×

นักวิเคราะห์ชี้ กลุ่ม OPEC+ ลดกำลังผลิตน้ำมันต่ออีก 9 เดือน ช่วยพยุงราคาน้ำมัน หลังสงครามการค้าฉุดดีมานด์ชะลอตัว

05.07.2019
  • LOADING...
OPEC+

เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อที่ประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และประเทศนอกกลุ่ม หรือที่เรียกว่า OPEC+ มีมติขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือน ซึ่งผู้สันทัดกรณีมองว่าการตัดสินใจครั้งนี้สะท้อนความวิตกกังวลของกลุ่มที่มีต่อภาวะชะลอตัวในอุปสงค์พลังงาน สืบเนื่องจากความตึงเตรียดทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก

 

มาร์ก บรูเนอร์ ซีอีโอบริษัททรัพยากรธรรมชาติ Fortem Resources ให้ความเห็นว่า การลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาด และพยุงราคาน้ำมัน ท่ามกลางปัญหาความไม่แน่นอนทางการค้าทั่วโลก 

 

เมื่อประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันมีความกังวลเกี่ยวกับดีมานด์พลังงานที่เชื่อมโยงกับปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโดยตรง หนทางเดียวที่จะพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ผันผวน และปรับตัวในกรอบไม่ต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็คือการขยายเวลาลดกำลังการผลิตจนกว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากนี้ก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว 

 

ทั้งนี้ กลุ่ม OPEC+ มีฉันทามติในการลดกำลังการผลิตน้ำมันลงเหลือ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2018 มาจนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ และเห็นพ้องที่จะขยายเวลาต่อไปอีกจนถึงเดือนมีนาคม ปี 2020 หลังมีการปรับลดคาดการณ์ดีมานด์น้ำมันทั่วโลกในปี 2019 ลง สืบเนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีแนวโน้มขยายตัว ตลอดจนปัญหาท้าทายอื่นๆ 

 

ขณะที่ โอมาร์ อัล-อูบายดลี ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัท Derasat ในบาห์เรน ให้ทัศนะว่า กลุ่ม OPEC+ ตระหนักดีว่า ปัญหาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบต่อดีมานด์น้ำมันและราคาน้ำมัน ซึ่งความตึงเครียดที่ผ่านมาได้ฉุดราคาน้ำมันดิ่งลงมาระยะหนึ่งแล้ว

 

อีกหนึ่งสัญญาณที่สะท้อนว่า บรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่างกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามการค้าก็คือ การเลื่อนประชุมจากกำหนดการวันที่ 25-26 มิถุนายน ไปเป็นวันที่ 1-2 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากพวกเขาต้องการรอดูผลการประชุมระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน บนเวทีซัมมิต G20 ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำทั้งสองตกลงที่จะสงบศึกชั่วคราว และรื้อฟื้นการเจรจาการค้ารอบใหม่เพื่อยุติข้อพิพาท อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างสองประเทศมหาอำนาจยังต้องใช้เวลาอีกมาก และยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

อัล-อูบายดลี มองว่า ถึงแม้ข้อตกลงระหว่างทรัมป์กับสีจิ้นผิงจะเป็นก้าวย่างที่เป็นบวก แต่ก็ไม่เพียงพอในมุมมองของ OPEC+ เนื่องจากเวลานี้มีปัจจัยลบที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันมากเกินไป ซึ่งนี่ก็นำไปสู่คำอธิบายว่าทำไมกลุ่ม OPEC+ จึงสามารถบรรลุฉันทามติกันได้ แม้มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ภายใน

 

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลงกว่า 16% ในเดือนพฤษภาคม ในช่วงที่สงครามการค้าทวีความตึงเครียด ก่อนที่จะดีดตัวขึ้นในเดือนมิถุนายน สืบเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันทั่วโลก โดยสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 57.34 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากปิดตลาดต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อวันอังคาร

 

ไรอัน ฟิตซ์เมาริซ นักกลยุทธ์ด้านพลังงานแห่ง Rabobank ให้ความเห็นกับ MarketWatch ว่า “การลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ประกอบกับความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างทรัมป์กับสีจิ้นผิง น่าจะช่วยพยุงราคาน้ำมันได้ในระยะยาว ในขณะที่โลกเข้าสู่ช่วงที่มีดีมานด์น้ำมันสูงสุดในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม โดยฟิตซ์เมาริซคาดว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI จะปรับตัวขึ้นแตะ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์จะพุ่งขึ้นไปถึง 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงไตรมาส 3 ก่อนที่ราคาจะคงที่”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X