×

ชวนหนีความวุ่นวายในเมืองหลวง หลบไปพักใจชาร์จพลังกับเทศกาลดนตรีในสวน ครั้งที่ 31 ที่สวนลุมพินี [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
26.01.2024
  • LOADING...

แสงแดดร่มๆ กับลมอ่อนๆ โชยโกรกยามเย็นวันอาทิตย์บนผืนหญ้าเขียวขจี และกลิ่นไอดินที่มีเสียงดนตรีจากวงออร์เคสตราบรรเลงเป็นฉากหลัง ช่างเป็นองค์ประกอบที่คลุกผสมแล้วกลับเข้ากันดีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังนับเป็นโอกาสพิเศษที่เราจะได้รีเซ็ตตัวเอง ชาร์จพลังใจจากความเหนื่อยล้าที่สั่งสมมาตลอดทั้งสัปดาห์ ก่อนเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ที่ดี

 

หากใครยังไม่มีแพลนไปไหน หรือยังไม่รู้จะทำอะไรในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เราอยากชวนคุณออกมาชิลและหย่อนใจไปกับ ‘ดนตรีในสวน’ เทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี กรุงเทพฯ 

 

เทศกาลดนตรีในสวนครั้งนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 31 แล้ว ภายใต้​​​​ความร่วมมือของมูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า (RBSO) ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดยการสนับสนุนของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และพันธมิตร โดยปีนี้ดนตรีในสวนจะจัดขึ้นในทุกๆ วันอาทิตย์ รวมเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ (เริ่มวันที่ 14 มกราคม 2567 ถึง 10 มีนาคม 2567) เริ่มบรรเลงเพลงตั้งแต่เวลา 17.30 น. 

 

ภาพบรรยากาศเทศกาลดนตรีในสวน บรรเลงโดยวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO)

 

หลีกหนีจากความวุ่นวาย หลบมาชาร์จพลังใจ ฮีลใจไปกับเสียงเพลงของวงออร์เคสตรา

 

ความประทับใจที่ผู้เขียนมีต่อเทศกาลดนตรีในสวนคือ ประสบการณ์การฟังเพลงในสวนสาธารณะที่เหมือนชวนให้เราได้บำบัดตัวเองด้วยเสียงเพลงและบรรยากาศแห่งธรรมชาติ ชวนให้ผ่อนคลายได้อย่างเต็มที่ และผละหนีจากความวุ่นวายในเมืองหลวงที่ทุกอย่างดูจะเร่งรีบไปเสียหมด พร้อมเปิดใจในการชาร์จพลังจากความเหนื่อยล้าที่สั่งสมมาตลอดทั้งสัปดาห์ได้แบบไม่มีกั๊ก

 

บรรยากาศบริเวณศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ยามแดดร่มลมตกช่วงยามเย็นของวัน ช่างโรแมนติกและอบอุ่นใจในการฟังดนตรีเป็นอย่างยิ่ง

 

ผู้เขียนเดินทางไปถึงงานดนตรีในสวนที่จัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ราวๆ ช่วง 17.25 น. แม้การแสดงจะยังไม่เริ่ม แต่เท่าที่ประเมินด้วยสายตา ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลายร้อยชีวิตต่างก็นำเสื่อและเก้าอี้สนามมาจับจองที่นั่งหน้าเวทีศาลาภิรมย์ภักดี จนผืนหญ้าขนาดยักษ์เนืองแน่นไปด้วยเสื่อหลากสีสันหลายลวดลายแทบจะทันที

 

สรวิช ภิรมย์ภักดี (กลางซ้าย) กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วย ณัฐวรรณ ภิรมย์ภักดี ทีปสุวรรณ (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มอบศาลาภิรมย์ภักดีภายในสวนลุมพินี หลังจากซ่อมแซมปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในการกำกับดูแลโดยกรุงเทพมหานคร โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (กลางขวา) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบ พร้อมเปิด ‘เทศกาลดนตรีในสวน ครั้งที่ 31’ บรรเลงโดยวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) ภาพเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 

 

ตั้งแต่พระอาทิตย์เริ่มจะลาลับขอบฟ้าจรดจนฟ้าปิดมืดสนิท ผู้เขียนกลับพบว่า ตลอดระยะเวลาการแสดงกว่า 120 นาทีช่างเป็นช่วงเวลาที่งดงาม และเต็มไปด้วยความรู้สึกผ่อนคลายเป็นอย่างยิ่ง ทั้งบรรยากาศภายในสวนลุมพินีที่ร่มรื่น เป็นธรรมชาติ แม้สถานที่จะตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เรารู้สึกเหมือนได้พาตัวเองหนีจากความวุ่นวาย จอแจชั่วครู่ มาปล่อยใจปล่อย(ความเอ็น)จอย

 

บรรยากาศบริเวณศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ยามแดดร่มลมตกช่วงยามเย็นของวัน ช่างโรแมนติกและอบอุ่นใจในการฟังดนตรีเป็นอย่างยิ่ง

 

เช่นเดียวกันกับผู้ฟังแปลกหน้าจำนวนมากที่เดินทางมาฟังดนตรีในสวนร่วมกับเราด้วยความตั้งใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งการเคารพสถานที่ เคารพกฎกติกาการรับชมการแสดงในพื้นที่สาธารณะ โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็เหมือนได้ลอยอยู่ในภวังค์แห่งความผ่อนคลาย ความสุข การได้พักผ่อนไปกับธรรมชาติ และดนตรีที่ไพเราะไปพร้อมๆ กันแบบไม่รู้สึกเกร็ง หรือตะขิดตะขวงใจแม้แต่น้อย

 

ดนตรีออร์เคสตราในรูปลักษณ์ที่เข้าถึงง่าย กับเพลย์ลิสต์ที่คิดมาแล้ว ‘เพื่อทุกคน’ 

 

ใครที่กังวลว่าการแสดงดนตรีในสวนที่บรรเลงโดยวงดุริยางค์แบบเต็มวง อย่างวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) จะเข้าถึงยากแล้วละก็ เราอยากให้คุณเปลี่ยนความคิดใหม่

 

นักร้องรับเชิญที่ร่วมแสดงในเทศกาลดนตรีในสวน

 

เพราะวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) เรียบเรียงดนตรีและท่วงทำนองในบทเพลงต่างๆ ขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้ฟังทุกเพศ ทุกช่วงวัย ทุกเชื้อชาติ และทุกกลุ่มความสนใจ สามารถเพลิดเพลินไปกับการฟังดนตรีในสวนได้อย่างลื่นไหล โดยสิ่งที่ชัดที่สุดคือเพลย์ลิสต์ที่วง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) คัดสรรขึ้นในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งค่อนข้างมีความหลากหลาย และโดนใจคนแทบทุกกลุ่มเลยก็ว่าได้ ซึ่งในโชว์หนึ่งโชว์จะประกอบไปด้วย เพลงพระราชนิพนธ์, เพลงคลาสสิก, เพลงดังจากละครเวทีหรือภาพยนตร์, เพลงจากละครไทย และเพลงจากภาพยนตร์แอนิเมชันของ Disney ที่เอาใจผู้ฟังกลุ่มเด็กๆ (สัปดาห์ที่เราเดินทางไปร่วมงาน วงนำเพลงอย่าง Let It Go และ Part of Your World จาก The Little Mermaid ขึ้นมาบรรเลงด้วย)

 

นักร้องรับเชิญที่ร่วมแสดงในเทศกาลดนตรีในสวน

 

นอกจากนี้ในช่วงคั่นกลางพักเบรกระหว่างเพลง ยังมีพิธีกร (Presenter) อย่าง ดร.อภิชาต อินทรวิศิษฎ์ ในฐานะพิธีกรวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) ขึ้นมาเล่นกิจกรรมแจกของรางวัล พร้อมสอดแทรกข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเพลงแต่ละเพลงที่วงหยิบขึ้นมาเล่นเป็นอาหารสมองประดับความรู้รอบตัวเรา

 

เรียกได้ว่าถ้าเข้าร่วมกิจกรรมฟังดนตรีในสวนกันทั้งครอบครัว สมาชิกทุกคนก็สามารถสนุกสนาน และเอ็นจอยไปกับบทเพลงที่วง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) บรรเลงกันทุกเพลงได้อย่างไม่เคอะเขินแน่นอน

 

แม้การแสดงจะล่วงเลยไปถึงช่วงหัวค่ำ 

แต่ผู้เข้าชมก็ยังเพลิดเพลินไปกับเสียงดนตรีอย่างเนืองแน่น

 

สำหรับรายละเอียดโชว์ในแต่ละสัปดาห์นั้น สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/royalbangkoksymphony โดยโชว์ทุกสัปดาห์เปิดให้ผู้ที่สนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมฟังดนตรีในสวนเข้าร่วมได้ฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด

 

ไม่อยากให้พลาดจริงๆ เพราะนี่คือกิจกรรมและประสบการณ์สุดพิเศษต้อนรับช่วงปีใหม่ ที่เราอยากให้คุณได้ปล่อยใจ เพลิดเพลิน และได้เข้าร่วมไปด้วยกัน

 

FYI
  • เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานที่จัดงานอย่าง ‘ศาลาภิรมย์ภักดี’ ที่ตั้งอยู่ในสวมลุมพินี คือการที่ศาลาขนาดยักษ์รูปทรงแปดเหลี่ยม เป็นศาลาที่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ดำเนินการสร้างและส่งมอบให้กับกรุงเทพมหานคร เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครบ 75 พรรษา ในปี 2544 เพื่อให้กรุงเทพมหานครนำศาลาแห่งนี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการจัดงานดนตรีในสวน 
  • ในช่วงปี 2566 บุญรอดบริวเวอรี่เข้าไปปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศาลาภิรมย์ภักดีหลังเดิมที่ทรุดโทรมและชำรุด ในโอกาสครบรอบ 90 ปี บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ก่อนจะส่งมอบให้กรุงเทพมหานครนำไปใช้ประโยชน์ต่อ และจัดงานดนตรีในสวนได้ทันในช่วงต้นปี 2567 
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising