การค้นพบหลักฐานการปลูกกัญชาที่เก่าแก่ที่สุดของโลกนี้ถือเป็นข่าวที่ดังไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน เพราะมีการตั้งคำถามกันมานานแล้วว่ามนุษย์เริ่มปลูกกัญชาเพื่อเอามาใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บป่วยจริงๆ ตั้งแต่เมื่อไรและที่ใดเป็นที่แรกๆ ของโลก หลักฐานของการสูบกัญชาปลูกนี้ค้นพบในหลุมฝังศพโบราณของประเทศจีนที่มีอายุ 2,500 ปี
ทีมนักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์ นำโดย หยางหยีมิน และเรน เหม็ง จากสถาบันวิทยาศาสตร์กรุงปักกิ่ง ค้นพบหลักฐานจากการขุดค้นหลุมฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีเจอร์ซันคัล (Jirzankal) บนที่ราบสูงของเทือกเขาปามีร์ (Pamir) ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน ใกล้กับชายแดนประเทศทาจิกิสถานในเขตเอเชียกลาง
สาเหตุที่ทำให้นักวิจัยกลุ่มนี้มั่นใจว่าในหลุมฝังศพจำนวน 8 หลุมนี้มีการใช้กัญชาปลูก ไม่ใช่กัญชาป่า เพราะได้นำตัวอย่างของเศษอินทรีย์วัตถุที่หลงเหลืออยู่ในกระบะไม้ไปตรวจหาโดยใช้วิธีการตรวจวัดปริมาณก๊าซ ซึ่งผลจากการตรวจได้พบสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol – THC) ในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งปกติแล้วจะพบในปริมาณที่น้อยมากในกัญชาป่า สารนี้มีฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาทที่ทำให้เกิดภาพหลอน
ความจริงในเขตเอเชียกลางนั้นมีกัญชาป่าขึ้นอยู่โดยทั่วไป โดยขึ้นได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นแถบเชิงเขา จากเทือกเขาคอเซซัสไปถึงทางตะวันตกของประเทศจีน แต่พบมากในเขตเอเชียกลาง เพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์และภูมิอากาศเหมาะสม ดังนั้นย่อมหมายความว่าถ้าจะได้สายพันธุ์ที่เหมาะกับการสูบและให้ฤทธิ์หลอนประสาทนั้นต้องเป็นผลมาจากกระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์กัญชาของมนุษย์จากป่า แล้วนำมาปลูกจนพัฒนาสายพันธุ์ที่มีสาร THC ในปริมาณที่สูง ผลการวิเคราะห์นี้มีรายงานอยู่ในวารสาร Science Advances
ลักษณะของหลุมฝังศพที่พบหลักฐานการใช้กัญชานี้เป็นรูปวงกลม ใช้หินสีขาวกับสีดำมาเรียงไว้โดยรอบ 1 หรือ 2 วง ซึ่งรูปแบบการฝังศพแบบนี้พบได้ในกลุ่มคนก่อนประวัติศาสตร์ที่อาศัยในหุบเขาเฟอร์กานา (Feghana) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอุซเบกิสถาน ประเทศคีร์กีซสถาน และซินเจียงของจีน ภายในหลุมฝังศพทั้ง 8 หลุมพบกระบะไม้ขุด (Wooden Brazier) จำนวน 10 กระบะ ภายในกระบะแต่ละอันบรรจุหินไว้หลายก้อน มีอินทรีย์วัตถุบางส่วนที่หลงเหลืออยู่พร้อมกับร่องรอยการเผาไหม้ภายในกระบะไม้นี้ ซึ่งนักโบราณคดีได้ส่งตัวอย่างนี้ไปยังห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีที่หลงเหลืออยู่ จนนำไปสู่การค้นพบดังกล่าว
นักโบราณคดีคาดว่าวิธีการสูบกัญชาของคนกลุ่มนี้คือจะนำกระบะไม้ขุดไปวางใกล้กับร่างผู้ตาย จากนั้นเอาหินกรวดที่เผาไฟจนร้อนจัดวางลงไปในกระบะไม้ แล้วเอาใบกัญชาแห้งวางลงไปให้ค่อยๆ ไหม้จากความร้อนของก้อนหิน ควันก็จะฟุ้งไปทั่ว เป็นไปได้ว่าอาจมีการสร้างกระโจมคลุมเพื่อให้ควันของกัญชาตลบอบอวลอยู่ภายใน
ในช่วงของพิธีกรรมการฝังศพนี้จะมีการก่อกองไฟขึ้น มีคนเล่นดนตรีเป็นจังหวะ สูบกัญชาไปด้วย และมีหมอผีเป็นผู้นำพิธีกรรม ถ้ามองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือการสูบกัญชานี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีเกิดภาพหลอนจนนำไปสู่การเข้าถึงภาวะทางจิตในระดับที่ไม่รู้สึกตัว เพราะภาวะหลอนๆ นี้เองที่จะช่วยทำให้หมอผีและผู้เข้าร่วมพิธีสามารถสื่อสารกับเทพเจ้าหรือผู้ตายได้
นอกจากนี้ผลจากการเปรียบเทียบหลุมฝังศพทั้ง 8 หลุม ซึ่งแต่ละหลุมพบของจำนวนมากน้อยและมีขนาดไม่เท่ากันนั้น บ่งบอกว่าคนในสังคมนี้มีสถานภาพทางสังคมแตกต่างกันนั้น ผลก็คือทุกหลุมศพพบการใช้กัญชาเหมือนกันทั้งหมด แสดงว่ากัญชาคือสิ่งสำคัญในพิธีกรรมการปลงศพ
การใช้ ‘สารเสพติด’ ในพิธีกรรมทั้งความตายและอื่นๆ นั้นถือเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ในพิธีกรรมทั่วโลก เช่น ชาวซิเถียน ชนเผ่านักรบ ก็ใช้กัญชาในพิธีกรรม คือหลังจากพิธีฝังศพก็จะชำระล้างร่างกายด้วยควันจากกัญชา บางชนเผ่าใช้ฝิ่น บางชนเผ่าใช้เห็ดพิษที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา เพื่อให้เข้าถึงภาวะจิตที่คิดว่าสื่อสารกับเทพเจ้า ภูตผี หรือวิญญาณบรรพบุรุษได้
การใช้กัญชาในพิธีกรรมและเพื่อการผ่อนคลายนั้นได้รับการบันทึกตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยเฮโรโดตัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก โดยเขาได้บันทึกถึงวิธีการสูบของคนแถบทะเลสาบแคสเปียนไว้ว่า พวกนี้จะนั่งกันในเต็นท์ขนาดเล็ก กัญชาจะถูกจุดในชามที่มีหินร้อนวางอยู่ด้านใน สิ่งที่เฮโรโดตัสบันทึกไว้นี้ปรากฏว่าสอดคล้องกันกับหลักฐานจากเนินดินฝังศพในวัฒนธรรมปาซีริก (Pazyryk) ที่พบในแถบเทือกเขาอัลไต ซึ่งในหลุมฝังศพพบเตาขนาดเล็กทำจากทองแดง ภายในมีก้อนหิน เศษต้นกัญชา และเมล็ดกัญชาที่ถูกเผาไหม้ และจะว่าไปก็ไม่ได้แตกต่างไปมากนักจากหลุมฝังศพที่เจอร์ซันคัลนี้
เชื่อกันว่ากัญชาที่เข้าไปยังกรีกนี้อาจแพร่เข้าไปพร้อมกับชาวซิเถียนที่เป็นชนเผ่านักรบ มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สนับสนุนด้วยการค้นพบเมล็ดกัญชาในหลุมฝังศพหลายแห่งในเขตทวีปยูเรเชีย (ยุโรป-เอเชีย) และตามเส้นทางสายไหมทางบกสายเหนือ
นับว่าข่าวนี้เข้ากับสถานการณ์ในไทยอย่างมาก และน่าดีใจที่อย่างน้อยก็รู้ด้วยว่าคนโบราณที่เทือกเขาอัลไต (ที่เคยเชื่อว่าบรรพบุรุษคนไทยมาจากที่นี่) ก็สูบกัญชามาตั้งแต่ 2,500 ปีที่แล้วครับ
ภาพ: Xinhua Wu / Institute of Archaeology, Chinese Academy of Social Sciences
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Meng Ren, Zihua Tang, Xinhua Wu, Robert Spengler, Hongen Jiang, Yimin Yang and Nicole Boivin. “The origins of cannabis smoking: Chemical residue evidence from the first millennium BCE in the Pamirs,” Science Advances 12 Jun 2019: Vol. 5, no. 6. Available at: advances.sciencemag.org/content/5/6/eaaw1391
- The Guardian. Earliest known signs of cannabis smoking unearthed in China www.theguardian.com/science/2019/jun/12/earliest-known-signs-of-cannabis-smoking-unearthed-in-china