หลังจากเกิดกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก ‘เครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม’ เผยแพร่เรื่องราวของคุณแม่ลูก 6 ที่เคยได้รับผลตรวจจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี ก่อนที่ 5 ปีถัดมาจะได้รับการตรวจจากโรงพยาบาลชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งผลการตรวจกลับกลายเป็นว่าเธอไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีแต่อย่างใด
ล่าสุด (3 ก.ค.) นายแพทย์พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เผยว่าในเบื้องต้นได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้รับเรื่องร้องเรียนของผู้ได้รับผลกระทบจากการตรวจเชื้อเอชไอวีที่โรงพยาบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจะนำเรื่องเสนอปลัดกระทรวงและตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้รับผลกระทบและผู้ให้บริการ
โดยเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการคือการช่วยเหลือเยียวยาในกระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 41 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะมีมาตรฐานการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในเลือด โดยจะตรวจคัดกรองเบื้องต้นก่อน หากพบมีปฏิกิริยา (reactive) จะต้องส่งตรวจยืนยันด้วยเทคนิคอื่นเพิ่มเติม หากพบมีปฏิกิริยาในทุกการทดสอบจึงจะวินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะทดสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันตัวบุคคลด้วย ถ้าการตรวจยืนยันไม่พบปฏิกิริยา (non-reactive) แสดงว่าการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเป็นผลบวกปลอม (false positive) สำหรับกรณีที่เป็นข่าวดังกล่าว คณะกรรมการจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว
ภาพ: Royal Thai Government
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: