×

รวมไฮไลต์เด็ดที่ไม่ควรพลาด มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19

13.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ เริ่มต้นขึ้นในปี 2542 กับการแสดง 6 ชุด มีศิลปินที่มาร่วมแสดง 200 คน มาจนถึงปีนี้ที่เทศกาลเติบโตจนเปิดการแสดง 13 ชุด ใช้เวลาจัดแสดงราว 5 สัปดาห์ ทั้งยังมีศิลปินมาร่วมแสดงนับพันคน!
  • Katya & The Prince of Siam การแสดงบัลเลต์เรื่องราวความรักของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ และแคทยา สาวงามชาวรัสเซีย ทั้งคู่พบรักกันเมื่อครั้งที่ราชนิกูลหนุ่มเข้ารับการศึกษาที่สถาบันการทหารชั้นนำของรัสเซีย ความพิเศษคือการผสมผสานองค์ประกอบของนาฏศิลป์ไทยเข้าไป
  • ละครเพลงชุด West Side Story จากสหรัฐอเมริกา การแสดงที่ได้รับความนิยมตลอดกาล

     เรียกว่าเป็นประเพณีไปแล้วก็ไม่ผิด กับการจัดเทศกาลมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ที่จัดต่อเนื่องในเดือนกันยายนของทุกปีที่กรุงเทพฯ มาจนถึงปีนี้ นับเป็นปีที่ 19 ที่มาพร้อมการแสดงที่พิเศษขึ้นไปอีก ตั้งแต่บัลเลต์คลาสสิกไปจนถึงละครบรอดเวย์

     มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ เริ่มต้นขึ้นในปี 2542 กับการแสดง 6 ชุด มีศิลปินที่มาร่วมแสดง 200 คน มาจนถึงปีนี้ที่เทศกาลเติบโตจนเปิดการแสดง 13 ชุด ใช้เวลาจัดแสดงราว 5 สัปดาห์ ทั้งยังมีศิลปินมาร่วมแสดงนับพันคน!

     ส่วนจะมีโชว์ไหนที่ไม่ควรพลาด THE STANDARD รวบรวมไฮไลต์เด็ดๆ มาให้ชมกันแล้ว

 

 

Katya & The Prince of Siam และ Cinderella

     การแสดงบัลเลต์โดยคณะโอเปราและบัลเลต์ที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย ‘เยกาเตรินเบิร์ก โอเปรา แอนด์ บัลเลต์ เธียเตอร์’ (Ekaterinburg Opera and Ballet Theatre) ในครั้งนี้มาพร้อมกับบัลเลต์คลาสสิกเรื่องดัง 2 ชุดคือ Katya & The Prince of Siam และบัลเลต์ 3 องก์เรื่อง Cinderella

     Katya & The Prince of Siam เรื่องราวความรักของเจ้าฟ้าจักรพงษ์และแคทยา สาวงามชาวรัสเซีย ทั้งคู่พบรักกันเมื่อครั้งที่ราชนิกูลหนุ่มเข้ารับการศึกษาในสถาบันการทหารชั้นนำของรัสเซีย ความพิเศษคือการผสมผสานองค์ประกอบของนาฏศิลป์ไทยเข้าไป ด้วยฝีมือการออกแบบท่าเต้นของ วาสิลี เมดเวเดฟ (Vasily Medvedev) แห่งบอลชอยเธียเตอร์

     Cinderella หนึ่งในผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของ แซร์เกย์ โปรโคเฟียฟ (Sergei Prokofiev) ที่ใช้เวลาสร้างสรรค์ระหว่างปี 1940-1944 บัลเลต์เต็มรูปแบบชุดนี้ออกแบบท่าเต้นโดย วลาดีมีร์ วาสิลีฟ (Vladimir Vasiliev) อดีตนักเต้นหลักของบอลชอยเธียเตอร์

     นอกจากนี้ยังมีบัลเลต์เรื่อง Spartacus และ Le Corsaire ผลงานสร้างสรรค์โดยคณะ ‘บัชกีร์ สเตท โอเปรา แอนด์ บัลเลต์ เธียเตอร์’ รวมเป็น 4 เรื่องที่จัดแสดงในครั้งนี้ เพื่อฉลองครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัสเซียและไทย

 

 

Beauty and the Beast

     บัลเลต์ร่วมสมัยจากฝรั่งเศส โดยคณะนักเต้น ‘มาลองแดน บัลเลต์ เบียร์ริตซ์’ กำกับโดย เธียร์รี มาลองแดน (Thierry Malandain) ซึ่งตีความ Beauty and the Beast แตกต่างออกไปจากเทพนิยายคลาสสิก โดยเรื่องราวเน้นไปที่ภาพปีศาจภายในตัวศิลปิน ซึ่งมาลองแดนได้อธิบายถึงผลงานชุดนี้ว่า “เบลล์คือตัวตนของจิตวิญญาณมนุษย์ ส่วนบีสต์คือพลังและสัญชาตญาณ” ในตอนท้ายยังคงจบแบบแฮปปี้ เมื่อบีสต์ที่หลุดพ้นจากสัญชาตญาณของปีศาจภายในร่าง และได้แต่งงานกับเบลล์ในที่สุด

 

 

Taming of the Shrew

     ‘ชตุทท์การ์ท บัลเลต์’ (Stuttgart Ballet) หนึ่งในคณะบัลเลต์ที่ดีที่สุดของวงการบัลเลต์โลก สร้างสรรค์บัลเลต์ 2 องก์ชุดนี้โดยนำเค้าโครงมาจากผลงานคลาสสิกของเชกสเปียร์

     เรื่องของ เพทรูชิโอ ชายหนุ่มผู้หวังจะปราบพยศ แคเทอรินา หญิงสาวอารมณ์ร้ายให้เป็นภรรยาที่ว่านอนสอนง่าย เรื่องราวคลี่คลายเมื่อแคเทอรินาทลายกำแพงของตัวเองลง และตระหนักว่าเพทรูชิโอรักเธออย่างที่เธอเป็น ดนตรีประกอบท่วงทำนองสดใสร่าเริงจากฝีมือการประพันธ์ของ โดเมนิโก สการ์ลัตติ (Domenico Scarlatti) ดัดแปลงโดย เคิร์ต-ไฮนซ์ สโตลเซอ (Kurt-Heinz Stolze)

 

 

Shanghai Philharmonic Orchestra: SPO และ Lithuanian National Symphony Orchestra: LNSO

     เซี่ยงไฮ้ ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา เป็นหนึ่งใน 5 วงออร์เคสตรายอดเยี่ยมที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน เคยร่วมงานกับศิลปินดนตรีผู้มีชื่อเสียง เช่น ไอแซ็ก สเติร์น (Isaac Stern), ยิชชัก เพิร์ลแมน (Itzhak Perman) และโบริส เบอร์แมน (Boris Berman) มาแล้ว ครั้งนี้ SPO จะบรรเลงเพลงร่วมกับ ลู่ซิฉิง (Lu Siqing) นักเดี่ยวไวโอลินชาวเอเชียคนแรกที่ชนะเลิศการแข่งขันจากเวที Paganini International Violin Competition ในอิตาลี ปี 1987 ภายใต้การควบคุมวงโดย เลี่ยงจาง (Liang Zhang)

     วงซิมโฟนีแห่งชาติของลิทัวเนีย ก่อตั้งขึ้นในปี 1940 โดยนักประพันธ์ดนตรี วาทยกร และนักเปียโน บาลิส ดวาริโอนาส (Balys Dvarionas) ปัจจุบันวงซิมโฟนีฯ อยู่ภายใต้การนำของ โมเดสตาส พิเทรนาส (Modestas Pitrenas) ผู้เป็นทั้งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และวาทยกรหลัก LNSO เดินสายแสดงในหลายประเทศทั่วยุโรป ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้

 

 

Torera และ Carmen

     ระบำฟลามิงโกสองเรื่องนี้สร้างสรรค์โดย Antonio Andrade Flamenco Company หรือคณะนักเต้นที่มาจากศูนย์กลางของศิลปะการเต้นฟลามิงโกในประเทศสเปน ได้รับการยกย่องในเรื่องของอัตลักษณ์และรากเหง้าของฟลามิงโก ทั้งยังได้รับการชื่นชมในการนำดนตรีที่เป็นเทรนด์ใหม่และที่มีอิทธิพลอยู่แต่เดิมอย่าง แจ๊ซ อารบิก และละตินอเมริกันมาผสมผสาน

     Torera ผลงานใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวปีนี้ในเทศกาลฟลามิงโก Malaga Biennial Flamenco Festival ของสเปน และจะเปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 กรุงเทพฯ การแสดงเล่าเรื่องราวความขัดแย้งของสองขั้วในธรรมชาติมนุษย์ นักเต้นจะรับบทที่แสดงออกถึงความวุ่นวายภายในใจของผู้หญิง ผ่านทางสัญลักษณ์การลงโทษทัณฑ์ของอารยธรรมโบราณ

     Carmen จะนำผู้ชมไปสู่ดินแดนศูนย์กลางของศิลปะการเต้นฟลามิงโกอีกครั้ง กับเรื่องราวของหญิงสาวผู้ยอมตายดีกว่าอยู่อย่างขาดอิสรภาพ อันโตเนียว อันดราเด ได้ปรับธีมอันคลาสสิกของ Carmen ให้เป็นการแสดงด้วยจิตวิญญาณใหม่ของฟลามิงโก โดยเขาอธิบายว่า “Carmen Flamenca ของผมได้ขจัดรูปแบบของอุปรากรออกไปจนหมด แล้วใส่รากเหง้าของฟลามิงโกเข้าไปในส่วนของดนตรีและการเต้น”

 

 

West Side Story

     ละครเพลงชุด West Side Story จากสหรัฐอเมริกา ที่ครองใจผู้ชมตลอดกาลด้วยดนตรีประกอบที่อยู่ในความทรงจำอย่างเพลง Maria, Tonight, Somewhere, America และ I Feel Pretty สร้างสรรค์จากความสามารถของสี่สุดยอดอัจฉริยะ เลียวนาร์ด เบิร์นสไตน์, เจอโรม ร็อบบินส์, อาเธอร์ ลอเรนท์ส และสตีเฟน ซอนด์ไฮม์

     และนี่เป็นการแสดงในโปรดักชันดั้งเดิมที่เดียวในโลกที่ได้รับอนุญาตให้นำเสนอท่าเต้นฉบับดั้งเดิมของเจอโรม ร็อบบินส์ และครองอันดับหนึ่งของละครเวทีที่คู่ควรกับการได้ชมสักครั้งในชีวิต

FYI
  • บัตรชมการแสดงมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 กันยายน ถึง 19 ตุลาคม 2560 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ มีจำหน่ายที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ (www.thaiticketmajor.com) สายด่วนโทร 0 2262 3191 หรือที่เคาน์เตอร์ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.bangkokfestivals.com
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X