×

อวสาน LTF สู่การเกิดใหม่ของ SEF นักลงทุนควรรู้อะไรบ้าง

โดย SCB WEALTH
08.08.2019
  • LOADING...
SEF fund

HIGHLIGHTS

  • สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่ากองทุนที่จะมาแทนที่ LTF ที่กำลังจะหมดอายุลงภายในสิ้นปี 2562 คือกองทุน SEF ทำให้เกิดคำถามมากมายจากนักลงทุนว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
  • กองทุน SEF ต่างกับ LTF อย่างไร ถือ LTF ไว้จำเป็นต้องขายทิ้งไหม แล้ว บลจ. ต่างๆ จะลอยแพเราหรือไม่ นี่คือคำถามที่หาคำตอบได้ในบทความนี้ 

ข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับกองทุนที่มาแทน LTF หลังจากสิ้นปี 2562 ไปเริ่มจะชัดเจนขึ้น เมื่อ FETCO หรือสภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้ออกมาเปิดเผยว่า กองทุนที่จะมาทดแทน LTF ในอนาคต จะมีนโยบายในการลงทุน 65% ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บวกกับหุ้นที่มีความยั่งยืน และมีธรรมาภิบาล ส่วนที่เหลืออีก 35% ก็แล้วแต่ทางผู้จัดการกองทุนจะเลือกเข้ามา

 

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ นักลงทุนคงมีคำถามขึ้นมาในใจหลายข้อ เราจะค่อยๆ ไล่กันไปทีละข้อ เพื่อตอบคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลัง LTF หมดอายุไป และอาจกลายเป็น SEF มาแทนที่คืออะไร

 

กองทุน SEF ต่างจาก LTF อย่างไร

หลักๆ เลยคือเรื่องนโยบายการลงทุน กอง LTF ต้องลงทุนในหุ้นไทยอย่างน้อย 65% ที่เหลือจะเป็นตราสารหนี้หรือหุ้นก็ได้ แต่ SEF ต้องลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บวกกับหุ้นที่มีความยั่งยืน และมีธรรมมาภิบาล 65%

 

ถัดมา จะเป็นเรื่องของเพดานในการซื้อ LTF ที่สามารถซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้หรือไม่เกิน 500,000 บาท ขณะที่ SEF จะเพิ่มเพดานมาที่ 30% แต่จำนวนเงินที่สามารถซื้อได้จะไม่เกิน 250,000 บาท หรือสรุปง่ายๆ ว่า ผู้ที่รายได้สูงจะลดหย่อนภาษีได้น้อยลง ผู้ที่รายได้ยังไม่สูงมากจะใช้สิทธิลดหย่อนได้มากขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีรายได้ 600,000 บาท เดิมจะซื้อ LTF ได้ไม่เกิน 90,000 บาทต่อปี แต่ถ้าเป็น SEF ในปีหน้า จะสามารถซื้อได้ถึง 180,000 บาทต่อปี 

 

ในทางกลับกัน สำหรับผู้ที่มีรายได้สูงในระดับ 4,000,000 บาทต่อปี จะสามารถซื้อ LTF ได้ 500,000 บาท (4,000,000 x 15% = 600,000 บาท แต่ซื้อได้ไม่เกินลิมิตที่ 500,000 บาท) แต่ถ้าเป็น SEF จะซื้อได้เพียง 250,000 บาท ระยะเวลาการถือครองยังเหมือนเดิมคือ 7 ปีปฏิทิน

 

LTF ยกเลิกปีนี้แล้ว ยังซื้อ LTF ได้อีกไหมในปีนี้

คำถามนี้เป็นเรื่องที่หลายคนสับสน คนจำนวนมากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยด้วย คิดว่า LTF ไม่สามารถซื้อได้แล้วในปีนี้ 

 

ดังนั้นขอย้ำว่ายังซื้อได้เหมือนเดิม แต่ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่สามารถซื้อ LTF ได้ ซึ่งหลังจากที่พ้นปี 2562 ไปแล้ว จะไม่สามารถซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีได้อีก

 

พ้นปี 2562 ไปแล้ว กอง LTF จะหายไปจากตลาดไหม และเราจะต้องขายหรือเปล่า

กอง LTF ที่มีอยู่ในตลาด จะยังอยู่เหมือนเดิม แต่คงจะไม่มีเม็ดเงินไหลเข้าไปแล้วในปีหน้า 

 

คนที่ซื้อไปแล้วก็ไม่ต้องกังวลใจอะไรไป ทาง บลจ. จะยังบริหารเงินให้เราอยู่เหมือนเดิม ไม่โดนลอยแพ แต่ขนาดของกองทุนคงจะค่อยๆ ลดลงจากการขายของนักลงทุนที่ถือครองจนครบเงื่อนไขการลงทุน รวมไปถึงนักลงทุนบางคนที่อาจจะลงทุนมานานกว่าที่เงื่อนไขกำหนด แต่พอใจในกำไรแล้วหรือมีวัตถุประสงค์อื่นๆ ในการใช้เงิน

 

ส่วนคำถามที่ว่า จะต้องขาย LTF ไหม ขึ้นอยู่กับนักลงทุนแต่ละท่าน ถ้าต้องการที่จะคงการลงทุนไว้เพื่อเป็นเงินที่จะใช้ในยามเกษียณก็สามารถถือต่อไปได้ แต่ถ้าถือแล้วไม่สบายใจ อาจจะมาจากตัวเราเองที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็อาจจะขายออกไปก็ได้ 

 

แต่ก่อนที่เราจะขาย LTF ออก อย่างแรกที่เราจะต้องเช็กก่อนเลยคือ เราลงทุน LTF ครบกำหนดตามเงื่อนไขหรือยัง ถ้าผิดเงื่อนไข ส่วนต่างกำไรจะถูกนำไปรวมเป็นรายได้ในปีที่ขาย รวมถึงต้องคืนผลประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับจากการซื้อในครั้งนั้น และจะโดนปรับจากทาง บลจ. ด้วย

 

ความเอาใจใส่ของผู้จัดการกองทุนที่มีต่อกองทุน LTF จะลดลงไปไหมหลังปี 2562

เป็นอีกเรื่องที่ไม่ต้องกังวลใจอะไรไป นโยบายการลงทุนของกองทุน LTF ของแต่ละ บลจ. นั้น มักจะคล้ายๆ กับนโยบายการลงทุนของกองทุนเปิดที่ไม่ได้มีคุณสมบัติในการลดหย่อยภาษีได้ เมื่อผู้จัดการกองทุนมีการปรับพอร์ตกองทุนแบบปกติแล้ว ก็จะมาปรับที่กองทุน LTF ด้วย ย้ำอีกครั้งว่าไม่โดนลอยแพ แต่ถ้านักลงทุนไม่สบายใจ ก็แนะนำให้ลงทุนในกองทุน LTF แบบ Passive หรือ Index Fund ที่ลงทุนตามดัชนี เช่น LTF ที่ลงทุนตามดัชนี SET SET100 และ SET50 ที่จะเคลื่อนไหวไปตามดัชนีอ้างอิง

 

ในปีปฏิทิน 2563 นักลงทุนจะเลือกซื้อ SEF อย่างไร รวมไปถึงกลยุทธ์ในการลงทุน

เชื่อว่านักลงทุนหลายๆ ท่านคงมีธนาคารและ บลจ. ในดวงใจ ก็สามารถเลือกซื้อกอง SEF ที่เหมาะสมกับความเสี่ยง และความชอบส่วนตัวของเรา นอกจาก 65% ที่ต้องลงทุนในหุ้นที่มีความยั่งยืนสูง และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับส่วน 35% ที่เหลือ บางกองอาจจะมีผสมหุ้นตัวใหญ่ หุ้นตัวเล็ก REITs หรือตราสารหนี้ เข้ามาเพิ่มเติมไม่เหมือนกัน แล้วแต่ที่ทาง บลจ. จะออกแบบมา การเลือกซื้อคงไม่ต่างจากตอนซื้อ LTF เท่าใดนัก

 

สำหรับกลยุทธ์ในการลงทุน เท่าที่ผู้เขียนได้สัมผัสมาจากคนใกล้ตัว หลายคนชอบซื้อกองทุนสำหรับลดหย่อนภาษีในช่วงปลายปี มองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ได้ผิดอะไร แต่นักลงทุนยังสามารถเลือกกลยุทธ์อื่นๆ ได้อีก เช่น ลงทุนเป็นจำนวนเงินเท่าๆ กันทุกเดือน หรือ DCA ขาดเหลือยังไงค่อยมาซื้อเพิ่มเติมตอนช่วงปลายปี หรือซื้อเป็นก้อนๆ เวลาที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลง หรือที่เรียกว่าทยอยซื้อระหว่างปี

 

ธนาคารและสถาบันการเงินต้องทำอะไรบ้างนับจากวันนี้

สิ่งที่ธนาคารและสถาบันการเงินจะต้องทำหลังจากนี้ เมื่อตัว SEF ออกมาเป็นพระราชบัญญัติแล้ว จะต้องมีการให้ความรู้กับผู้แนะนำการลงทุน เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูกค้า ทำการสื่อสารในสื่อกระแสหลัก รวมถึงโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับ LTF ว่ายังซื้อต่อไปได้ในปี 2562 และ SEF คืออะไร เหมือนหรือต่างจาก LTF อย่างไรบ้าง ทางด้าน บลจ. ก็จะต้องเตรียมออกแบบกองทุนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรองรับนักลงทุนในปี 2563

 

อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามกันต่อไปว่าอนาคตของ SEF จะสามารถเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เพราะเบื้องต้นยังคงเป็นเพียงข้อเสนอของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ที่ให้ข้อมูลกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น และยังไม่มีการตกลงกันในรายละเอียดว่าข้อสรุปที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้เป็นอย่างไร 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising