ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงเรื่องมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเริ่มมีผลเมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำว่าหน้าที่ของธนาคารกลางทุกประเทศ คือการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาแบงก์ชาติเห็นสัญญาณที่ไม่ดีหลายอย่างในช่วง 12-18 เดือนที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขหนี้เสียของสินเชื่อบ้านปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เศรษฐกิจโดยรวมดูดีขึ้น จึงตรวจสอบข้อมูลสินเชื่อบ้านเป็นรายสัญญา พบว่ามีสัญญากู้ที่ 2 ขึ้นไปเกิดขึ้นเยอะ นั่นคือกู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มทั้งที่บ้านหลังแรกยังผ่อนไม่หมด
นอกจากนี้ ยังพบการแข่งขันปล่อยกู้ระหว่างสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นผ่านสินเชื่อหลากหลายรูปแบบ ที่น่ากังวลคือสินเชื่อเงินทอน นั่นคือกู้เงินซื้อบ้านในราคาเต็ม ทั้งที่ราคาที่จ่ายจริงเป็นราคาที่ได้รับส่วนลด นอกจากนี้ยังให้เงินกู้เพิ่มเติมอีกด้วย ทำให้เหลือเงินสดเกินมาจำนวนหนึ่ง บางรายยื่นกู้ซื้อที่อยู่อาศัยพร้อมกันหลายที่ เมื่อได้รับการอนุมัติก็จะได้เงินสดเป็นก้อนใหญ่มาใช้จ่าย โดยพากันคิดว่าราคาบ้านมีแต่จะราคาขึ้นเท่านั้น ซื้อไว้ก็ปล่อยเช่าต่อได้ ความต้องการกู้ซื้อบ้านทั้งที่ไม่ได้ต้องการอาศัยจริงมากขึ้น และเกิดการเก็งกำไรในที่สุด ทั้งที่ปริมาณอุปทานส่วนเกินในระบบอสังหาริมทรัพย์กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ดร.วิรไท ยืนยันอีกครั้งว่า เจตนาที่แท้ของแบงก์ชาตินั้นไม่ต้องการให้คนที่ต้องการซื้อบ้านหลังแรกได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เมื่อมีการเก็งกำไรเกิดขึ้น ก็ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยทั้งตลาดถีบตัวสูงขึ้น คนที่ต้องการซื้อบ้านจริงๆ ก็ไม่สามารถซื้อได้ หรือซื้อในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น มาตรการ LTV ถือเป็นการช่วยแตะแบรกการเก็งกำไร และช่วยให้ผู้ที่ต้องการมีบ้านหลังแรกด้วย ส่วนผู้ที่ผ่อนบ้านหลังแรกมาได้ครบ 3 ปี และมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อบ้านหลังที่ 2 จะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว จะกระทบกับผู้เก็งกำไร หรือซื้อบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไปเท่านั้น
หากพิจารณาตัวเลขสินเชื่อใหม่ช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีการเร่งกู้ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ก่อนมาตรการมีผลวันที่ 1 เมษายน 2562 และตัวเลขสินเชื่อก็ปรับลดลงอย่างชัดเจนในเดือนเมษายนและพฤษภาคม หากพิจารณาทั้ง 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม) พบว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งประเทศยังเติบโต 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดที่อยู่อาศัยไม่ได้ลดลง สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังโต 15% ขณะที่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม บ้านหลังแรกและบ้านแนวราบโดยรวมไม่ได้รับผลกระทบ ต่างจากคอนโดมิเนียมที่เป็นสัญญาที่ 2 ที่ 3 ขึ้นไปกลับมียอดขายลดลงชัดเจน อย่างไรก็ตาม ดร.วิรไทกล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลลัพธ์ เพราะมาตรการเพิ่งมีผลบังคับใช้เพียง 2 เดือนเท่านั้น และมีผลของการเร่งกู้ในช่วง 3 เดือนแรก ก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- ธนาคารแห่งประเทศไทย