×

ผู้นำฮ่องกง-นักวิเคราะห์เตือน เหตุประท้วงกระทบเศรษฐกิจระยะยาว เสี่ยงเกิดวิกฤตระลอกใหม่

13.08.2019
  • LOADING...
การประท้วงในฮ่องกง

แคร์รี ลัม หัวหน้าคณะบริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เตือนว่า กิจกรรมการประท้วงที่ผิดกฎหมายโดยอ้างสิทธิเสรีภาพกำลังทำลายหลักนิติธรรม และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยผลกระทบอาจรุนแรงกว่าวิกฤตในปี 2003 และ 2008 ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้ ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่า มีโอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรง หากวิกฤตการเมืองในฮ่องกงยังคงยืดเยื้อต่อไป

 

ลัม ซึ่งถูกผู้ประท้วงกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า “เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นจะผลักฮ่องกงลงสู่หนทางที่กลับคืนสู่สภาพเดิมไม่ได้อีก และจะฉุดสังคมฮ่องกงเข้าสู่สถานการณ์ที่น่าวิตกกังวลและอันตรายอย่างมาก

 

ก่อนหน้านี้ผู้นำฮ่องกงเตือนว่า การชุมนุมประท้วงกำลังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และอาจฉุด GDP ฮ่องกงชะลอตัวลงรุนแรงกว่าเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตโรคซาร์สระบาดในฮ่องกงเมื่อปี 2003 และอาจเลวร้ายกว่าตอนที่เผชิญกับวิกฤตการเงินในปี 2008

 

ทั้งนี้ ผู้ประท้วงหลายพันคนได้ปักหลักชุมนุมยึดท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงนาน 4 วัน ส่งผลให้สายการบินหลายแห่งต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออก รวมหลายร้อยเที่ยว ขณะที่สนามบินดังกล่าวมีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมคิดเป็น 5% ของ GDP ฮ่องกง

 

“สถานการณ์ในฮ่องกงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ฉันวิตกกังวลอย่างมากว่าจะถึงจุดที่เกิดสถานการณ์อันตราย” ผู้นำฮ่องกงกล่าว

 

ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่า วิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อหลังผู้ประท้วงชุมนุมปิดสนามบินเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมา เพราะนักลงทุนและผู้ประกอบการธุรกิจมองเห็นสัญญาณเตือนแล้วว่า ผู้ประท้วงไม่มีทีท่าว่าจะยอมถอยหรือประนีประนอมกับรัฐบาล หลังเดินหน้าจัดการชุมนุมและเดินขบวนประท้วงอย่างต่อเนื่องตลอด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ความกังวลในระยะสั้นคือ เศรษฐกิจฮ่องกงอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยจากปัจจัยความไม่สงบภายใน ประกอบกับความตึงเครียดของสงครามการค้าที่ฉุดยอดค้าปลีกของฮ่องกงชะลอตัวลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ และฉุดตลาดหุ้นฮ่องกงซึ่งมีมูลค่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลง

 

ส่วนผลกระทบในระยะยาวซึ่งใหญ่กว่าก็คือ สถานภาพการเป็นฮับพาณิชย์และการเงินที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ของฮ่องกงจะถูกทำลายโดยที่ไม่สามารถกอบกู้กลับคืนมาได้

 

รอรี กรีน นักเศรษฐศาสตร์แห่ง TS Lombard ในกรุงลอนดอน ให้ความเห็นว่า “ในระยะยาว วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อฐานะศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศของฮ่องกง”

 

ขณะที่ สตีเฟน เหลียง ผู้บริหารบริษัท Uob Kay Hian (Hong Kong) ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า “เหตุการณ์ไม่สงบในฮ่องกงกินเวลานานและรุนแรงกว่าที่ผมคิดไว้ ตราบใดที่เรามีเหตุการณ์ประท้วงทุกสัปดาห์ ไม่มีนักลงทุนคนไหนจะซื้อสินทรัพย์ในฮ่องกงหรอก”

 

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจฮ่องกงย่ำแย่ลงอีก หลังจากที่ GDP หดตัวลง 0.3% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ร่วงลงในเดือนกรกฎาคมแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2009 ซึ่ง ไอริส ปัง นักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคาร ING คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจฮ่องกงมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย 

 

ด้านกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนของพลเรือนฮ่องกง ประกาศว่า จะเดินหน้าจัดการประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ เพื่อกดดันให้ผู้นำลาออก และประกาศถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างถาวร

 

ขณะที่ หยาง กวง โฆษกสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า ระบุว่า การชุมนุมประท้วงโดยใช้ความรุนแรงเป็นอาชญากรรมร้ายแรง และเป็นการส่งสัญญาณถึงการก่อการร้าย

 

ท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนทำให้เกิดความกังวลว่า จีนอาจส่งกำลังทหารเข้ามาปราบปรามผู้ประท้วงอย่างเด็ดขาด โดยสื่อฮ่องกงรายงานว่า พบเห็นขบวนรถบรรทุกตำรวจติดอาวุธจอดประจำการอยู่ที่ศูนย์กีฬาในเมืองเซินเจิ้นใกล้กับชายแดนฮ่องกง ซึ่งเป็นสัญญาณว่า รัฐบาลจีนอาจเตรียมพร้อมเข้าแทรกแซงเหตุประท้วงโดยตรง หากสถานการณ์บานปลาย

 

ความกังวลเกี่ยวกับแนวทางการตอบโต้ผู้ประท้วงของรัฐบาลจีนสร้างความตื่นตระหนกในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นสายการบิน Cathay Pacific ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี เมื่อวานนี้ (12 ส.ค.) หลังหน่วยงานการบินพลเรือนจีนประกาศแบนพนักงานสายการบินที่มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการประท้วงไม่ให้บินเข้าจีนแผ่นดินใหญ่ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X