นับวันปัญหาผู้ลี้ภัยดูจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต้องร่วมกันขบคิดและแก้ไข เพราะล่าสุดสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่าปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยทั่วโลกกว่า 17.2 ล้านคนที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ UNHCR และจำนวนกว่าครึ่งคือเด็กๆ
ในรายงานเรื่อง ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย ที่ทำการเปรียบเทียบสถิติของ UNHCR เกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาของผู้ลี้ภัย กับข้อมูลการสมัครเข้าศึกษาในโรงเรียนของเด็กทั่วโลกจาก UNESCO เปิดเผยว่า ปัจจุบันเด็กผู้ลี้ภัยอายุระหว่าง 5-17 ปี กว่า 3.5 ล้านคน ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในปีการศึกษาล่าสุด ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเด็กในวัยดังกล่าวควรจะได้รับการศึกษาในโรงเรียนอย่างน้อย 200 วันต่อปี
ขณะที่เด็กๆ ทั่วโลกได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับประถม 91% แต่สำหรับเด็กผู้ลี้ภัยกลับมีเพียง 61% เท่านั้นที่มีโอกาสศึกษาในระดับเดียวกัน ยังไม่นับรวมในประเทศที่มีรายได้น้อย ที่เด็กลี้ภัยน้อยกว่า 50% เท่านั้นที่ได้รับการศึกษาในระดับประถม
ยิ่งเมื่อดูสถิติการเข้าเรียนในระดับมัธยม โอกาสทางการศึกษาก็ดูจะยิ่งห่างไกลกันมากขึ้น เพราะขณะที่เยาวชนทั่วโลก 84% มีโอกาสเข้าเรียนมัธยม แต่เยาวชนผู้ลี้ภัยกลับมีเพียง 23% เท่านั้นที่ได้ศึกษาต่อในระดับเดียวกัน และจะเหลือแค่ 9% สำหรับเด็กผู้ลี้ภัยในประเทศที่มีรายได้น้อย
ส่วนโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของผู้ลี้ภัยถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะขณะที่สถิติการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของเยาวชนทั่วไปอยู่ที่ 36% แต่สำหรับเยาวชนผู้ลี้ภัยกลับอยู่ที่ 1% เท่านั้น
“การศึกษาสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศที่ให้การดูแลพวกเขา รวมถึงประเทศของพวกเขาเองเมื่อพวกเขาสามารถเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดได้ในอนาคต ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนทั่วโลกแล้วนั้น ช่องว่างทางโอกาสในการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยก็มีแต่จะขยายตัวกว้างขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” ฟิลิปโป กรันดี (Filippo Grandi) ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็น
นอกจากนี้ในรายงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้การศึกษาของผู้ลี้ภัยกลายเป็นหนึ่งในเรื่องพื้นฐานที่ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ และควรได้รับการสนับสนุนในระยะยาวทั้งแผนงานและเงินทุน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ นับรวมผู้ลี้ภัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาด้วย
“แม้ว่าปฏิญญานิวยอร์ก ว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ จะได้รับการสนับสนุนอย่างมาก หากแต่ 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการศึกษาของผู้ลี้ภัยก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องเผชิญอยู่
“การรับรองว่าผู้ลี้ภัยจะสามารถเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาที่เท่าเทียมนั้น เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของเราทุกคน ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะช่วยกันเปลี่ยนคำมั่นที่ให้ไว้ร่วมกัน ให้กลายเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย” กรันดีกล่าว
แม้การศึกษาจะไม่สามารถขจัดความทุกข์ยากของผู้ลี้ภัยที่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองเพื่อหนีภัยอันตรายที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนก่อไว้ได้สำเร็จ แต่การศึกษาก็น่าจะเป็นเครื่องรับประกันได้ว่าในอนาคตพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน ติดตามรายงาน ‘ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย’ ของ UNHCR ได้ทาง www.unhcr.org/left-behind-media