×

หมดยุคน้ำมัน! ค่ายรถยนต์ดังแห่เปิดตัว ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ในงานแฟรงก์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์

14.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ค่ายยักษ์ใหญ่ในเยอรมนี BMW, Mercedes-Benz และ Volkswagen ต่างยกทัพเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในงาน Frankfurt International Auto Show รอบสื่อมวลชน
  • การที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกหันมาให้ความสำคัญกับการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า อาจเป็นการส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลกที่กำลังเบนเข็มจาก ‘น้ำมัน’ มาสู่ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ อย่างเต็มรูปแบบ
  • ปีที่แล้วจีนทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้มากกว่าอเมริกาเป็นเท่าตัว โดยมีจำนวนรถยนต์อีวีที่จดทะเบียนราว 352,000 คัน รัฐบาลจีนยังประกาศเตรียมห้ามผลิตและขายรถยนต์น้ำมันในอนาคตอีกด้วย

     รอบสื่อของ Frankfurt International Motor Show หรือ IAA งานแสดงรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกเริ่มต้นขึ้นแล้วในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ก่อนที่จะเปิดให้สาธารณชนเข้าชมกันตั้งแต่วันที่ 16-24 ก.ย. นี้ ท่ามกลางแสงแฟลชและเสียงฮือฮาจากสื่อมวลชน โดยมีเสียงประท้วงของนักเคลื่อนไหวดังอยู่ภายนอก

 


     ไฮไลต์ของปีนี้ตกเป็นของ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ที่ค่ายรถยนต์ชั้นนำได้ยกทัพเปิดตัวคอนเซปต์และโฉมหน้าของรถยนต์ไฟฟ้ากันคึกคัก กระทั่งเยอรมนีซึ่งเป็นผู้นำด้านยนตรกรรม และแหล่งผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกก็ยังตอบรับกระแสพลังงานทางเลือกที่มุ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรป
     ขณะเดียวกัน (12 ก.ย.) นักกิจกรรมจากกลุ่ม Greenpeace ได้รวมตัวกันประท้วงหน้าทางเข้างาน IAA เรียกร้องให้ค่ายรถยนต์ยกเลิกการใช้น้ำมันที่ทำลายโลก พร้อมชูป้ายต่อต้าน ‘หมดยุคของน้ำมันแล้ว’
     หรือนี่จะเป็นสัญญาณว่าตลาดยานยนต์ของโลกอนาคตกำลังจะไร้ ‘น้ำมัน’

 


ค่ายยักษ์หนุนรถยนต์ไฟฟ้า
     เริ่มจาก Mercedes-Benz เปิดตัว GLC F-Cell รถยนต์ไฮโดรเจนฟิวเซลรุ่นแรกที่รองรับการเสียบปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าหรือปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid: PHV) ทางบริษัทได้แถลงว่า (12 ก.ย.) กำลังอยู่ในขั้นตอนทดสอบก่อนการผลิตจริง GLC F-Cell สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่และไฮโดรเจน แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ใช้เวลาชาร์จประมาณ 1-1 ชั่วโมงครึ่ง วิ่งได้ระยะทาง 30 ไมล์ พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะบุกตลาดสหรัฐฯ ในปี 2019 หวังแข่งกับ Honda และ Toyota ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารถยนต์ไฮโดรเจนราคาแพงระยับ ไหนจะมีข้อจำกัดทางการใช้งานมากเกินไป และจำนวนสถานีชาร์จไม่เพียงพอ

 


     ค่าย Volkswagen เผยโฉมใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าบนเวทีมอเตอร์โชว์ และประกาศเดินหน้าภารกิจใหญ่ของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว ทั้งหมด 300 รุ่น ภายใต้แบรนด์ในค่าย 12 แบรนด์ ภายในปี 2030 หวังช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 20,000 ล้านยูโร หรือราว 24,000 ล้านดอลลาร์ ปรับปรุงฐานการผลิต เพิ่มโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอีก 2 แห่ง เทรนพนักงาน และลงทุนกับแบตเตอรี่ไฟฟ้าประมาณ 50,000 ล้านยูโร
     อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนยังคงตั้งคำถามกับความมุ่งมั่นของ Volkswagen ที่จะผลักดันรถไฟฟ้าสู่บรรทัดฐานใหม่ของค่ายผลิตรถยนต์ทั่วโลก หลังจากกรณีที่บริษัทล้ำเส้น โกงการทดสอบค่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเป็นข่าวครึกโครมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ส่งผลให้ผู้บริโภคบางกลุ่มหันมาต่อต้านรถยนต์ไฟฟ้าของ Volkswagen หุ้นบริษัทดำดิ่ง จนมาร์ติน วินเทอร์คอร์น ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
     “เราได้ริเริ่มทำข้อตกลงร่วมกับ Porsche, Mercedes-Benz, BMW และ Ford ในการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าบนทางหลวงในยุโรป และจะเริ่มติดตั้งในปีหน้า ผมคิดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2020” แมตเธียส มุลเลอร์ ซีอีโอคนปัจจุบัน Volkswagen กล่าว
     “ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ของเราได้ และเราจะเป็นผู้นำในครั้งนี้”

 


     BMW อีกหนึ่งค่ายยักษ์ใหญ่แห่งเยอรมนี ยกทัพรถยนต์ต้นแบบสุดหรู i Vision Dynamics สไตล์แกรนด์คูเป ร่วมด้วยรถรุ่นใหม่และเวอร์ชันปรับโฉม เช่น i3 และ i3S ตอกย้ำทิศทางของ BMW ที่จะมุ่งสู่อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า ที่สำคัญรถยนต์ต้นแบบคันนี้ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วน สามารถวิ่งได้ไกล 600 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นคู่แข่งสำคัญของ Tesla ทีเดียว

 


     BMW ยังเปิดตัวรถไฟฟ้าต้นแบบของ Mini ที่หมายมั่นจะเริ่มผลิตภายในปี 2019 แม้จะยังไม่เปิดเผยรายละเอียดมากนัก แต่ดีไซน์น่ารักที่แฝงความโฉบเฉี่ยวก็เรียกคะแนนความสนใจได้พอสมควร
     “ผมคิดว่าสารจากการแข่งขันระหว่างบรรดาค่ายรถยนต์ที่ส่งออกไปมันน่าสนใจ เพราะหลายค่ายกำลังพูดว่า ‘ใน 2 ปี 3 ปีข้างหน้า เราจะทำสิ่งนี้’ นอกจากเราแล้ว ยังมีอีก 9 ค่ายร่วมลงสนามรถยนต์ไฟฟ้า ปีนี้เราวางแผนจะทำยอดขายให้ได้ 100,000 คัน และเรากำลังไปได้ดีด้วย กล่าวได้ว่า BMW ได้ก้าวไปสู่อีกขั้นแล้ว” เอียน โรเบิร์ตสัน กรรมการบริหารบริษัทกล่าว
     บริษัทยังประกาศว่าจะส่งรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด 25 รุ่น สู่ตลาดในปี 2025 โดย 12 รุ่นจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ


     ทางด้าน Honda ปีนี้ยังคงตอกย้ำวิสัยทัศน์ด้านรถยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต โดยส่งรถต้นแบบ Urban EV ขึ้นเวที ซึ่งเคยเผยโฉมไปแล้วต้นปี ในงานมอเตอร์โชว์ที่เมืองเจนีวา ปัจจุบันกำลังเดินหน้าผลิตจริง และเตรียมบุกตลาดยุโรปในปี 2019 โดยคาดว่ารถไฟฟ้าที่ Honda ส่งป้อนตลาดยุโรปน่าจะมีทั้งในรูปแบบไฮบริด ปลั๊กอิน และรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
     บริษัทยังตั้งเป้าว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสู่ตลาดโลก คิดเป็น 2 ใน 3 ของสัดส่วนรถยนต์รุ่นใหม่ทั้งหมดภายในปี 2030 ตามที่ทากาฮิโระ ฮาจิโกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Honda ได้แถลงในงาน
     นอกเหนือจากนี้ยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่เข้าร่วมขบวนนี้ด้วย เช่น Audi และ Nissan
     ปรากฏการณ์รถยนต์ไฟฟ้าครองเวทีงานมหกรรมแสดงรถยนต์และช่วงชิงพื้นที่สื่อทั่วโลก สะท้อนถึงความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะในยุโรป สำนักข่าว Reuters รายงานว่า สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป (ACEA) ได้ยื่นข้อเสนอที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซไดออกซินที่เป็นอันตรายจากรถยนต์โดยสาร 20% ภายในปี 2021 เป็นต้นไป ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาถึงปี 2030 กว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะแพร่หลายในตลาด
     อีกทั้งยังสอดคล้องกับทิศทางของสหภาพยุโรปที่ต้องการจะก้าวไปสู่อนาคตของพลังงานทางเลือก ก่อนหน้านี้อังกฤษและฝรั่งเศสได้ประกาศเตรียมแบนรถยนต์ที่ใช้นำมันเบนซินและดีเซลภายในปี 2040 เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศตามนโยบายพลังงานสะอาด ขณะที่ฝรั่งเศสตั้งเป้าเป็นชาติปลอดคาร์บอนภายในปี 2050 (อ่านต่อ)

 

 

จีนกับบทบาทเจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
     ไม่ใช่แค่ฝั่งยุโรปเท่านั้น เพราะแม้แต่เจ้าตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนเพิ่งจะประกาศเตรียมวางแผนห้ามผลิตและซื้อขายรถยนต์พลังงานน้ำมันเบนซินและดีเซล ตามอังกฤษและฝรั่งเศสเช่นกัน ทั้งนี้ รัฐบาลจีนตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริดให้เป็น 8% ในปี 2018 (อ่านต่อ) ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ว่าได้
     ปีที่ผ่านมา มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าอีวีที่จดทะเบียนในจีน จำนวน 352,000 คัน มากกว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนของรถยนต์อีวีที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา 159,000 คันในระยะเวลาเดียวกัน โดยนักการตลาดวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะคนจีนรุ่นใหม่หันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ส่งผลให้จีนกลายเป็นตลาดรถอีวีอันดับหนึ่งของโลก และน่าจะทำให้ค่ายรถในอเมริกาและยุโรปหันมาลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคจีน
     แต่จีนก็กำลังพุ่งความสนใจมาที่ยุโรปซึ่งเป็นตลาดใหญ่เช่นกัน ปัจจุบันค่ายรถยนต์ในจีนก็เร่งเครื่องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อบุกตลาดโลก แถมยังเข้าซื้อกิจการผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เป็นจำนวนมาก และมีท่าทีชัดเจนว่าสนใจ Fiat Chrysler ค่ายรถยนต์จากอิตาลี ซึ่งมีฐานการผลิตและครองส่วนแบ่งตลาดในจีนอยู่ขณะนี้
     นอกจาก ‘รถ’ แล้ว จีนยังเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ด้านสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในยุโรปยังประมาณการว่าปัจจุบันค่ายรถยนต์ในยุโรปซื้อแบตเตอรี่จากจีน คิดเป็นเงินประมาณ 4,000-7,000 ยูโร สำหรับรถไฟฟ้า 1 คัน

 


โอกาสของไทยในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์
     อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังไม่ปรากฏความชัดเจน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก เป็นโอกาสที่น่าจับตา
     อีไอซี คาดการณ์ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ ADAS และ In-Vehicle Infotainment เป็นกลุ่มที่น่าจะเติบโตเร็วที่สุด เนื่องจากค่ายรถยนต์มีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะข้อบังคับด้านความปลอดภัยและมาตรฐานไอเสียรถยนต์ เช่น มาตรฐานความปลอดภัย IIHS ของสหรัฐฯ และ JNCAP ของญี่ปุ่น ตลอดจนมาตรฐานไอเสีย Euro 6 ของยุโรป
     ขณะที่กลุ่มรถที่ใช้ระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า (Electrified Powertrains) มีแนวโน้มเติบโตขึ้นชัดเจนใน 3-5 ปี ดังนั้น ชิ้นส่วนที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และลดไอเสียให้น้อยลงจะเป็นที่ต้องการในตลาดเช่นกัน ดังที่ Gartner คาดการณ์ว่า รายได้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ Semiconductor จากรถที่ใช้ระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดจะโตถึง 10.8% ในขณะที่ชิ้นส่วนระบบส่งกำลังก็จะโตปีละ 5.2% จนถึงปี 2020

 

Photo: Daniel ROLAND, Tobias SCHWARZ/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X