวหอกชาวอุรุกวัยที่ประสบปัญหาสูญเสียความมั่นใจจากการยิงประตูไม่ได้มายาวนานได้ยุติฝันร้าย

 

ถ้าเป็นทีมอื่นก็คงจะยอมให้ฟอร์ลันได้โอกาสลองยิงดู แต่ไม่ใช่สำหรับแมนฯ ยูไนเต็ด 

 

รอย คีน กัปตันทีมในขณะนั้นไม่ยอมให้ฟอร์ลันได้ยิง เขาแย่งบอลกลับมาและส่งให้กับ รุด ฟาน นิสเตลรอย เพชฌฆาตมือหนึ่งของทีมเป็นผู้รับหน้าที่ตามปกติ

 

Paul Pogba

 

นี่คือความแตกต่างระหว่าง ‘คีโน่’ กับป็อกบา 

 

ระหว่างผู้นำที่เด็ดขาด เกรี้ยวกราด เสียงดัง ไม่ยอมให้ใครเดินแตกแถวแบบคีน กับผู้นำแบบป็อกบา ที่ดูตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

 

การเปรียบเทียบจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากครับ โดยเฉพาะในหมู่แฟนฟุตบอลที่ติดตามมาอย่างยาวนาน และเห็นคนที่เป็น ‘ผู้นำ’ (Leader) ตัวจริงมามากมาย

 

นักเตะอย่างคีน, ปาทริก วิเอรา, โทนี อดัมส์, แกรม ซูเนสส์ หรือ สจ๊วร์ต เพียร์ซ เป็นสิ่งที่ขาดหายไปในเกมฟุตบอลสมัยใหม่ เช่นเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า Leader Culture ที่กำลังจะหายสาบสูญ

 

“โอลด์แทรฟฟอร์ดต้องการผู้นำที่มีความเหมาะสม” เสียงจากโอลด์แทรฟฟอร์ดดังขึ้น และไม่ใช่เพิ่งจะดังหลังเกมวันจันทร์ แต่ดังมานานหลายปี

 

แต่ไม่ใช่เฉพาะที่โอลด์แทรฟฟอร์ดที่มีปัญหาแบบนี้ครับ ในหลายๆ สโมสรเองก็มีเสียงบ่นว่า “นักเตะสมัยใหม่มันไม่มีคุณสมบัติแบบนี้” เหมือนกัน

 

อย่างไรก็ดีหากมองให้ลึกลงไป คำถามคือเมื่อโลกฟุตบอลหมุนเร็วและเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมากมายเพียงนี้ เรายังต้องการผู้นำในสนามที่เสียงดัง และโหดเหมือนครูฝึกในค่ายทหารอีกไหม

 

ในอดีตเราต้องการผู้นำที่เข้มแข็งและเด็ดขาดแบบนี้ เพราะผู้จัดการทีมต้องการให้มีใครสักคนที่จะคอยลงไปกำกับเกมในสนามแทน นอกจากมีหน้าที่ในการคอยกระตุ้นให้ทุกคนเดินไม่แตกแถวแล้ว ยังต้องชี้นำให้เดินตามในสิ่งที่ขีดเส้นเอาไว้ หรือการเล่นตามแท็กติกที่ได้รับมอบหมายนั่นเอง

 

เพราะในอดีตไม่ใช่ทุกทีมที่จะมีผู้เล่นที่สามารถรู้ เข้าใจ และทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเคร่งครัด คนที่เป็นผู้นำที่เด็ดขาดเหมือนคีนจึงสำคัญ

 

แต่กับเกมฟุตบอลในปัจจุบัน ผู้นำในลักษณะนี้อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไปครับ

 

ความเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มต้นเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา จากกุนซือจอมคิดค้นนวัตกรรมลูกหนังอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา ที่เปลี่ยนแปลงภาพของการเล่นเพรสซิ่ง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากเกือบที่สุดในการเล่นฟุตบอล) และทำให้บาร์เซโลนากลายเป็นทีมที่เก่งเหมือนมาจากดาวคนละดวง กวาดแชมป์ได้ทุกรายการ

 

Paul Pogba

 

สิ่งที่เป๊ปทำได้ส่งผลกระทบต่อวงการฟุตบอลในวงกว้าง โดยเฉพาะต่อการฝึกสอนของโค้ชที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 

จากที่เคยสอนว่าเล่นอย่างไร การสอนถูกเปลี่ยนใหม่ว่าต้องสอนให้นักฟุตบอลรู้ และเข้าใจว่าจะเล่นแบบนี้ทำไม

 

กลุ่มนักฟุตบอลสมัยใหม่จะได้รับการสอนเรื่องการใช้พื้นที่ว่าง (Space and Half-Space) ความสัมพันธ์ในการยืนตำแหน่งกับเพื่อนร่วมทีม การเคลื่อนที่ในสนาม และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงเรื่องของจิตวิทยาด้วย

 

เมื่อรู้และเข้าใจได้มากขึ้น มีจิตใจที่พร้อมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น นักฟุตบอลก็จะเล่นได้ดีขึ้น และทีมก็จะเล่นได้ดีขึ้นด้วยตามลำดับ นั่นหมายถึงการที่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีผู้นำในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป

 

คนที่เป็น ‘ศูนย์กลาง’ คือผู้จัดการทีมหรือโค้ช ที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดทุกสิ่งถึงลูกทีมทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

 

โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนจะต้องคำนึงร่วมกันคือ ‘อัตลักษณ์’ ของทีมว่ามองตัวเองแบบไหน อยากเล่นฟุตบอลอย่างไร ทำให้ได้ตามนั้นก็คือจบ

 

ดังนั้นสิ่งแรกที่เป๊ปทำหลังเข้ามารับหน้าที่คุมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คือการโละผู้นำแบบเดิมอย่างโจ ฮาร์ต ออกจากทีมทันที เพราะไม่ต้องการให้อดีตผู้รักษาประตูมือหนึ่งมีผลกระทบต่อทีมมากจนเกินไป

 

แต่ไม่ใช่ว่าทีมจะขาดผู้นำเลย เพียงแต่จะเปลี่ยนจากผู้นำเดี่ยวเป็นผู้นำกลุ่มแทน เหมือนที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แว็งซองต์ กอมปานี เป็นกัปตันทีม แต่ก็มี ดาบิด ซิลบา, แฟร์นันดินโญ, เซร์คิโอ อเกวโร เป็นผู้นำในทีมด้วย หรือแม้แต่ ราฮีม สเตอร์ลิง ก็ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของทีมเหมือนกัน

 

กลุ่มผู้นำเหล่านี้จะทำหน้าที่เหมือน ‘กาว’ ที่ประสานทุกอย่างให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นภาพผืนเดียวกัน และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

 

นอกจากเป๊ปแล้ว คนที่ทำในแบบเดียวกันคือเจอร์เกน คล็อปป์ กับลิเวอร์พูล และเมาริซิโอ โปเชตติโน กับท็อตแนม ฮอตสเปอร์ รวมถึงแกเร็ธ เซาธ์เกต กับทีมชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นกุนซือหัวสมัยใหม่ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในหลายปีที่ผ่านมา

 

Paul Pogba

 

สำหรับแมนฯ ยูไนเต็ด นอกจากดาบิด เด เคอา ที่เป็นเจ้าของปลอกแขน และป็อกบา พวกเขายังมี แฮร์รี แม็กไกวร์ ที่เป็นหนึ่งในนักเตะที่มีความเป็นผู้นำสมัยใหม่

 

ถึงเรื่องแบบนี้อาจจะขัดต่อความรู้สึกของคนที่รัก และรู้จักฟุตบอลมาอย่างยาวนาน แต่ข้อเท็จจริงคือโลกฟุตบอลได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากมาย

 

เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ บนโลกใบนี้ สิ่งที่เคยดีในวันวาน ไม่ได้แปลว่าจะดีในวันนี้

 

ว่าแต่มาลองคิดกันสนุกๆ ดีไหมครับว่า หากสมมติว่ารอย คีน ปรากฏตัวในยุคสมัยนี้

 

คิดว่าเขาจะยึดบอลจากแรชฟอร์ดไปยิงเอง หรือให้นักเตะที่ดูเก๋ากว่ายิง หรือว่าจะยกให้เจ้าหนูมาร์คัสเป็นคนทำหน้าที่เหมือนเดิมครับ 🙂

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พัก ตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X