พรีเมียร์ลีกกำลังจะกลับมาลงสนามอีกครั้งในเช้ามืดวันที่ 10 สิงหาคมนี้ เวลา 02.00 น. ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องในสนามที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นพอสมควรกับการตระเตรียมขุมกำลังของทีมต่างๆ แล้ว ฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษที่เราผูกพันมาหลายสิบปีนี้ยังมีแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายที่อยากจะหยิบมาเล่าสู่กันฟังครับ
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและสังคมของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก (Premier League Economic and social impact) โดยรายงานฉบับดังกล่าวซึ่งจัดทำโดย EY หรือ Ernst and Young LLP มีรายละเอียดมากมายที่น่าสนใจ
อันดับแรกเลย รายงานเปิดเผยตัวเลขว่า พรีเมียร์ลีกนั้นทำรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือที่เรารู้จักกันดีตามข่าวว่า GDP มากถึง 7.6 พันล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยในยุคบาทแข็งยิ่งกว่าเพชรได้ประมาณ 2.81 แสนล้านบาท
ขณะที่ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ยังทำให้เกิดการจ้างงานในสหราชอาณาจักรมากถึง 100,000 ตำแหน่งด้วยกัน
บนโลกใบนี้มีถึง 188 ประเทศ ที่รับสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกครับ โดยมีการประเมินมูลค่าของค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดสูงถึง 9.2 พันล้านปอนด์ หรือ 3.4 แสนล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งในจำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ในสหราชอาณาจักร)
โดย SportBusiness Media มีการเปิดเผยครับว่า ในรอบการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกรอบนี้ (2019-2022) มูลค่าของค่าลิขสิทธิ์ในต่างประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 4.35 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 35 เปอร์เซ็นต์
แน่นอนครับว่า ตัวเลขขนาดนี้ทำให้พวกเขาเป็นอันดับหนึ่งของโลกแบบไม่ต้องคิดจะแข่ง และจากข้อมูลแล้ว พวกเขาเป็นรายการกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดของโลกมากกว่าลีกชาติอื่นๆ ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นบุนเดสลีกา, ลาลีกา, เซเรียอา, ลีกเอิง หรือแม้กระทั่งอเมริกันเกมส์อย่างเอ็นบีเอ, เอ็นเอฟแอล, เอ็มแอลบี หรือเอ็นเอชแอล ก็สู้ไม่ไหว
พรีเมียร์ลีกยังเป็น ‘ซูเปอร์แบรนด์’ ที่สำคัญต่อภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมอังกฤษ
สโมสรอย่างลิเวอร์พูลมีความหมายไม่ได้แตกต่างไปจาก แฮร์รี่ พอตเตอร์, เดอะโรลลิงสโตนส์ หรือโรลส์-รอยซ์
แฟนฟุตบอลมากมายทั่วโลกพร้อมจะเดินทางมาถึงอังกฤษ เพื่อโอกาสที่จะได้ตามติดทีมรักของตัวเองที่เคยได้ชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์สักครั้ง รวมถึงเหล่านักลงทุนที่สนใจจะมาลงทุนในธุรกิจฟุตบอล, นักเรียนที่อยากจะได้มาเรียนในประเทศที่บ้าคลั่งเกมลูกหนัง
อาจเรียกได้ว่า พรีเมียร์ลีกก็เป็น Soft Power ที่ทรงพลังอย่างมากต่อโลกใบนี้
ว่าแต่นอกจากเรื่องใหญ่ๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้พรีเมียร์ลีกไร้เทียมทาน
รายละเอียดเหล่านี้นอกจากเราจะไม่รู้ (แต่ถ้ารู้แล้วก็ถือว่าสุดยอดมากครับ) เราก็อาจจะไม่ทันได้สังเกตและคาดไม่ถึงว่าสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะมีความสำคัญได้มากถึงขนาดนี้
มีอะไรกันบ้าง? มาดูกันครับ
1. สีสันที่สดสวย
เคยสังเกตไหมครับว่าเวลาที่เราชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทำไมภาพมันจึงได้คมชัดและมีสีสันที่สดสวยราวกับเป็นภาพตัวอย่างที่เราจะไปยืนจ้องอยู่หน้าโทรทัศน์ตามแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า
หญ้าก็เขียว เสื้อทีมก็สีสดใส ทุกอย่างดู ‘เป๊ะ’ ไปเสียหมด
เรื่องนี้มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ นะครับ แต่เป็นรายละเอียดสำคัญที่พรีเมียร์ลีกทำได้ดีกว่าลีกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสดเกมในช่วงกลางวัน หรือจะเป็นแมตช์ในช่วงกลางคืน ภาพที่ปรากฏบนจอนั้นจะต้องออกมาดูดีทั้งหมด
ที่เป็นแบบนี้เพราะเรื่องของ ‘สีสัน’ นั้นมีความสำคัญต่อผู้ชมครับ โดยมีผลการสำรวจแล้วว่า ผู้ชมกว่า 90% จะตัดสินผลิตภัณฑ์โดยดูจากเรื่องของสีสันเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น ระหว่างการชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ทุกอย่างดูสวยงามสดใสไปหมด กับฟุตบอลเซเรียอาหรือลาลีกา ที่ออกมาทะมึนทึม มีโอกาสสูงกว่าที่ผู้ชมจะเลือกดูสิ่งที่สวยกว่าอย่างฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
เชื่อไหมครับว่าเคยมีข่าวถึงขั้นที่สโมสรในลาลีกาออกมาเรียกร้องขอให้มีการปรับสีพื้นหญ้าในสนามให้เขียวสดขึ้น เพื่อให้เป็นที่น่าดึงดูดใจไม่แพ้พรีเมียร์ลีก
2. เสียงดังฟังชัด
ในการชมการถ่ายทอดสด หนึ่งในสิ่งที่จะช่วยทำให้เกิดอรรถรสในการรับชม นอกจากภาพแล้วก็คือเสียงครับ (ก็แหงล่ะ เพราะรสและกลิ่นมันส่งออกมาไม่ได้!)
เสียงบรรยากาศจากในสนามจะช่วยเร้าความรู้สึกของผู้ชมได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเสียงหวดบอลกันดังตุ้บตั้บ เสียงสนับแข้งที่ปะทะกับปุ่มสตั๊ดที่ชวนรวดร้าว ไปจนถึงเสียงตะโกนสั่งการของผู้จัดการทีมข้างสนามที่โหวกเหวกฟังไม่ได้ศัพท์
และแน่นอน รวมถึงเสียงของกองเชียร์ในสนามที่ดังกระหึ่ม
ด้วยความใส่ใจของทีมงานพรีเมียร์ลีก (และความมีเงินถึงที่จะสามารถซื้ออุปกรณ์สำหรับบันทึกเสียงคุณภาพดีที่สุด) พวกเขาไม่ละเลยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ด้วยการกระจายไมโครโฟนไว้ตามจุดต่างๆ รอบสนามให้มากที่สุด
ดังนั้น ถึงในความเป็นจริงแล้ว บรรยากาศในสนามพรีเมียร์ลีก สมมติเช่น คิง เพาเวอร์ สเตเดียมอาจจะไม่ได้ดังเท่ากับสนามซิกนัล อิดูนา ปาร์กของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ในเยอรมนีที่จุผู้ชมได้เกือบแสนคน แต่ทีมงานของพรีเมียร์ลีกก็สามารถ ‘เสก’ ให้บรรยากาศในคิง เพาเวอร์ สเตเดียมยิ่งใหญ่เหมือนสมรภูมิเฮล์มส์ดีพในภาพยนตร์เรื่อง The Lord of the Rings ได้
3. สตอรีมากมี
ต้นทุนสำคัญที่สุดของพรีเมียร์ลีกที่ไม่สามารถประเมินค่าได้คือ ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘วัฒนธรรม’
การที่สโมสรแต่ละแห่งก่อตั้งมายาวนานมากกว่า 100 ปี โดยที่ยังสามารถดำรงอยู่ได้ นั่นหมายถึงพวกเขามี ‘สตอรี’ มากมายที่จะนำมาใช้ในการตกแต่งให้พรีเมียร์ลีกมีความน่าติดตามชม
เรื่องราวที่ไม่ว่าจะเป็นความยิ่งใหญ่แต่เดิมของสโมสร ไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเมือง (ลิเวอร์พูล-แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), ความขัดแย้งภายระหว่างแคว้น (ลีดส์-แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), ความขัดแย้งภายในเมือง (อาร์เซนอล-ท็อตแนม ฮอตสเปอร์) เรื่อยไปจนถึงความเป็นปฏิปักษ์กันแห่งยุคสมัย (อาร์เซนอล-แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในยุค อาร์เซน เวนเกอร์ กับ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หรือลิเวอร์พูล-แมนเชสเตอร์ ซิตี้ในปัจจุบัน)
สตอรีเหล่านี้ทำให้เราพร้อมที่จะจับจองพื้นที่บนโซฟา เพื่อจะติดตามเกมเหล่านี้ไปด้วย ซึ่งบางครั้งผลการแข่งขันในเวลาก็อาจจะไม่มีความหมายเท่าสตอรีเหล่านี้ก็ได้
ความสนุกอีกอย่างของพรีเมียร์ลีกคือ การที่เรามักจะคาดเดาผลการแข่งขันได้ยากมาก (ยกเว้นแมนเชสเตอร์ ซิตี้ของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา) นั่นทำให้ต่อให้ไม่ใช่เกมที่เป็นการพบกันของคู่ปฏิปักษ์ มันก็อาจจะมีจุดพลิกผันที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เสมอ
การชมพรีเมียร์ลีกจึงเหมือนการที่เราได้นั่งชมภาพยนตร์ 10 เรื่องในทุกสัปดาห์ (โดยที่ไม่มีใครจะสามารถมาสปอยล์ตอนจบได้ด้วย) จะสนุกบ้าง ไม่สนุกบ้าง เหนือจินตนาการบ้าง เราก็พร้อมจะนั่งดูโดยไม่เบื่อ
4. วิเคราะห์บอลแบบจริงจัง
ความสนุกในการชมฟุตบอลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ 90 นาทีของการแข่งขันครับ มันมากกว่านั้น
30 นาทีก่อนแข่ง 15 นาทีระหว่างพักครึ่ง และอีก 30 นาทีหลังแข่งขัน ก็เป็นช่วงเวลาที่บันเทิงไม่แพ้กัน สำหรับคนที่รักเกมฟุตบอล เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่เราจะได้มีการ ‘ถกเถียง’ ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วของเกมการแข่งขัน
การวิเคราะห์ฟุตบอลจึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญมาก บางครั้งการวิเคราะห์ที่ดี ต่อให้เกมไม่มีอะไร ก็อาจจะทำให้เหมือนมีอะไรได้
จุดนี้เป็นจุดที่พรีเมียร์ลีกเก่งมากครับในการสร้างความรู้สึกให้อยากติดตามเกมฟุตบอล โดยสตูดิโอกลางของอังกฤษ (ซึ่งทราบข่าวว่า ในปีนี้เราจะได้ชมการวิเคราะห์จากสตูดิโออังกฤษในการถ่ายทอดสดทางทรู วิชั่นส์ด้วย) จะมีทีมวิเคราะห์ที่เป็น Football Pundit คือเป็นผู้รู้จริงๆ มาวิเคราะห์เกมให้เราเห็นเป็นฉากๆ
หากยังจำกันได้ในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้า หนึ่งในผู้วิเคราะห์ที่เทพสุดๆ คือ เธียร์รี อองรี ที่สามารถทำให้ผู้ชมได้เห็นสิ่งที่อาจไม่ทันสังเกตในจังหวะการเล่นต่างๆ ได้อย่างเหลือเชื่อ จนถูกนำมาตัดเป็นไวรัลคลิปในโลกโซเชียล
การจะวิเคราะห์ได้แบบนี้ไม่ใช่นั่งอ่านข่าวฟุตบอลทุกวันแล้วจะทำได้ครับ มันต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ในเกมระดับนี้มาอย่างโชกโชนจริงๆ จึงจะวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างเฉียบขาด
ไม่ใช่ชื่อนักฟุตบอลยังจำไม่ได้ เรียกไม่ถูก เลือก Scenario มาวิเคราะห์ไม่ดี ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องศาสตร์ลูกหนัง ไม่ได้ให้ความรู้ใหม่ๆ แก่ผู้ชม
ในขณะที่ลีกอื่นไม่ได้มีสตูดิโอวิเคราะห์แบบจริงจังในระดับนี้ (หรือถ้ามีก็เป็นของผู้ได้รับลิขสิทธิ์ของแต่ละชาติ) ตรงนี้คือข้อได้เปรียบ และนำไปสู่ Engagement ของแฟนบอลที่พร้อมจะติดตามพรีเมียร์ลีก
ไม่ว่าจะพยักหน้าหงึกๆ เพราะเห็นด้วย หรือตะโกนโหวกเหวกเพราะไม่เห็นด้วยบนหน้าจอ หรือจะลามไปสู่การแสดงความคิดเห็นบนโลกโซเชียลก็ตาม
5. ช่วงเวลาดีๆ
เรื่องเล็กๆ สุดท้าย แต่สำคัญคือ เรื่องของเวลาการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
แต่เดิมฟุตบอลในอังกฤษจะลงสนามกันในเวลาบ่าย 3 โมงของวันเสาร์ (เป็นที่มาของคำว่า When Saturday Comes) ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองสำหรับตลาดใหญ่ในเอเชีย เพราะจะอยู่ในช่วงหัวค่ำ 1-3 ทุ่ม และจะเป็นช่วงเช้าของตลาดทางอเมริกา
อย่างไรก็ดี เพื่อให้แฟนบอลทั่วโลกได้ติดตามพรีเมียร์ลีกอย่างทั่วถึง (และไม่ทรมานเกินไป) ทำให้มีการเริ่มกระจายเวลาแข่งขัน เริ่มจากเที่ยงวันที่อังกฤษ (หรือเย็นๆ บ้านเรา) ล่าสุดคือมีแมตช์รอบค่ำของเกมสุดสัปดาห์ รวมถึงเกมในคืนวันศุกร์ที่เพิ่มขึ้นมาด้วย
เรียกว่าในแต่ละสัปดาห์ หรือ Matchweek จะมีสลอตเวลาของพรีเมียร์ลีกกระจายเต็มไปหมด เรียกว่าต้องมีสักช่วงแหละที่จะได้นั่งดูพรีเมียร์ลีก
พรีเมียร์ลีกเป็นลีกแรกๆ ที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขณะที่ลีกอื่น อย่างเช่น ลาลีกาหรือเซเรียอาเพิ่งจะเริ่มทำตามได้ไม่กี่ปีเท่านั้น (4-5 ปีก่อน ลาลีกายังเตะกันช้าตามประสาคนสเปนที่กว่าจะได้ดูในบ้านเราก็เกือบสว่าง) ทำให้พวกเขาเข้ากุมพื้นที่หัวใจแฟนบอลทั่วโลกเอาไว้ได้
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญที่ทำให้พรีเมียร์ลีกยังเป็น The Greatest Show on Earth ที่หนึ่งในใจของแฟนบอลทั่วโลก ไม่ว่าจะวันนี้หรือวันไหน
ส่วนใครจะเชียร์ทีมอะไร ตั้งเป้าหมายเอาไว้ขนาดไหน?
ขอให้โชคดีมีชัยทุกท่านตลอดฤดูกาลที่ยาวนาน 10 เดือนนี้นะครับ 🙂
ป.ล. ทีมผมรอมา 30 ปีแล้วครับ…
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- ด้วยมูลค่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกนอกประเทศที่สูงถึง 4.35 พันล้านปอนด์ ทำให้รายได้จากส่วนนี้คิดเป็น 46% ของรายได้ทั้งหมด และกลายเป็นจุดที่เริ่มมีความกังวล เพราะตามข้อตกลง รายได้จากลิขสิทธิ์นอกประเทศจะไม่ถูกแบ่งอย่างเท่าเทียมเหมือนรายได้จากลิขสิทธิ์ในประเทศ โดยจะแบ่งตามผลงานที่แต่ละทีมทำได้ ซึ่งนั่นหมายถึงทีมในระดับ Top 6 จะมีโอกาสมีรายได้มากกว่าทีมรองลงไปถึง 80 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล
- แต่พรีเมียร์ลีกก็เจอสัญญาณอันตรายเช่นกันในเรื่องมูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในเอเชีย ที่การประมูลรอบนี้ลดลงอย่างมากในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฮ่องกง รวมถึงลาว กัมพูชา และไทย (นับเป็นหนึ่งตลาด)
- ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกในรอบนี้ของไทยเปลี่ยนมือจากบีอิน สปอร์ตส์ ผู้ให้บริการจากกาตาร์ กลับมาอยู่ที่ทรู วิชั่นส์ ที่จะถ่ายทอดสดครบ 380 นัดตลอดฤดูกาล
- ขณะที่ลิขสิทธิ์ส่วนของฟรีทีวี (ซึ่งเป็นเงื่อนไขของพรีเมียร์ลีกที่ทุกประเทศจะต้องมีฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้ดูทางฟรีทีวีคู่กับเพย์ทีวี) อยู่กับสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ที่จะถ่ายทอดสดประมาณ 28-30 นัดตลอดฤดูกาล
- สิ่งที่น่าสนใจคือ พรีเมียร์ลีกยังไม่ได้รับผลกระทบจากยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยี FAANGS (Facebook, Apple, Amazon, Netflix และ Google) มากนัก โดยในอังกฤษ Amazon ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ‘แพ็กเล็ก’ ส่วนนอกอังกฤษไม่มี FAANGS เจ้าใดที่ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเลย (ในไทย ลาว กัมพูชา Facebook เคยประมูลคว้าลิขสิทธิ์ได้ แต่ไม่สามารถตกลงบางประการกับพรีเมียร์ลีกได้ ทำให้การเจรจาล่ม)
- เทรนด์ใหม่ของสโมสรในพรีเมียร์ลีกคือ การที่แต่ละทีมกลับมาโฟกัสในการผลักดันดาวรุ่งของสโมสรขึ้นมาแทนการทุ่มเงินซื้อสตาร์ผู้เล่นที่ใช้เงินมากมายมหาศาลจากค่าตัวที่เฟ้ออย่างน่าตกใจใน 2 ปีที่ผ่านมา
- กระนั้นตัวเลขการใช้จ่ายในตลาดฤดูร้อนจนถึงวันสิ้นสุดตลาดเมื่อคืนวันที่ 8 สิงหาคม ยอดสูงถึง 1.41 พันล้านปอนด์ ใกล้เคียงสถิติสูงสุดเมื่อปี 2017 ที่ทำไว้ 1.47 พันล้านปอนด์