(20 ก.ค. 2562) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วม ศอ.บต. และภาคเอกชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า หลังจากการรับฟังปัญหาของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทราบว่ามีปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องพืชผลทางการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ลองกอง และในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ มีลักษณะเพิ่มเติมคือเรื่องของผลไม้ อาทิ ทุเรียน ลองกอง ซึ่งลองกองจะออกพร้อมกันในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการตลาด ตนจึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลแล้ว ไม่ต้องรอให้ลองกองล้นตลาดแล้วค่อยมาคิดหาวิธีแก้ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูลู่ทางในการระบายลองกองไปทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนประมง สภาพปัญหาคือทำอย่างไรให้การประมงทั้ง 4 ภาคส่วน คือ 1. ประมงพื้นบ้าน 2. ประมงพาณิชย์ 3. การแปรรูปอาหารทะเล และ 4. การส่งออก สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยตนได้เสนอกฎหมาย 2 ฉบับคือ 1. พระราชบัญญัติสภาการประมงแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะแก้ปัญหา และร่วมตัดสินใจร่วมกัน 2. พระราชบัญญัติการจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์ทะเลไทยเพื่อการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืน บรรจุเข้าไว้ในนโยบายของรัฐบาลแล้ว
จุรินทร์กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการค้าและการลงทุน ประเด็นคือการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และสนับสนุนให้ครบวงจรตั้งแต่การผลิต แปรรูป และส่งออก รวมทั้งการตลาดด้วย หากบริหารจัดการประสบผลสำเร็จ ก็เท่ากับเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
อีกประการหนึ่ง การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ถือว่าทำตัวเลขได้สูงสุดเมื่อเทียบกับชายแดนอื่น (ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม) ถ้าสามารถทำให้คึกคักได้ และเพิ่มยอดได้ ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มยอดการส่งออกของไทยไปในตัว
“เชื่อว่าการค้าไทย-มาเลเซียมีอุปสรรคบางประการ ตนได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปว่า ต้องจัดเวทีระดมความคิดจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งฝั่งไทย ส่วนราชการ เอกชน และฝั่งมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาแนวทางเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าของสองประเทศ และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของฝั่งประเทศไทยไปในตัวด้วย”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์