หากดูตัวเลขผลการลงมติโดยที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเสียง 500 ต่อ 244 และงดออกเสียง 3 นั้นจะพบว่า เสียงในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลมีแตกแถวโหวตงดออกเสียงเพียง 1 ส่วนอีก 2 นั้นเป็นการงดออกเสียงของประธานและรองประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมทางการเมือง
ขณะที่เสียง ส.ว. ดูจะเป็นเอกภาพมากที่สุด ไม่มีใครแตกแถว ขานชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ครบถ้วนตามนัด ส่วน 244 คะแนนเสียงข้างน้อยคือฝ่ายประชาธิปไตย 7 พรรคการเมืองที่ชัดเจนแล้วว่า เวลานี้จะต้องทำหน้าที่ ‘ฝ่ายค้าน’ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้นต่อไป
คำถามที่สำคัญต่อกลไกระบอบรัฐสภาที่รัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้คือ แล้วฝ่ายค้าน จะมีใครเป็นหัวหอกนั่งเก้าอี้ ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร’ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 106 วางหลักไว้ว่า คุณสมบัติของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรนั้นจะต้อง
- เป็น ‘หัวหน้าพรรคการเมือง’ ที่ได้เป็น ส.ส. ในสภา โดยมาจากพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. มากสุดในซีกฝ่ายค้าน
- ต้องไม่มีสมาชิกในพรรคไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา
ซึ่งผู้ที่จะมีคุณสมบัติเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ จะต้องมีเงื่อนไขทั้งสองข้อนี้ ขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้
เมื่อสแกนดูในขั้ว 7 พรรคการเมือง พรรคเพื่อไทยแม้จะมีจำนวน ส.ส. มากที่สุด แต่ไม่มีหัวหน้าพรรคได้เข้ามาเป็น ส.ส. หากจะให้ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ เป็นผู้นำฝ่ายค้าน เนื่องจากเคยได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ มาแล้ว พรรคต้องดำเนินการจัดให้มีการประชุมพรรค เลือกหัวหน้าใหม่ โดยเลือกให้สมพงษ์เป็นหัวหน้าพรรค เพื่อให้มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ผู้นำฝ่ายค้านจึงจะเกิดขึ้น และเมื่อดูเงื่อนไขทั้งหมดแล้วมีเพียงพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่จะสามารถสรรหาบุคคลมาเป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ได้
เดิมรัฐธรรมนูญปี 50 นั้นไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ต้องเป็นบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดก็ได้ เพราะหากมีหัวหน้าพรรคอื่นที่เป็น ส.ส. แล้ว ส.ส. ฝ่ายค้านด้วยกันลงชื่อสนับสนุนให้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็สามารถดำรงตำแหน่งได้ แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ตัดเงื่อนไขนี้ทิ้ง
สำหรับตำแหน่ง ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร’ คนล่าสุดก็คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้ง ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ นั่นเอง และพรรคประชาธิปัตย์คือพรรคที่มีผู้นำฝ่ายค้านคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังมีการสถาปนาตำแหน่งนี้ในรัฐธรรมนูญปี 17 อีกทั้งมีหัวหน้า 4 คนที่นั่งเก้าอี้นี้ ซึ่งมากสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
สมพงษ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่รัฐสภาว่า “ตัวเองจะเหมาะสมนั่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรค แต่พร้อมทำหน้าที่ เพราะเดินหน้ามาถึงขั้นนี้แล้ว”
สำหรับพรรคเพื่อไทย มีกำหนดจะประชุม ส.ส. เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคในวันที่ 11 มิถุนายนนี้ พร้อมๆ กับการประชุมประเมินสถานการณ์การเมือง และวางแนวทางการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นจะมีการประชุมร่วมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับ 6 พรรคร่วมอุดมการณ์
การมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแบบทางการ จะเพิ่มโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญได้เยอะขึ้น เพราะหลายกรรมการต้องมีองค์ประกอบนี้ มีหน้าที่สำคัญคือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า