ภาพยนตร์ของบงจุนโฮนั้นยากจะนิยามว่าเป็นแนวทางใดอย่างชัดเจน เพราะแทบทุกเรื่องล้วนเป็นการผสมผสาน มันคือการเขย่ารวมกันของเรื่องราวอันเข้มข้น ระทึกขวัญ แฟนตาซี เขามักจะตั้งคำถามกับประเด็นทางสังคม วิพากษ์ชนชั้นอันเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันก็สอดไส้อารมณ์เสียดสี มุกตลกร้ายต่อชีวิตของคนตัวเล็กๆ ครอบครัวเล็กๆ ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์บางอย่าง และหลายต่อหลายครั้งเรื่องราวเหล่านี้ได้กลายเป็นมีดที่กรีดใจผู้ชมให้รู้สึกร่วมต่อโชคชะตาอันขำขื่นของตัวละครอยู่เสมอ
สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาผ่านผลงานการกำกับภาพยนตร์อันโดดเด่นของบงจุนโฮมาตลอดนับตั้งแต่ Barking Dogs Never Bite (2000), Memories of Murder (2003), The Host (2006), Mother (2009), Snowpiercer (2013), Okja (2017) และผลงานล่าสุดอย่าง Parasite ที่เพิ่งคว้ารางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 72 เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
และเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่ภาพยนตร์รางวัลปาล์มทองคำที่ดูง่ายและดูสนุกที่สุดจะเข้าฉายในบ้านเราในอีกไม่กี่วันข้างหน้า THE STANDARD POP จะพาไปสำรวจโลกภาพยนตร์อันเต็มไปด้วยเรื่องราวโดดเด่นเฉพาะตัวของผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ที่กำลังร้อนแรงมากที่สุดในเวลานี้
บงจุนโฮ
บงจุนโฮเกิดที่เมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1969 เขาสนใจงานภาพยนตร์มาตั้งแต่วัยมัธยม และถามว่าทำไมผู้กำกับระดับแนวหน้าของเกาหลีใต้ที่ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดเพิ่งคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์จึงทำภาพยนตร์ที่มักจะเล่าประเด็นทางสังคมได้อย่างสนุก ทว่าก็ลึกซึ้งคมคาย
คำตอบนั้นก็ต้องย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในช่วงก่อนก้าวเข้าสู่ชีวิตมหาวิทยาลัยของหนุ่มน้อยบงจุนโฮ ที่แม้ในเวลานั้นจะอยากเรียนทำภาพยนตร์ใจแทบขาด แต่เขาก็ไม่อยากจะทำให้ครอบครัวโดยเฉพาะผู้เป็นพ่อซึ่งมีอาชีพเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ต้องผิดหวัง เนื่องจากไม่อยากให้ลูกเรียนในสาขาที่ (ในเวลานั้น) ถูกมองว่าไม่เป็นศิลปะมากเพียงพอ
ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจเข้าเรียนในสาขาสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยยอนเซ และเข้าเรียนต่ออีก 2 ปีที่ Korean Academy of Film Arts ระหว่างนั้นเขาก็เริ่มต้นก้าวแรกในฐานะฟิล์มเมกเกอร์จากผลงานภาพยนตร์สั้นถึง 3 เรื่อง (Baeksaekin, Incoherence และ The Memories in My Frame)
ซึ่งการคลุกคลีและใช้ชีวิตอยู่กับนักคิด นักเขียน นักกิจกรรมทางสังคม การเมือง ฯลฯ นี่เองที่ช่วยหล่อหลอมทัศนคติและมุมมองทางสังคมอันแหลมคมลงในงานภาพยนตร์นับตั้งแต่ผลงานชิ้นแรกๆ จนถึงปัจจุบัน
Barking Dogs Never Bite (2000)
หลังจากเรียนจบ บงจุนโฮเริ่มต้นการงานในตำแหน่งมือเขียนบทและผู้ช่วยผู้กำกับอยู่กว่า 6 ปี กระทั่งในปี 2000 เขาก็เริ่มต้นเส้นทางภาพยนตร์ขนาดยาวเป็นเรื่องแรกจากภาพยนตร์ตลกร้ายเสียดสีสุดปั่นป่วนใน Barking Dogs Never Bite
ภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวของชายหนุ่มที่จิตแทบหลุดเพราะต้องทนฟังเสียงเห่าของหมู่มวลน้องหมาที่มีคนแอบเอามาเลี้ยงในอพาร์ตเมนต์ แถมล่าสุดภรรยาท้องแก่ของเขาดันไปซื้อหมาพุดเดิลจอมเห่ามาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแก้เหงาช่วงลาคลอดเสียอย่างนั้น แค่นี้เคราะห์กรรมยังซัดไม่แรงพอ เพราะหมาเจ้ากรรมดันหายไปตอนเขาพาออกไปเดินเล่นตามคำสั่งเมีย ภายใต้เส้นเรื่องป่วนๆ ที่จิกกัดและวิพากษ์สังคมเกาหลีทั้งสภาพชีวิต ชนชั้น ไปจนถึงแง่มุมการถึงเลือกปฏิบัติของหมู่ชนคนกันเอง
Memories of Murder (2003)
ก่อนแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวจากในฐานะผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตาจาก Memories of Murder (2003) ภาพยนตร์เทรลเลอร์เข้มข้นเปี่ยมเสน่ห์ที่สร้างจากเรื่องจริงของคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในยุค 80 ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังปิดคดีไม่ได้
นอกจากภาพยนตร์จะประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ขณะเดียวกันมันก็เป็นหมุดหมายสำคัญต่อการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่อๆ มาของบงจุนโฮที่มักจะสอดแทรกประเด็นทางสังคม เรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ครอบครัวเล็กๆ ที่ต้องเจอกับชะตากรรมขำขื่นในชีวิตมานำเสนอในผลงานของตัวเองอย่างแหลมคม
The Host (2006)
บงจุนโฮสร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่อมาในปี 2006 งานภาพยนตร์เรื่องยาวที่ส่งให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจาก The Host (2006) ภาพยนตร์สัตว์ประหลาดที่พาผู้ชมไปไกลกว่าแค่เรื่องราวสัตว์ประหลาดจากแม่น้ำฮัน แต่มันเต็มด้วยเนื้อหาวิพากษ์ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างบาดลึกผ่านเรื่องราวของครอบครัวข้นแค้นทว่าเปี่ยมสุข และผู้เป็นพ่อสุดห่วยที่พยายามสุดชีวิตเพื่อช่วยลูกสาวจากการลักพาตัวของสัตว์ประหลาดที่กลายร่างอันเนื่องจากสารพิษที่ปนเปื้อนในแม่น้ำเป็นระยะเวลานาน ซึ่งภาพยนตร์ก็กลายเป็นดาวเด่นทันทีหลังจากเปิดตัวในสาย Directors Fortnight ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ พร้อมด้วยบทวิจารณ์อันยอดเยี่ยมจากสื่อชั้นนำทั่วโลก
The Host (2006)
นอกจากสะสมความฝันที่จะทำภาพยนตร์เกี่ยวกับสัตว์ประหลาดมาตั้งแต่สมัยมัธยม แต่สิ่งที่เป็นเชื้อไฟชั้นดีให้เขาลุกขึ้นมาเขียนบทและลงมือสร้าง The Host นั้นมีที่มาจากข่าวดัง เมื่อเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่ทำงานอยู่ในฐานทัพสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาหลีใต้ทิ้งสารเคมีชื่อว่า ‘ฟอร์มัลดีไฮด์’ (ที่หมดอายุแล้ว) จำนวนมากลงไปในแม่น้ำฮัน แม่น้ำสายหลักอันเป็นเส้นเลือดสำคัญของกรุงโซล ผลกระทบที่ตามมาคือความเสียหายอันยากจะประเมินค่าต่อระบบนิเวศใต้น้ำของประเทศ
เหตุการณ์นี้นอกจากจะสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวเกาหลีใต้ เช่นเดียวกันกับบงจุนโฮในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ เขานำเหตุการณ์นี้มาเป็นแรงบันดาลใจในผลงานเรื่องใหม่ โดยเล่าเหตุการณ์ 6 ปีต่อมาหลังจากสารพิษที่ปนเปื้อนเริ่มส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ กระทั่งส่งผลต่อระบบพันธุกรรม ลูกอ๊อดตัวเล็กๆ ที่ควรจะเติบโตกลายเป็นกบตามธรรมชาติได้เติบโตอย่างบิดเบี้ยวจนกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่กำลังติดใจรสชาติมนุษย์ และเมื่อนั้นเองที่วิถีชีวิตของผู้คนที่เคยดำเนินชีวิต ณ ริมแม่น้ำฮันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
Mother (2009)
ปี 2009 บงจุนโฮกลับมาอีกครั้งกับ Mother ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับ 4 ที่ว่าด้วยความรักอันลึกซึ้งสุดหยั่งของมนุษย์ผู้เป็นแม่ ภาพยนตร์พาคนดูค่อยๆ ตามติดเรื่องราวของแม่คนหนึ่งที่อาศัยอยู่กับ โดจุน ลูกชายวัย 28 ปีที่มีปัญหาด้านสติปัญญา แม่จึงต้องดูแลโดจุนอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งลูกชายสุดรักของเธอกลับถูกสงสัยและพิจารณาคดีว่าเป็นฆาตกรผ่านกระบวนการสืบสวนที่เร่งรีบ และเพื่อจะปกป้องลูกชาย เธอจึงต้องออกสืบหาความจริงเพื่อนำฆาตกรตัวจริงมารับโทษแทนที่ลูกชายของเธอให้จงได้
Snowpiercer (2013)
ย้อนกลับไปหลังจาก The Host ซึ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จักและถูกจับตามองบนเวทีโลก จากจุดนั้นเองที่นำพาบงจุนโฮก้าวไปสู่งานภาพยนตร์ในระดับฮอลลีวูดกับ Snowpiercer (2013) ภาพยนตร์ไซไฟกรุ่นกลิ่นดิสโทเปีย เล่าถึงโลกอนาคตที่มนุษย์กลุ่มสุดท้ายต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดบนขบวนรถไฟที่ต้องวิ่งวนไปเรื่อยๆ รอบโลกอันเนื่องจากโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง และมันหนาวเหน็บเกินกว่าสิ่งมีชีวิตใดๆ จะมีชีวิตรอดต่อไปได้
ภาพยนตร์เสียดสีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมอีกครั้งผ่านการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะทางสังคมบนโบกี้บนรถไฟได้อย่างดิบลึก คมคาย น่าติดตาม ด้วยฝีมือของนักแสดงนำระดับแม่เหล็กอย่าง คริส อีแวนส์ และทิลดา สวินตัน สิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดคือเขายังคงรักษามาตรฐานและตัวตนในผลงานของตัวเองได้อย่างน่ายกย่องจนมันกลายเป็นหนึ่งในงานที่แฟนภาพยนตร์หลายคนหลงรักและจดจำ
Okja (2017)
ในปี 2017 หลังจากการมาถึงของยุคสตรีมมิงและเน็ตฟลิกซ์ค่อยๆ แผ่อิทธิพลต่อวัฒนธรรมการเสพภาพยนตร์ของคนทั่วโลก ผลงานชิ้นต่อมาของบงจุนโฮอย่าง Okja ก็เรียกเสียงฮือฮาอีกครั้งหลังจากถูกเน็ตฟลิกซ์ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไปทำตลาด พร้อมกับส่งไปเปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์สำคัญอย่างคานส์ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่แตกออกเป็นสองฝ่ายเกี่ยวกับจุดยืนของภาพยนตร์อันมีที่มาจากตลาดสตรีมมิง
Okja ว่าด้วยการผจญภัยของเด็กสาวตัวน้อยที่พยายามช่วยเหลือเจ้าหมูยักษ์จากองค์กรผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่สร้างมันขึ้นมาจากการพัฒนาสายพันธุ์ในห้องแล็บเพื่อรอวันที่จะถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหารรสเลิศสำหรับมนุษย์ และก็เป็นอีกครั้งที่ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้พยายามสื่อสารถึงประเด็นทางสังคม ลัทธิบริโภคนิยม การตัดต่อทางพันธุกรรมในอาหารที่กำลังเติบโตและแผ่อิทธิพลต่อปากท้องมนุษย์ไปทั่วทุกมุมโลก
Parasite (2019)
ล่าสุดกับผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่ 7 อย่าง Parasite ที่พาเขาก้าวขึ้นไปยืนโดดเด่นในฐานะผู้กำกับเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ รางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประจำปี 2019
ภาพยนตร์เล่าถึงสองครอบครัวที่ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางสังคมที่แตกต่างกัน ‘ครอบครัวตระกูลคี’ จนเข็ญใจ ดิ้นรนเพื่อที่จะมีชีวิตรอดในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ที่ระยะห่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นห่างไกลกันคนละวิถี ขณะที่ ‘ครอบครัวตระกูลพัค’ มีอันจะกิน ใช้ชีวิตเปี่ยมสุขบนยอดพีระมิดของห่วงโซ่อาหาร แต่แล้วระหว่างที่แผนการแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในบ้านของผู้มั่งมี เรื่องราวสุดสะพรึงไม่คาดฝันก็ได้เปลี่ยนชีวิตที่ควรจะดำเนินไปอย่างปกติของทุกๆ ตัวละครไปตลอดกาล
ภาพยนตร์ของเขายังคงบอกเล่าถึงความแตกต่างทางชนชั้นระหว่างสภาพครอบครัวของคนเกาหลี หรืออันที่จริงก็เป็นภาพสะท้อนของอีกหลายล้านครอบครัวบนโลกนี้ได้อย่างดี และจุดร่วมอันแข็งแรงนี้เองที่กลายเป็นเสน่ห์อันทรงพลัง เพราะมันสามารถผูกมัดหัวจิตหัวใจของผู้ชมให้รู้สึกร่วมในสิ่งเดียวกันได้ ถึงแม้ว่าเราต่างเติบโตจากคนละมุมโลกและแตกต่างทางวัฒนธรรม
สำคัญที่สุดคือภาพยนตร์ดำเนินเรื่องอย่างน่าติดตามและยากจะคาดเดา บงจุนโฮยังสนุกกับการบิดปมในภาพยนตร์ไปมาเหมือนหลายๆ เรื่องก่อนหน้านี้ของเขา และนั่นทำให้มันเป็นภาพยนตร์รางวัลปาล์มทองคำที่ดูสนุกอย่างน่าชื่นชม บงจุนโฮแสดงทัศนะต่อภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“แม้พล็อตเรื่องจะมาพร้อมเหตุการณ์และสถานการณ์ที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้จริงบนโลก อาจมองได้เหมือนกันว่ามันคือเหตุการณ์จริงตามข่าวหรือในสื่อออนไลน์ แล้วเราเอามาทำเป็นภาพยนตร์จอใหญ่
“ดังนั้นมันจะมีเซนส์ของความสมจริง แต่ถ้ามีคนเรียกว่าเป็นภาพยนตร์อาชญากรรม-ครอบครัว ตลก ดราม่าเศร้าสร้อย หรือระทึกขวัญสั่นประสาท ผมก็ไม่ว่าอะไร ผมพยายามมากเพื่อพลิกแพลงความคาดหวังของคนดู และผมหวังว่าจะทำสำเร็จใน Parasite”
ขณะเดียวกันท่ามกลางเนื้อหาตลกร้ายชวนติดตาม เชื่อว่าหลายๆ ไดอะล็อกผ่านคำพูดของตัวละครนั้นล้วนแต่สะท้อนความเป็นจริงถึงสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ทางสังคมอันเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม เผลอๆ มันจะยังคงกังวานอยู่ในความทรงจำ แม้ว่าเราจะเดินออกจากโรงภาพยนตร์มาแล้วก็ตามที
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์