เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าช่วงต้นปี 2562 เศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มเติบโตช้าลง สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว โดยคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2562 อยู่ที่ 3.5% ปัจจัยที่สำคัญคือภาคการส่งออกที่หดตัวเหลือ 4% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา เป็นการหดตัวไตรมาสแรกในรอบสามปี ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคของครัวเรือนยังคงเติบโตอยู่จากปัจจัยด้านบวกของอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ การเพิ่มการจ้างงาน และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ
ส่วนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะเติบโต 3.6% และปี 2564 จะเติบโต 3.7% ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนจะยังคงเติบโตต่อเนื่องไปพร้อมกับการลงทุนภาครัฐที่กำลังเร่งดำเนินการ สิ่งที่สำคัญคือความต่อเนื่องของนโยบาย และการดำเนินการโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน จำเป็นที่ไทยต้องเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ใช้ประโยชน์จากทำเลยุทธศาสตร์ที่มีให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการค้าและการบริการ
ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังเป็นความเสี่ยงที่มีผลสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ และเป็นปัจจัยลบต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้แล้วยังมีปัจจัยภายนอกอย่างความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง และกระทบกับสินค้าส่งออกของไทย
อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกชี้ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างก้าวกระโดด คนไทย 82% เข้าถึงระบบธนาคารและบัญชีธนาคารเป็นของตนเอง ขณะที่ช่องว่างระหว่างเพศในการเข้าถึงบริการก็ต่ำมาก ความท้าทายที่สำคัญคือคุณภาพของบริการทางการเงินโดยใช้ดิจิทัล และการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์เป็นเครื่องมือสำคัญจากนี้ต่อไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์