×

แบงก์ชาติสกัดเก็งกำไรค่าเงิน ลดยอดคงค้างบัญชีต่างชาติเหลือ 200 ล้านบาท จับตาตราสารหนี้เป็นพิเศษ

12.07.2019
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่าภาวะตลาดการเงินโลกปัจจุบันมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางหลายแห่ง ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับมายังกลุ่มประเทศเกิดใหม่อีกครั้ง

 

ทั้งนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่อค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่อื่น ทำให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองเงินบาท และลงทุนในหลักทรัพย์ไทยมากขึ้นในระยะหลัง รวมทั้งบางส่วนอาจใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้นด้วย โดยทางแบงก์ชาติได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และมีความกังวลกับค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นเร็ว และแข็งค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค จนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้

 

แบงก์ชาติจึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อลดทอนช่องทางในการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนใน ‘ตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ’ เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด โดยปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident: NR) ทั้ง Non-resident Baht Account for Securities (NRBS) ซึ่งเป็นบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทย เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงิน และบัญชี Non-resident Baht Account (NRBA) ซึ่งเป็นบัญชีที่เปิดไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั่วไป เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น

 

โดยจะปรับเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของทั้งสองบัญชีให้ลดลง จากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อรายต่อประเภทบัญชี โดยกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป กรณีบัญชีที่มียอดคงค้างเกินกว่า 200 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินดำเนินการให้ NR เจ้าของบัญชีปรับลดยอดคงค้างภายในกำหนดเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน ที่มีการค้าการลงทุนกับคู่ค้าในประเทศไทย และมีการชำระหรือรับชำระกับคู่ค้าเป็นสกุลบาท สามารถยื่นขออนุญาตแบงก์ชาติเพื่อขอผ่อนผันยอดคงค้างในบัญชี NRBA ได้เป็นรายกรณีไป

 

อีกมาตรการคือการยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners) เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะ เพื่อใช้เป็นที่พักเงินระยะสั้น โดยกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่งวดการรายงานข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งแบงก์ชาติพร้อมดำเนินมาตรการที่เตรียมไว้เพิ่มเติม หากยังพบพฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงินบาทในระยะต่อไปด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X