การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 เปิดฉากขึ้นแล้วในวันที่ 28 มิถุนายน โดยหัวข้อการหารือครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลก ไปจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม จากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางไปจนถึงภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตาม ไฮไลต์สำคัญที่ทั่วโลกจับตามองมากที่สุดไม่ใช่ตัวที่ประชุมที่เป็นการรวมตัวกันของบรรดาผู้นำประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าและตลาดเกิดใหม่ที่มีสัดส่วน 90% ของ GDP โลก หากแต่เป็นการประชุมนอกรอบระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีนในวันที่ 29 มิถุนายน เพื่อหาข้อยุติในสงครามการค้าที่ดำเนินยืดเยื้อมาเกือบ 1 ปีเต็ม
อาจเป็นเพราะการประชุมซัมมิต G20 ครั้งที่ผ่านๆ มา ไม่มีข้อผูกมัดในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม นอกเหนือจากการออกแถลงการณ์แสดงท่าทีหรือจุดยืนที่มีต่อประเด็นร้อนในมิติการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กระนั้นการที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เลือกใช้ที่ประชุม G20 ในการเจรจาการค้ารอบนี้ ก็ทำให้ G20 กลายเป็นเวทีที่โดดเด่นขึ้นมาอีกครั้งและได้รับความสนใจไปทั่วโลก
ท่ามกลางความคาดหวังจากนานาชาติว่า ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 1 และ 2 ของโลก จะใช้โอกาสนี้หาทางลง เพื่อไม่ให้ความตึงเครียดขยายตัวจนสร้างความปั่นป่วนในตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลกมากไปกว่านี้ แต่กระนั้น นักวิเคราะห์หลายคนในต่างประเทศได้แสดงมุมมองที่สอดคล้องกันว่า อย่าเพิ่งตั้งความหวังกับการประชุม G20 คราวนี้มากเกินไป
เพราะมีแนวโน้มสูงที่การประชุมระหว่าง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่นครโอซาก้า จะไม่มีการทำข้อตกลงการค้าที่มีรายละเอียดลงลึกในแกนกลางของข้อพิพาท
จะมีก็แต่การตกลงสงบศึกชั่วคราว เพื่อซื้อเวลาสำหรับสองฝ่ายในการเจรจากันต่อในอนาคตเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างจากผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมระหว่างสองผู้นำในเวทีซัมมิต G20 ครั้งก่อนที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
เหตุผลที่นักวิเคราะห์เชื่อเช่นนั้นก็เพราะมีอุปสรรคมากมายที่คั่นกลางบนโต๊ะเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งมากเกินกว่าที่จะใช้เวลาเพียงน้อยนิดในที่ประชุมเพื่อสะสางได้
ดังนั้น ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ สหรัฐฯ อาจตัดสินใจยับยั้งมาตรการภาษีชุดใหม่กับสินค้าจีนมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ไว้ก่อน เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สถานการณ์ไม่บานปลายไปจากที่เป็นอยู่ และจีนก็น่าจะพอใจในระดับหนึ่ง
ก่อนการประชุมจะเริ่มต้นขึ้น มีรายงานว่า คณะบริหารของทรัมป์มีความตั้งใจที่จะชะลอการขึ้นภาษีกับสินค้าจีนไว้ก่อน และจะประกาศการตัดสินใจนี้ภายหลังการประชุมซัมมิต G20 เสร็จสิ้นลงแล้ว
เหตุผลที่กระแสคาดการณ์เทไปทางนั้น (ซึ่งเป็นบวกต่อตลาดด้วยนั้น) เป็นเพราะสองฝ่ายมีการเจรจาที่คืบหน้าไปมากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เป็นคนยืนยันอีกเสียงว่า การเจรจาระหว่างสองฝ่ายคืบหน้าไปแล้ว 90% โดยหัวหอกที่นำทีมเจรจาของฝ่ายสหรัฐฯ คือ โรเบิร์ต ไลต์ทิเซอร์ ผู้แทนการค้าระดับสูงของคณะบริหารทรัมป์ ขณะที่ฝ่ายจีน มี หลิวเหอ รองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะเจรจา
แต่สิ่งที่ทำให้ตลาดอย่าไปคาดหวังกับผลการเจรจามากเกินไป เพราะแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ยืนยันว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมรับเงื่อนไขใดๆ เกี่ยวกับกำแพงภาษี เพื่อขอเปิดการเจรจารอบใหม่ ขณะที่คณะบริหารของทรัมป์ระบุว่า เป้าหมายสำคัญของการพบปะกันของสองผู้นำคือ การปูทางสำหรับการเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้าในอนาคต หลังจากที่การเจรจาระดับทวิภาคีได้หยุดชะงักลงเมื่อเดือนที่แล้ว
อุปสรรคสำคัญในเวลานี้คือ ไม่มีฝ่ายใดยอมถอยในจุดยืนหรือหลักการของตน ดังนั้นหลายฝ่ายจึงมองว่า การประชุมบนเวที G20 เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้นำทั้งสองจะลดความกังวลในตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลก ด้วยการประกาศสงบศึกการค้าชั่วคราว
แต่สงครามการค้าจะปะทุขึ้นอีกครั้งหรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม เพราะการพักรบชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน หลังซัมมิต G20 รอบที่แล้ว ไม่ได้ช่วยคลี่คลายข้อพิพาทระหว่างสองฝ่ายให้หมดไปแต่อย่างใด เพราะท้ายที่สุด ทรัมป์ได้ตัดสินใจขึ้นภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากอัตรา 10% เป็น 25% ในเวลาต่อมา
เคร็ก อัลเลน ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน ให้ทัศนะว่า ผู้นำทั้งสองต่างก็ต้องการยุติสงครามการค้า แต่จะเป็นการมองแง่ดีเกินไป หากคาดหวังให้เกิดข้อตกลงฉบับสุดท้ายที่โอซาก้า
เขามองว่า การประชุมครั้งนี้จะโฟกัสไปที่การหารือ เพื่อวางขั้นตอนการเจรจาครั้งถัดๆ ไป รวมถึงมองหาแนวทางและกำหนดกรอบเวลากับสถานที่ที่สองฝ่ายจะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา
“สิ่งที่เราคาดหวังได้ก็คือ การไม่ประกาศมาตรการภาษีชุดใหม่ออกมา เพราะกำแพงภาษีที่มีอยู่ตอนนี้ก็สร้างความเสียหายแก่บริษัท แรงงาน และเกษตรกรมากมายแล้ว” อัลเลนกล่าว
ขณะที่ อาร์เธอร์ ครูเบอร์ หัวหน้านักวิจัยและผู้ร่วมก่อตั้ง Gavekal Dragonomics แสดงความเห็นว่า มันเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะเกิดข้อตกลงที่สร้างความพอใจในทางการเมืองให้กับทุกฝ่าย
สำหรับทรัมป์แล้ว เหตุผลที่เขาล้มโต๊ะเจรจากับจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม เพราะมองว่า ข้อตกลงที่จีนพยายามปรับแก้เนื้อหาอาจส่งผลเสียกับเขาในทางการเมือง หากนักการเมืองขวาจัดและพรรคเดโมแครตในสหรัฐฯ มองว่า เป็นข้อตกลงที่ไม่ดีพอ
ส่วนในจีนนั้น พวกเขามองว่า ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ นั้นสุดโต่งเกินไป ดังนั้นเงื่อนไขที่ หลิวเหอ รองนายกรัฐมนตรี และผู้ช่วยฝ่ายเศรษฐกิจของสีจิ้นผิง หยิบยกเข้าไปเจรจา จึงไม่สามารถโอนอ่อนได้
ครูเบอร์มองว่า สัญญาณบวกหนึ่งเดียวที่เกิดขึ้นคือ การที่ทรัมป์และสีจิ้นผิงยอมพบกันในเวที G20 หลังจากที่สองประเทศทำสงครามน้ำลายกันมาพักใหญ่ ความเคลื่อนไหวนี้บ่งบอกว่า ทั้งคู่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายไปมากกว่านี้
ถึงแม้ทรัมป์ไม่อยากทำข้อตกลงที่ ‘อ่อนแอ’ กับสีจิ้นผิง เพราะจะเปิดช่องให้คู่ปรับทางการเมืองโจมตีเขาได้ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ต้องการให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน รวมถึงไม่อยากบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนมากไปกว่านี้ เพราะจะไม่ส่งผลดีต่อคะแนนนิยมในตัวทรัมป์ ก่อนที่เขาจะลงชิงชัยในศึกเลือกประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2020
ในเรื่องนี้ โจเอล ทรันช์ตแมน ศาสตราจารย์ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยทัฟส์ในรัฐแมสซาชูเซตส์ เห็นตรงกันว่า เวลานี้ทรัมป์ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและสภาคองเกรส ให้ต้องเร่งสะสางปัญหาที่ก่อไว้ รวมถึงกำแพงภาษีที่เป็นชนวนให้เกิดสงครามการค้าในขณะนี้
หนึ่งในแรงกดดันมาจากภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ที่มีตัวแทนจากบริษัทหลายร้อยแห่งร่วมกันส่งจดหมายถึงทำเนียบขาว เพื่อเรียกร้องให้ทรัมป์ยุติสงครามการค้าและยกเลิกกำแพงภาษี ขณะที่อีกส่วนหนึ่งรวมตัวกดดันสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ให้ยกเว้นอากรขาเข้าในกลุ่มสินค้าที่อาจอยู่ในข่ายมาตรการภาษีชุดใหม่ของทรัมป์
มีเสียงโอดครวญดังมาจากภาคธุรกิจและผู้บริโภคชาวอเมริกันอย่างต่อเนื่องว่า การขึ้นภาษีของทรัมป์ได้เพิ่มต้นทุนให้กับสินค้านำเข้า ซึ่งท้ายที่สุด ภาระจะไปตกอยู่กับผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งทรัมป์เองก็ตระหนักในเรื่องนี้ แต่เขายังคงยืนกรานว่า กำแพงภาษีจะเป็นเครื่องมือกดดันประเทศคู่ค้าให้ปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติทางการค้าที่ทรัมป์มองว่าไม่ยุติธรรม และเป็นต้นเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างมหาศาล
ข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า มาตรการภาษีสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคชาวอเมริกันคิดเป็นมูลค่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ผู้บริโภคก็ยิ่งเดือดร้อนมากขึ้น และจะกระทบต่อฐานเสียงของทรัมป์อย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากผลกระทบต่อผู้บริโภคแล้ว มีการประเมินโดยนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากว่า หากสหรัฐฯ ขยายขอบเขตกำแพงภาษี และทำให้สงครามการค้ากับจีนยืดเยื้อบานปลายขึ้น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงปลายปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
สำหรับทรัมป์แล้ว เวลากำลังงวดลงทุกขณะ หลังเพิ่งประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ไปหมาดๆ เขามีเวลาไม่มากในการกอบกู้วิกฤตต่างๆ ก่อนที่จะไม่สามารถควบคุมได้
ส่วนสีจิ้นผิง ที่ถูกยกเป็นผู้นำจีนที่มีความเข้มแข็งที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เขาไม่อาจเซ็นข้อตกลงที่ทำให้จีนเสียเปรียบอย่างแน่นอน แต่สีก็ยอมรับว่า หากจีนเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ต่อไป ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และขัดขวางการพัฒนาของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน เพราะหากจีนอ่อนแอลง ก็อาจส่งผลให้เสถียรภาพทางการเมืองและสังคมสั่นคลอนได้
และดูเหมือนทรัมป์และสีจิ้นผิงจะเข้าใจตรงกันว่า เวลานี้เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะแตะเบรกก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
นั่นจึงเป็นที่มาของการต่อสายโทรศัพท์พูดคุยกันระหว่างผู้นำ และนัดแนะว่า จะพบกันในเวที G20 เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
ตอนหนึ่งของบทสนทนา สีพูดกับทรัมป์ว่า “การร่วมมือกันจะเป็นผลประโยชน์ต่อทั้งจีนและสหรัฐฯ แต่การเผชิญหน้ากันจะทำให้บาดเจ็บทั้งคู่”
ท่าทีของสีจิ้นผิงเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนพร้อมเจรจา แต่ก็ขึ้นอยู่กับทรัมป์ว่าจะยอมถอยหนึ่งก้าว เพื่อแสดงให้จีนเห็นว่า พวกเขายอมเปิดใจเจรจาบนพื้นฐานความเสมอภาคและเท่าเทียมหรือไม่
ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงมองว่า การพบกันครึ่งทางจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสองฝ่าย ทว่า คำถามที่น่าสนใจก็คือ พวกเขาจะยอมพบกันครึ่งทางเมื่อใด แต่มีแนวโน้มสูงที่จะไม่เกิดขึ้นในเวที G20 ครั้งนี้ เพราะข้อพิพาทระหว่างทั้งสองประเทศมีความสลับซับซ้อนมากกว่าประเด็นเรื่องการขาดดุลการค้า แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึงปัญหาความมั่นคงแห่งชาติที่มี Huawei เข้ามาเป็นตัวแปรในการเจรจาด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: