แสงแดดในช่วงเวลากลางวัน นอกจากจะทำให้เหงื่อไหลไคลย้อยแล้ว ยังทำให้รู้สึกแสบร้อนผิวเป็นอย่างมาก ล่าสุด องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA) เผยว่า เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นมิถุนายนที่โลกร้อนที่สุดในรอบ 140 ปี นับตั้งแต่เก็บบันทึกสถิติมา ส่งผลให้น้ำแข็งบริเวณแอนตาร์กติกละลายลงอย่างรวดเร็ว
โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในศตวรรษที่ 20 อยู่ที่ 59.9 องศาฟาเรนไฮต์ (15.5 องศาเซลเซียส) ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อุณหภูมิดังกล่าวสูงขึ้นเกือบ 1 องศาเซลเซียส ส่งผลให้โลกช่วงเวลานั้นร้อนที่สุด มีผู้คนจำนวนมากเข้าพักรักษาตัวภายในโรงพยาบาล เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้
จากการเก็บสถิติอุณหภูมิในช่วงเดือนมิถุนายนตั้งแต่ปี 1880-2019 พบว่า เดือนมิถุนายนที่ทำสถิติร้อนสูงที่สุด 9 ใน 10 อันดับแรก เกิดขึ้นในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2010 โดยพื้นที่ทางตอนเหนือของสหรัฐฯ อย่างรัฐอะแลสกา เดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีอากาศร้อนที่สุดเป็นอันดับที่ 2 นับตั้งแต่ทางการเริ่มบันทึกสถิติตั้งแต่ปี 1925 โดยมีแนวโน้มที่อุณหภูมิในเดือนกรกรฎาคมนี้ยังคงร้อนและสูงอย่างต่อเนื่อง
ภาพ: Muhammed Enes Yildirim / Anadolu Agency / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: