เมื่อไม่นานมานี้ The Black Tie Service บริษัทชั้นนำผู้จัดการด้านสิทธิประโยชน์และผู้ให้บริการ Lifestyle Experience ระดับพรีเมียมสำหรับองค์กรยุคใหม่ขนาดใหญ่ ที่ต้องการดูแลลูกค้าคนพิเศษ รวมถึงการดูแลบริหารความสัมพันธ์ในระยะยาว ด้วยการสร้างสรรค์ ‘ประสบการณ์พิเศษที่เงินไม่สามารถซื้อได้’ ได้จัดงานเลี้ยงขึ้นเพื่อขอบคุณลูกค้าคนพิเศษ รวมถึงประกาศข่าวสำคัญอันน่ายินดี ในประเด็นนี้ น้ำ-ศุภวัฒก์ ชลวณิช หนึ่งในผู้บริหารของ The Black Tie Service เปิดเผยว่า
“ด้วยความสามารถของผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารคือ อ้อ-กนกพร ณ ระนอง หลังจากที่ดำเนินการได้เพียงไม่กี่ปี The Black Tie Service ก็สามารถสร้างผลประกอบการที่ดีนับหลักร้อยล้านบาท เมื่อบริษัทประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี จึงมีผู้แสดงความสนใจที่จะร่วมลงทุน และหลังจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่สนใจร่วมลงทุนกับเรา ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงกองทุนต่างๆ ในที่สุดเมื่อได้พิจารณาดูแล้ว เราจึงตัดสินเลือกกลุ่มนักลงทุนชาวไทย ที่ทั้งอยู่ในแวดวงไฟแนนซ์ เจ้าของกิจการ และผู้ที่อยู่ในธุรกิจระดับ Coperate
“ซึ่งนอกจากจะเข้ามาช่วยลงทุนทรัพย์แล้ว พวกเขายังเป็นพันธมิตรผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดของประเทศไทย สามารถช่วยลงแรงเป็นกำลังสำคัญในการขยายธุรกิจให้กับเราได้อีกด้วย ทำให้ในครั้งนี้ The Black Tie Service สามารถระดมเงินทุนได้สูงถึง 2 ล้านเหรียญ นับได้ว่าเป็นตัวอย่างของธุรกิจไทยในระดับ SME ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถขยายตัวเติบโตขึ้นได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเราเชื่อว่ายังมีโอกาสอยู่ในตลาดนี้อีกเยอะมากครับ”
ผู้บริหารของ The Black Tie Service ยังเปิดเผยอีกว่า หลังจากที่มีนักลงทุนและพาร์ตเนอร์ที่เป็นพันธมิตรเพิ่มเข้ามาร่วมเสริมทัพแล้ว ทางบริษัทยังมีแผนการที่จะนำเงินลงทุนที่ได้มาไปใช้ในเรื่องของการปรับปรุงระบบการทำงานภายในบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างการนำแพลตฟอร์มการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้ามาใช้ ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถช่วยให้เก็บและแสดงข้อมูลของลูกค้าได้ 360 องศา เชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลที่มีประโยชน์สามารถดึงมาใช้ได้อย่างทันท่วงที
ทั้งยังช่วยวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อแมตช์ความต้องการและมอบสิทธิประโยชน์ให้ตรงใจยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับสิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ อีกทั้งระบบจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวมีการรักษาความปลอดภัยเทียบเท่ากับกับธนาคารทั่วโลก ดังนั้นลูกค้าของ The Black Tie Service จึงไว้วางใจในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลได้เลย
นอกจากนี้ทางบริษัทฯ ยังมีแผนที่จะสร้างสรรค์วัฒนธรรมองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาเพิ่มศักยภาพของบุคลากร พัฒนาคนให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพราะทาง The Black Tie Service ถือว่าพนักงานคือ Customers Touch Point ที่สำคัญของการดูแลลูกค้าคนพิเศษ
ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับการ Training พนักงานทุกหน่วยงาน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา แน่นอนว่าย่อมทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของลูกค้าในปริมาณที่มากขึ้น ทั้งยังสามารถคงคุณภาพยอดเยี่ยมในการให้บริการเอาไว้ได้ในขณะเดียวกัน ไปจนถึงยกระดับการบริการให้ดีขึ้นไปกว่าเดิม สามารถมอบ ‘ประสบการณ์พิเศษที่เหนือชั้น’ ยิ่งขึ้นไปอีกให้กับลูกค้า VIP ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางบริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างมากอีกด้วย
สำหรับงานเลี้ยงขอบคุณลูกค้าและแถลงข่าวดีดังกล่าวนี้ ด้วยไอเดียของผู้บริหารที่คิดว่าจะจัดงานเลี้ยงธรรมดา และประกาศข่าวดีนี้เพียงอย่างเดียวคงจะไม่พอ เพราะทาง The Black Tie Service ซึ่งผู้เป็นบริษัทชั้นนำทางด้านนี้ปรารถนาที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบรรดาลูกค้า จึงคิดว่าจะจัดงานอย่างไร เพื่อให้ผู้ที่สละเวลามาเข้าร่วมนั้นได้รับประโยชน์สูงสุด คำตอบจึงมาลงตัวที่งานสัมมนา เพื่อให้ได้ลูกค้าที่เข้าร่วมงานได้รับความรู้ที่จำเป็น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงภายในองค์กร จึงได้จัดงานสัมมนาชื่อ BT Seminar: How The Tech Giants Work in The New Disrupted World? ขึ้นมา
คณะผู้บริการ นักลงทุน และแขกผู้มีเกียรติของ The Black Tie Service
โดยในงานนี้มี กรณ์ จาติกวณิช มาร่วมเป็นเกียรติด้วย
อย่างที่หลายคนรู้ดีว่า โลกปัจจุบันนี้มีความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้องค์กรธุรกิจถูก Disrupt ทำลายไปจำนวนไม่น้อย และที่กำลังหาทางปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกนั้นก็มีมาก The Black Tie Service จึงได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่จะมาบอกเล่าเก้าสิบถึงวิธีการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ได้นำมาใช้ในการบริหารงานดูแลธุรกิจ จนกลายเป็น Tech Giants ของโลก
โดยในงานครั้งนี้ได้วิทยากรสุดฮอตอย่าง พรทิพย์ กองชุน ผู้บริหารบริษัท Jitta เว็บไซต์ด้านการลงทุนในหุ้น และยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงจาก Google (Thailand) มาเป็นผู้บรรยายในหัวข้อ The Power of OKRs และอีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็มี ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้บริหารบริษัท Skooldio และยังเป็นอดีต Data Scientist ของเฟซบุ๊ก มาบรรยายในหัวข้อ Making an Impact With Data โดย THE STANDARD นั้นโชคดีที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย จึงได้สรุปนำความรู้ที่ได้จากงานนี้มาฝากกันครับ
The Power of OKRs โดย พรทิพย์ กองชุน
เชื่อแน่ว่าบางคนอาจจะคุ้นหูกับคำนี้กันบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนและหลายองค์กรที่ยังไม่มีโอกาสรู้จัก อันที่จริงแล้ว OKRs นั้นย่อมาจาก Objectives & Key Results เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยองค์กรชั้นนำของโลกไม่ว่าจะเป็น Google, Netflix, Samsung, Facebook, Yahoo, Amazon, Intel, Spotify ฯลฯ ต่างก็ใช้ OKRs เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนจนประสบความสำเร็จมาแล้วทั้งนั้น โดย พรทิพย์ กองชุน วิทยากรในหัวข้อนี้ นับเป็นผู้ที่เก่งในเรื่องของ OKRs มากที่สุดในประเทศไทยก็อาจจะว่าได้เลยทีเดียว
พรทิพย์เล่าว่า กูเกิลใช้ OKRs มาตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ตั้งแต่วันที่กูเกิลยังเป็นองค์กรเล็กๆ ที่มีพนักงานเพียงแค่ 40 คนเท่านั้น จวบจนปัจจุบันที่กูเกิลเป็น Tech Giant ยักษ์ใหญ่ที่มีพนักงานทั่วโลกนับแสนคนก็ยังใช้ OKRs มาจนถึงทุกวันนี้ เธอกล่าวอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของ OKRs ว่า
“ในหลายๆ องค์กรนั้น พนักงานจำนวนมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ แทบจะไม่ทราบว่าตัวเองมีความสำคัญ และไม่รู้ว่าจะพาองค์กรไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร OKRs เป็นเครื่องมือที่ช่วยในเรื่องของการสร้างทีมเวิร์ก โดยให้ความสำคัญของพนักงาน ทำให้เป้าหมายของพนักงานเป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์กร ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือเรื่องของ Goal-Driven Management นั่นเอง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว มันเป็นมากกว่าการตั้งเป้าหมาย แต่คือการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายด้วยกันทั้งองค์กร”
พรทิพย์ยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ OKRs ว่า องค์กรจะพูดถึงเป้าหมายหรือ Objective เพียงอย่างเดียวไม่ได้ โดยไม่พูดว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้นร่วมกันได้อย่างไร เรื่องของ OKRs คือเรื่องของการสร้างให้เกิดกระบวนการและบรรยากาศของการเรียนรู้คือ การทำให้พนักงานได้มีโอกาสเรียนรู้อยู่ตลอด องค์กรไทยส่วนมาก ต่างคนต่างตั้งเป้าหมาย และทำงาน Cross-Function กันได้ไม่ดี
นอกจากนี้การทำ OKRs ยังจะช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันหรือ Collaboration กันเยอะมาก เพื่อปรับการทำงานให้เป้าหมายสำเร็จตามที่ตั้งเอาไว้ร่วมกัน เพราะสิ่งที่เคยเป็นหรือทำมานั้น อาจจะไม่เวิร์กอีกต่อไปแล้วในขณะนั้น การทำ OKRs จึงทำให้เกิดความยืดหยุ่นในเรื่องของวิธีการดำเนินงาน ทำให้เกิดความร่วมมือ เพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายร่วมกัน ทั้งในระดับส่วนตัว ทีม แผนก และทั้งองค์กร ในที่สุด
Objectives & Key Results ที่ดีนั้น เป้าหมายต้องท้าทายและสร้างแรงบันดาลใจ
“เมื่อเราตั้งเป้าที่ท้าทาย หากไปไม่ถึงดวงดาวก็ไปได้ถึงดวงจันทร์ หากไม่ถึงดวงจันทร์ก็ผ่านชั้นบรรยากาศ แต่ถึงไม่เกินบรรยากาศ อย่างน้อยๆ ก็ไปได้เกินหลังคาบ้าน” พรทิพย์อธิบายว่า การตั้ง Objective ของ OKRs ที่ดีนั้น ต้องมีคุณสมบัติ ได้แก่
1. Actionable Goal คือเป็นเป้าหมายที่เกิดขึ้นได้หากมีความพยายามปฏิบัติ
2. การตั้งเป้าหมายต้องท้าทายและสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจ
3. มีจุด Sweet Spot หรืออัตราความสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าบรรลุทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็แปลว่าตั้งเป้าหมายเอาไว้ง่ายเกินไป
ส่วน Key Results ที่ดี ก็ต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นผลลัพธ์ (Outcome) ที่เกิดขึ้น ที่สามารถวัดผลได้ (Measurable) สอดคล้องทำให้เป้าหมายสำเร็จ (Achievable) และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่จะตั้งเป็นไตรมาส
การกำหนด OKRs ขององค์กร
OKRs จะถูกกำหนดจากระดับบนก่อน แล้วค่อยกระจายไปยังระดับต่างๆ ขององค์กร เช่น แผนก ทีม และพนักงานเอง ซึ่งเรียกว่าเป็น Top-Down ลงมา และพนักงานก็สามารถให้ความเห็นในการตั้ง OKRs ขึ้นไประดับบริหารได้เป็นแบบ Bottom-Up ในขณะเดียวกันก็ต้องคุยกับแผนกต่างๆ ที่เราต้องทำงานด้วย เพื่อให้เกิดข้อตกลงตั้ง OKRs ร่วมกัน
“ปกติแล้วเราจะทำ OKRs ทีละไตรมาส เพราะยุคปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เราอาจจะทำไม่เหมือนเดิมในไตรมาสสุดท้ายก็ได้ ซึ่ง OKRs เองก็ยืดหยุ่น พร้อมที่จะปรับได้ตลอดเวลา เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดที่เราตั้งไว้ให้ได้
“การทำ OKRs ที่ดีจะต้องสอดคล้องกันไปทั้งองค์กร ในการทำ OKRs แต่ละครั้งจะต้องมีประมาณ 3-5 ข้อ จึงจะกำลังดี ไม่อย่างนั้นก็จะมีงานให้ทำเต็มไปหมด และไม่สามารถโฟกัสได้ OKRs มีกฎว่า ต้องแชร์เพื่อให้เห็นกันทั้งองค์กร เพื่อให้เกิดการทำงานที่เชื่อมโยงกัน (Alignment) และโปร่งใส (Transparency) ทำให้ทั้งองค์กรรู้ว่า แต่ละคนมีความรับผิดชอบอย่างไร ถามว่าทำ OKRs แล้วไม่ประสบความสำเร็จจะเป็นอะไรไหม ก็ต้องบอกว่า ความสำคัญของมันคือการเอื้อให้เกิด Continuous Learning หรือการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ถ้าเราล้มเหลว เราต้อง Fail Fast และ Fail Forward หรือเรียนรู้และลุกขึ้นให้เร็ว” พรทิพย์กล่าว
Making an Impact With Data โดย ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล
ดร.วิโรจน์ ผู้เคยเป็น Data Scientist อยู่ที่โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กนาน 3 ปี เกริ่นนำว่า เราทุกคนในปัจจุบันนี้มีไลฟ์สไตล์ที่ใช้ชีวิตอยู่กับข้อมูล การใช้ Device ของเรามีการเก็บข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างแค่เฉพาะเฟซบุ๊กเอง ก็มีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของเราเอาไว้แทบจะทั้งหมด
“ไม่ว่าจะเป็นการชอบเพจอะไร มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนคนไหนบ่อยๆ ชอบคอนเทนต์แบบไหน ทุกการกดไลก์ กดโกรธ หัวเราะ ฯลฯ ล้วนเป็น Digital Footprint ที่เราทิ้งร่องรอยเอาไว้ทั้งหมด และนั่นก็คือ ข้อมูล (Data) ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นล้วนมีมูลค่า และ Data Science จึงได้เกิดขึ้นมา โดยมีหลักคือ การสร้างมูลค่าจากข้อมูลหรือ Big Data ที่มีอยู่อย่างมหาศาล” ดร.วิโรจน์ กล่าว
ไม่เพียงแต่โซเชียลมีเดียเท่านั้น การใช้อุปกรณ์ติดตามตัวอื่นๆ อย่างเช่น Fitness Tracker การใช้แอปพลิเคชันอย่าง Google Map, Thermostat, ริสแบนด์ที่ใส่แล้วใช้แทนเงินสดของดิสนีย์แลนด์เวิลด์ ทุกอย่างล้วนบันทึกพฤติกรรมไปเก็บรวบรวมไว้ เพื่อให้ Data Scientist หรือบริษัทนำไปวิเคราะห์เพื่อสร้างมูลค่า
“นอกจากนี้ในการดำเนินการขององค์กรต่างๆ นั้น ข้อมูลยังเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก เพราะปัจจุบันนี้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วมาก บางองค์กรที่อยู่มานานแล้ว ก็อาจจะเคยทำอะไรตามสูตรสำเร็จที่เป็นมา โดยไม่มีการปรับเปลี่ยน แต่สมัยปัจจุบันนี้ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก ถ้ามีคนที่บอกว่า “เชื่อพี่ พี่อยู่มาก่อน ทำแบบนี้แล้วเวิร์ก” มันก็อาจจะไม่เวิร์กแล้วในสมัยนี้ก็ได้ และการขยับตัวช้าเพียงนิดเดียว ก็อาจจะเกิดผลกระทบชนิดที่คาดไม่ถึงก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น จากสมัยก่อนที่มีการรีพอร์ตข้อมูลผลการดำเนินงานทุกเดือนนั้น ในสมัยนี้อาจจะช้าเกินไป สมมติว่าหากยอดตกฮวบตั้งแต่ต้นเดือน แล้วมารีวิวดูปลายเดือนช้าก็จะช้าเกินไปแล้ว การต้องเก็บเอาข้อมูลที่ทันเหตุการณ์เก็บ Metric มาประกอบการตัดสินใจ จึงเป็นประโยชน์มาก เพราะมันช่วยให้เรามองเห็นทั้งโอกาสก่อนใคร และมองเห็นความเสี่ยงได้เร็ว”
ดร.วิโรจน์ ยกตัวอย่างของเฟซบุ๊กสมัยที่นำฟังก์ชัน Live มาใช้ในทีแรก โดยไม่ได้คาดหวังอะไรกับตรงนี้มากนัก จนเมื่อ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้เห็นสถิติการใช้งานฟังก์ชันไลฟ์ในระยะทดลอง จึงได้สั่งทีมให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์นี้อย่างจริงจัง และก็อย่างที่เราเห็นว่ามีการใช้งานเฟซบุ๊กไลฟ์กันอย่างกว้างขวางมากในปัจจุบัน ดร.วิโรจน์ ยังได้ยกตัวอย่างการนำดาต้ามาใช้ประโยชน์อีก เช่น การเสิร์ชคีย์เวิร์ด ‘ไข้หวัด’ ในกูเกิล ซึ่งทำให้สามารถทำนายว่า พื้นที่ไหนที่กำลังมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดอยู่ และสำหรับผู้ประกอบการ ก็สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงได้
“Customer Analytic ต้องมี ถ้าลูกค้าเปลี่ยนเราต้องเปลี่ยนตามให้ทันเวลา และถามว่าจะต้องทำอะไร ก็ต้องถามว่าเรามีคำตอบของคำถามที่สามารถตอบได้ด้วย Data แล้วหรือยัง เช่นว่า ทำไมยอดขายจึงตก ลูกค้าหายไปไหน จะทำโปรโมชันอย่างไรเพื่อเพิ่มยอดขายให้ถึงเป้าที่วางไว้ ถ้ายังไม่มีข้อมูลที่จำเป็นเพียงพอ ก็ให้เก็บข้อมูล เพื่อที่เราจะสามารถนำข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์ให้เราเห็นถึงความต้องการของลูกค้า เพื่อที่จะวางแผนและปรับตามสถานการณ์ได้”
นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางด้าน AI ที่กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีคำกล่าวที่ว่า “AI is the new electricity” โดยผู้กล่าวคือ Dr.Andrew Ng นักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน ซึ่งดาต้าที่ AI จะต้องนำไปประมวลผลนั้น ก็ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ ทุกวันนี้ AI เข้าใจข้อมูลด้วยภาพได้ดีกว่าเดิมมาก ดังเช่น การวินิจฉัยเบาหวานจากภาพถ่ายจอประสาทตา ไปจนถึงการที่โซเชียลมีเดียและโฆษณาออนไลน์นำพฤติกรรมของทุกคนบนแพลตฟอร์มมาเลือกแนะนำสินค้าและบริการให้เรา ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้นับเป็นการสร้างอิมแพ็กของดาต้า ซึ่งมีพลังเป็นอย่างมาก ดังที่ ดร.วิโรจน์ ได้ชี้ให้เราเห็น
เมื่อสิ้นสุดงานเสวนา BT Seminar: How The Tech Giants Work in The New Disrupted World? เราจึงตระหนักว่า ความรู้จากการบรรยายโดยวิทยากรชั้นนำที่ ทางผู้จัดได้เชิญมานั้น ช่างเป็นประโยชน์และจำเป็นจริงๆ ต่อการดำเนินธุรกิจและบริหารองค์กรในปัจจุบัน ช่างน่าอิจฉาลูกค้าของ The Black Tie Service จริงๆ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นนี้
THE STANDARD หวังว่าความรู้ดีๆ ที่เราสรุปมาพอสังเขปในคราวนี้ จะสามารถจุดประกายให้ผู้ที่สนใจในเรื่อง OKRs และ Data Science ได้ไปศึกษาเพิ่มเติม และนำไปปรับใช้ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจและองค์กรของทุกคนได้
ภาพบรรยากาศภายในงาน BT Seminar: How the tech giants work in the new disrupted world?
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- ด้วยความที่ธุรกิจไม่ใช่แค่การขาย แต่เป็นการบริการ เพื่อดูแลลูกค้าในระยะยาว และการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวันนี้ ทำให้องค์กรใหญ่ๆ ต้องดูแลลูกค้าระดับ VIP ให้มากขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญกับ Customer Relation Management เพราะเมื่อลูกค้าระดับ VIP ประทับใจต่อการดูแลที่ ‘พิเศษ’ ก็ย่อมหมายถึงโอกาสการเป็นคู่ค้ากันในระยะยาว แต่ในบางองค์กรอาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการดูแลลูกค้าระดับ VIP คำตอบจึงอยู่ที่ผู้ให้บริการ Lifestyle Experience ผู้เข้าใจและสามารถสร้างสรรค์ ‘ประสบการณ์พิเศษที่เงินไม่สามารถซื้อได้’ อย่าง The Black Tie Service
- สิ่งที่ทำให้ The Black Tie Service สามารถให้บริการพิเศษเหนือระดับได้อย่างแตกต่างก็คือ ทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ผู้ใส่ใจความต้องการของลูกค้า และสามารถรังสรรค์ประสบการณ์สุดพิเศษที่สามารถ Customize ได้ เช่น ทริปนั่งเครื่องบินเจ็ต ที่พักพร้อมบอลลูนทริป ดินเนอร์ร้านอาหารระดับเวิลด์คลาส ฯลฯ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ล้วนต้องอาศัยเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งและเป็นผู้เชี่ยวชาญ สามารถช่วยออกแบบกิจกรรมพร้อมสิทธิและประสบการณ์พิเศษอย่างพิถีพิถัน ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าระดับ VIP ได้