(บน) The Act of Killing (2012) ผลงานกำกับของ Joshua Oppenheimer
(ล่าง) Casting JonBenet (2017) ผลงานกำกับของ Kitty Green
พอได้ยินคำว่าหนังสารคดี เป็นไปได้ว่าคนส่วนมากอาจจะนึกถึงสารคดีสัตว์โลกอย่าง BBC, National Geographic, Animal Planet หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช้สลิง ไม่มีการมาใช้นักแสดง ไม่มีการเซตฉาก ฯลฯ
แต่ถ้าจะบอกว่ามีเพียงชีวิตสัตว์โลก หรือต้องเป็นหนังที่ไม่มีการเซตหรือปรุงแต่งเท่านั้นที่เรียกว่าสารคดี ก็คงจะห่างไกลความจริงไปอย่างมาก
โดยเฉพาะเมื่อเราได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคลาส We Will Doc You! ที่ Camp G The X Gen 2019 และ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับหนังสารคดี เจ้าของรางวัลสารคดียอดเยี่ยม สุพรรณหงส์ ปี 2561 จาก 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว เป็นคนนำพาทุกคนร่วมแชร์ประสบการณ์ตรงในการทำสารคดี พร้อมสำรวจโลกสารคดีในมุมมองของคนทำหนัง ก็ยิ่งทำให้เรารู้ว่าขอบเขตและพื้นที่ของสารคดีนั้นกว้างไกลกว่าที่คิด
เริ่มต้นคลาสด้วยการเล่าประสบการณ์ในชีวิตว่า ตอนที่เขาขอไปเรียนต่อด้านการทำสารคดีที่ School of Visual Arts, NYC แม่เขาอึ้งเล็กน้อย ก่อนตอบว่า “สัตว์โลกก็น่ารักดี”
เช่นเดียวกับคนทั่วไป นอกจากจะติดภาพสารคดีว่าต้องเป็นเรื่องราวของสัตว์โลกแสนน่ารักแล้ว หนังสารคดียังมีเครื่องหมายคำถามมากมายติดมาด้วย เช่น ความจริงของสารคดีนี่มันจริงแค่ไหน แค่ไหนถึงเรียกว่าไม่เซตฉาก ในเมื่อตั้งแต่คนทำสารคดีเอากล้องไปตั้งต่อหน้า Subject ความเรียลก็ย่อมหายไปแล้ว ฯลฯ
ตลอดคลาสเราจึงได้ทดลองทำสิ่งที่เป็นหัวใจของสารคดี นั่นก็คือการเล่าเรื่องในหลากรูปแบบ หลายวิธีการ ตั้งแต่เล่าเรื่องตัวเอง เล่าเรื่องของคนอื่น เล่าเรื่องตัวเองที่เล่าเรื่องคนอื่น เล่าเรื่องคนอื่นที่กำลังเล่าเรื่องของเขาเอง ให้คนหลายๆ คนเล่าเรื่องของใครคนหนึ่ง ไปจนถึงเลือกเพลงให้เข้ากับใครคนหนึ่งที่กำลังเล่าเรื่องของเขาเอง ก่อนจะพบว่าความจริงในสารคดีนั้นเป็นเรื่องสัมพัทธ์ของความสัมพันธ์ระหว่าง Filmmaker, Subject และ Audience ที่เกี่ยวเนื่องกันจนแยกขาดจากกันไม่ได้
หนึ่งในแง่คิดสำคัญที่ผู้เขียนได้จากคลาส We Will Doc You! คือ หนังสารคดีคือเครื่องมือของผู้กำกับที่กำลังทำหน้าที่เปรียบเสมือนทนาย ซึ่งกำลังว่าความให้ความจริงในมุมมองของเขาปรากฏขึ้นเป็นภาพ และรอดูว่าผู้ชมจะว่าอย่างไรกับความจริงนั้น
The Act of Killing (2012)
อีกคำถามที่น่าคิดคือ แล้วหนังสารคดีต้องดูเรียลแค่ไหน?
แน่นอน เราทุกคนคาดหวังให้สารคดีมีความ Realistic แต่ ไก่ ณฐพล พาเราไปทำความรู้จักกับหนังสารคดีหลายเรื่องที่ข้ามขอบเขตแห่ง ‘สารคดี’ ที่เราเคยรู้สึกนึกคิดตามกรอบเดิมๆ ไปไกล เช่น The Act of Killing ที่ผู้กำกับชาวอเมริกันอย่าง Joshua Oppenheimer สร้างหนังเรื่องนี้ โดยขอให้ Subject ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เคยฆ่ากวาดล้าง ‘คอมมิวนิสต์’ ในอินโดนีเซีย ทำหนังขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพื่อเชิดชูวีรกรรมในอดีต โดยการแสดงวิธีการฆ่าคอมมิวนิสต์ที่พวกเขาภาคภูมิใจออกมา แล้ว The Act of Killing ก็ตามเก็บเบื้องหลังการถ่ายทำเรื่องนี้อีกที
หรืออีกตัวอย่างใน Casting JonBenet ผลงานกำกับของ Kitty Green ซึ่งต้องการเล่าถึงคดีฆาตกรรมนางงามเด็ก Jon Benet ที่ยังหาตัวคนร้ายไม่ได้ ก็ใช้แคสติ้งคนในหมู่บ้านที่เกิดเหตุมาเล่นบทบาทสมมติเป็นครอบครัวของ Jon Benet แล้วก็ไถ่ถามความรู้สึกและความเห็นว่าพวกเขาคิดว่า “ใครคือคนร้ายตัวจริงกันแน่” ไปด้วย
Casting JonBenet (2017)
ภาพยนตร์สารคดีทั้งสองเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ความเรียลแบบข่าวของหนังสารคดีนั้นถูกข้ามเส้นไปไกลมากๆ และยังทำให้รู้ว่าวิธีการที่จะเล่าความจริงของหนังสารคดีนั้นแทบไม่มีขีดจำกัดอีกต่อไป
2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว (2561) ผลงานกำกับของ ณฐพล บุญประกอบ
พาร์ตที่มีค่ามากที่สุดในคลาสนี้คือ ประสบการณ์การทำสารคดีของ ไก่ ณฐพล เอง ที่ฉายภาพให้ผู้ร่วมคลาสได้เห็นว่า กว่าจะมาเป็นติดตามชีวิตการออกวิ่งของนักร้อง นักดนตรีระดับชาติใน 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว นั้น พวกเขาต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง ตั้งแต่ไอเดียตั้งต้น ความสนุกสนานของแต่ละฉาก จำนวนทีมงาน การใช้ชีวิตระหว่างถ่ายทำ หรือแม้กระทั่งการดีลกับ Subject คนดังอย่าง ตูน บอดี้สแลม ไปจนถึงการรับมือกับดิน ฟ้า อากาศ ที่อาจจะไม่เป็นใจ เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เรารู้ได้ในทันทีว่า การทำหนังสารคดีให้ได้ดีนั้นไม่มีทางลัด การลงมือทำและเจ็บตัวคือเรื่องจำเป็น
เนื่องจากการถ่ายทำสารคดีนั้นมีความล่อแหลมทางจริยธรรมตลอดเวลา ช่วงท้ายของคลาส ไก่ ณฐพล จึงมีคำถามมาให้เราลองตอบตัวเองดูว่า ถ้าเราเป็นคนทำสารคดี เราจะทำอย่างไรถ้าต้องเจอกับสถานการณ์เหล่านี้
- ถ้าเราตามถ่ายครอบครัวหนึ่งมา 4 ปี วันหนึ่งถ่ายอยู่แล้วพ่อทำร้ายลูกสาว เราจะถ่ายต่อหรือจะเข้าไปช่วยก่อน
- ถ้าเราตามถ่ายครอบครัวที่ยากจนครอบครัวหนึ่งมา 4 ปี วันหนึ่งบ้านครอบครัวนี้ถูกตัดไฟ เราจะจ่ายค่าไฟให้ก่อนหรือไม่
- เราจะยอมโกหกเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการจาก Subject หรือไม่
คำตอบในห้องนั้นแตกต่างกันออกไป และแทบไม่มีผิดถูก แต่ที่สำคัญกว่าคำตอบคือ มันเปิดโอกาสให้ทุกคนในคลาสได้ใช้ความคิดตาม และปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสารคดีที่คุ้นเคยกันไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่แน่ว่าคำถามเหล่านี้อาจตกตะกอนในใจของใครบางคน และผลักดันให้เขาลุกขึ้นมาเป็นคนทำหนังสารคดีที่มีอยู่น้อยมากในแวดวงหนังไทยในสักวันหนึ่ง
คลาส We Will Doc You! ซึ่งจัดขึ้น Camp G Academy The X Gen ของ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ เจ้าของรางวัลสารคดียอดเยี่ยม รางวัลสุพรรณหงส์ ปี 2561 จาก 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ยังมีอีกรอบในวันนี้ (8 มิ.ย.) ขณะเดียวกัน นี่เป็นเพียงคลาสแรกของปีนี้ ก่อนจะตามมาด้วยคลาสเรียนที่น่าสนใจอีกหลายคลาสในปีนี้ อาทิ
- คลาส The Film Master Craft โดย นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ (ผู้กำกับมือรางวัล เจ้าของผลงาน มะลิลา The Farewell Flower)
- คลาส The Sound Creator โดย ต้าร์-สักกพิช มากคุณ (ผู้ร่วมก่อตั้ง RAP IS NOW) / เดียร์ T-Biggest ศุภณัฐ ปรีย์วัฒนานันท์ (ผู้ก่อตั้ง BEATSWAY)
- คลาส Experience Design โดย เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ นัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล (ผู้ก่อตั้ง EYEDROPPER FILL)
- คลาส The Acting Effect โดย ครูร่ม-ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์ (Acting Coach ผู้ก่อตั้ง SPARK DRAMA), ครูบิว-อรพรรณ อาจสมรรถ (Acting Coach ผู้ก่อตั้ง BEW’S ACT-THINGS) และ ครูกุ๊กไก่-รังสิมา อิทธิพรวณิชย์ (Acting Coach ผู้ก่อตั้ง ACTIONPLAY)
และปลายปีกับคลาสนิเวศวิทยาการสร้างสรรค์งาน โดย เต๋อ-นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์
(ผู้กำกับ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย..ห้ามพัก..ห้ามรักหมอ)
ใครสนใจเข้าไปทำความรู้จักกับทุกคลาสของ Camp G Academy ตลอดปีนี้ได้ที่
www.facebook.com/watch/?v=279411256274558
และเช็กตารางเรียนพร้อม Booking คลาสที่ชอบได้ทาง
www.ticketmelon.com/campg/campgthexgen
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า