เป็นข่าวเรื่อยมาถึงชะตากรรมของดีน แอนด์ เดลูก้า ร้านค้า และร้านโกรเซอรีจากนิวยอร์ก ที่ ‘เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น’ จากประเทศไทยเป็นเจ้าของกิจการ ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรจากปัญหาวิกฤตการเงิน หลังก่อนหน้านี้มีรายงานว่าค้างจ่ายเงินกับซัพพลายเออร์ในอเมริกากว่าแสนเหรียญสหรัฐ
นอกจากนั้น ดีน แอนด์ เดลูก้ายังเตรียมปิดอีก 2 สาขาในอเมริกาที่อัปเปอร์อีสต์ไซด์ของแมนฮัตตัน และนาปาวัลลีย์ในแคลิฟอร์เนีย ทำให้สาขาในสหรัฐอเมริกาเหลือเพียง 5 สาขาเท่านั้น ขณะที่สาขาสเตจที่เป็นการรีแบรนด์ใหม่ตั้งอยู่ใจกลางแมนฮัตตันก็ต้องปิดบริการหลังจากเปิดตัวได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่ง New York Times รายงานว่าต้นทุนสำหรับการรีแบรนด์สาขานี้อยู่ที่หลักล้านเหรียญ
ดีน แอนด์ เดลูก้า สาขาสเตจ ในนิวยอร์ก
ไม่เว้นกระทั่งสาขาในเมืองไทย โดยสาขามหานครคิวบ์ เพิ่งจะปิดตัวลงไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ทางแบรนด์แจ้งว่าสิ้นสุดสัญญาเช่า
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา THE STANDARD ได้สอบถามไปยังดีน แอนด์ เดลูก้า ประเทศไทย ซึ่งได้ส่งทำหมายชี้แจงที่แจ้งโดย สมศักดิ์ หงษ์ศรีจินดา กรรมการผู้จัดการ ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด โดยระบุว่า
“ในนามของดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ขอแจ้งให้ทราบว่า ตามข่าวที่ปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์ขณะนี้ เป็นการดำเนินการของดีน แอนด์ เดลูก้า ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยที่ในประเทศไทยเป็นการดำเนินกิจการโดยได้รับ Licence จากบริษัท Dean & DeLuca International, LLC. ผลประกอบการจึงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวของกันกับทางสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด
โดยผลประกอบการของ ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) ดำเนินไปได้อย่างดี มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบปีที่ผ่านมา ในปี 2019 นี้เรามีอัตราเติบโตกว่า 13% และจะดำเนินกิจการทุกสาขาในประเทศไทยตามปกติ รวมถึงการขยายสาขาตามแผนที่วางไว้ในอนาคตอันใกล้นี้ เช่น สาขาที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 2 สาขา สาขา Boat Lagoon และ Phuket Old Town
ทั้งนี้การปิดสาขามหานคร คิวบ์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นั้น เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาเช่า ไม่เกี่ยวข้องกับผลกระกอบการ เราขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ยังอุปการะเราอย่างต่อเนื่อง”
ดีน แอนด์ เดลูก้า สาขาสเตจ ในนิวยอร์ก
สรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เคยสร้างเสียงฮือฮาในวงการธุรกิจด้วยการเข้าซื้อดีน แอนด์ เดลูก้า จากนิวยอร์กด้วยดีลหลายพันล้านบาท ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่า “บริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่องการเงินตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการดีน แอนด์ เดลูก้า ซึ่งในปี 2561 ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 158,000,000 เหรียญสหรัฐตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการ แต่ก็ยังมุ่งมั่นฝ่าวิกฤตนี้ ซึ่งที่ผ่านมาทางเพซได้ปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มทุนไปแล้ว”
และเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เขาได้ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า “ด้วยสภาพทางการเงินที่ไม่คล่อง จึงเป็นเรื่องยากที่จะรักษาเงินลงทุนที่ลงไปกับแฟรนไชส์เพื่อดึงดูดลูกค้า” และได้เผยถึงกิจการนอกสหรัฐฯ ว่า ร้านค้า 70 แห่งในเอเชียนั้นดำเนินการได้อย่างราบรื่น “การดำเนินกิจการในสหรัฐฯ อาจลำบากในขณะนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ”
Bloomberg ยังรายงานอีกว่ายอดขายอาหารและเครื่องดื่มของดีน แอนด์ เดลูก้า ลดลงถึง 23% มาอยู่ที่ 15,800,000 เหรียญสหรัฐในไตรมาสแรก จากรายงานของบริษัท ซึ่งได้ระบุถึงการลดหนี้ แต่ไม่ได้ชี้แจงโดยละเอียด ทางบริษัทยังรายงานถึงผลขาดทุนสุทธิโดยรวมที่ 103,000,000 เหรียญสหรัฐในไตรมาสแรก ลดลงจาก 132,300,000 เหรียญสหรัฐในปีก่อนหน้า
Dean & DeLuca สาขากรุงโตเกียว
และวันนี้ (18 กรกฎาคม 2562) สรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้แถลงถึงทิศทางของดีน แอนด์ เดลูก้าที่จะปรับโครงสร้างใหม่ แยกบริษัทอเมริกาและเอเชีย และเพื่อให้เข้ากับภาวะตลาดฟู้ดรีเทลที่ท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในอเมริกา โดยเผยว่า “ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการปรับขนาดธุรกิจให้เหมาะสม ควบคุมค่าใช้จ่าย และควบรวมการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในสาขาที่ไม่สามารถทำยอดขายและกำไรได้ตามเป้า”
ส่วนสาขาที่ทำยอดขายได้ดี เช่น สาขาโซโห ที่เปิดดำเนินการมากว่า 40 ปี และสาขาในคอนเซปต์ใหม่คือสเตจ บริษัทจะพัฒนาให้มีศักยภาพในการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ รวมถึงทำให้สามารถสร้างรายได้ให้เติบโตแบบเทิร์นอราวน์ได้ในอนาคต ตั้งเป้าหยุดขาดทุนในสิ้นปี
เขาเสริมอีกว่า “สภาวะตลาดรีเทลทั่วโลกรวมถึงอเมริกาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับผู้บริโภคชาวอเมริกันซื้อสินค้า ของใช้ต่างๆ และอาหารออนไลน์มากขึ้นถึง 30% ทำให้ร้านรีเทลต่างๆ ที่มีหน้าร้านหรือ Brick and Mortar Stores จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งใหญ่ เพื่อให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
“บริษัทจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวน และปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจ และการดำเนินงานของดีน แอนด์ เดลูก้า อเมริกาครั้งใหญ่ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ลดต้นทุน เพื่อให้องค์กรสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ รวมถึงแผนการสร้างแบรนด์ และเน้นเปิดแฟรนไชส์ในอเมริกา และทำออนไลน์ให้มากขึ้น
“ทั้งนี้ บริษัทขอแสดงความเสียใจต่อบริษัทคู่ค้าในอเมริกา และพร้อมแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะทยอยแก้ปัญหาให้เสร็จลุล่วงโดยเร็ว”
จิออร์จิโอ เดลูก้า ณ สาขาแรกของแบรนด์ดีน แอนด์ เดลูก้า ที่ 121 ถนนปรินซ์ ในมหานครนิวยอร์ก เมื่อปี 2520
เพซเข้าซื้อกิจการดีน แอนด์ เดลูก้า แบรนด์ร้านค้าโกรเซอรีหรูจากนิวยอร์ก ที่ก่อต้ังในปี 2520 ด้วยมูลค่า 140 ล้านเหรียญเมื่อปี 2557 ซึ่งการเข้าซื้อนี้ยังรวมถึงการดำเนินกิจการของร้านใน 31 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้
ขณะนี้ในไทยมี 10 สาขาด้วยกัน คือ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี, ดิ เอ็มควอเทียร์, เดอะคริสตัล (เอกมัย-รามอินทรา), สาทร สแควร์, ปาร์ค เวนเจอร์, สีลม ซอย 1, ออล ซีซั่นส์ เพลส, เอฟวายไอ เซ็นเตอร์, สนามบินสุวรรณภูมิ สำหรับผู้โดยสารด้านนอก และสนามบินสุวรรณภูมิ สำหรับผู้โดยสารด้านใน
นอกจากนั้นบริษัทมีแผนจะเปิดสาขาใหม่อีก 5 สาขา ภายในปี 2562 โดยแบ่งเป็น 2 สาขาที่ภูเก็ต และอีก 3 สาขาในกรุงเทพฯ
ต้องติดตามกันต่อไปว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะส่งผลกระทบอะไรกับร้านกาแฟโปรดของใครหลายคนบ้าง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค Disruption นี้ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเช่นกันแน่นอน
ภาพ: Robert Alexander / Getty Images, วรรษมน ไตรยศักดา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: