นับเป็นข่าวที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการสื่อมวลชนอย่างมาก เมื่อมีการรายงานข่าวจากสื่อหลายสำนัก โดยเริ่มต้นจากนักข่าวในวงการได้ออกมาเปิดเผยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้บริหารสื่อสำนักหนึ่ง ที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศต่อลูกน้องสาวในสังกัดของตนเอง เป็นกระแสในโลกโซเชียลฯ ที่มีการพูดถึงทั้งจากประชาชนและสื่อมวลชนด้วยกันเองจำนวนมาก
กระทั่งในเวลาต่อมา กลุ่มนักข่าวภาคสนามได้ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก เรียกร้ององค์กรวิชาชีพตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีดังกล่าว
“เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนโดยรวม เพราะพฤติกรรมดังกล่าวขัดต่อจริยธรรมและคุณธรรมอันเป็นพื้นฐานของวิชาชีพ หากมีการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อจริง ถือเป็นเรื่องที่นำความเสื่อมเสียและส่งผลต่อการเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบสะท้อนความไม่ปกติในสังคมของสื่อมวลชน และยังเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ”
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กันยายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พิจารณาเตรียมตั้งคณะกรรมการสอบแล้ว โดยนายมงคล บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ เปิดเผยว่า
ตามที่มีกระแสข่าวว่าผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศพนักงานในสังกัด จนทำให้ต้องลาออกจากองค์กรและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง กระทบต่อปัญหาจริยธรรมและคุณธรรมอันเป็นพื้นฐานของวิชาชีพสื่อมวลชนโดยรวม และภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยมีความห่วงใยต่อกระแสข่าวที่เกิดขึ้น และได้หารือเบื้องต้นให้มีการตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเป็นข้อมูลพื้นฐานให้สมาคมนักข่าวพิจารณาดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามสื่อออนไลน์มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการอ้างถึงข้อความหรือ ‘โพสต์’ ของนายสุเมธ สมคะเน กรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยนั้น นายสุเมธได้ชี้แจงว่า ข้อเขียนดังกล่าวเป็นข้อเขียนที่เกิดจากการศึกษารวบรวมข้อมูลปัญหาคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในหลายองค์กรสื่อของสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ซึ่งมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่เคยเป็นผู้เสียหายหลายกรณีมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 ไม่ใช่การนำเสนอเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ
ดังนั้น ก่อนที่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้จะปรากฏโดยคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขอวิงวอนให้เพื่อนสื่อมวลชนทุกแขนงระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้ง 2 ฝ่าย จนกว่าข้อเท็จจริงที่ชัดเจนจะปรากฏออกมา เนื่องจากข้อมูลที่นำมาพูดต่อๆ กันเริ่มขยายความจนเกินระดับและขอบเขตของปัญหาที่เกิดขึ้นจริงไปมาก และพบว่ามีการนำหลายกรณีมาพูดปะปนกันจนถูกเข้าใจไปว่าเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯ กำลังทาบทามกรรมการทั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก กรรมการที่มาจากผู้บริหารองค์กรสื่อ และสื่อมวลชนที่ไม่มีส่วนได้เสียกับคู่กรณีในกรณีที่เกี่ยวพันกับองค์กรที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสมาคมนักข่าวฯ เพื่อให้เกิดความเป็นจริงและความเป็นธรรม อันเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้องมากที่สุด เพื่อให้คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ พิจารณาดำเนินการในทางที่เหมาะสมต่อไป
การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นความท้าทายขององค์กรวิชาชีพสื่อถึงการจัดการควบคุมดูแลกันเอง โดยเฉพาะมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานทางด้านคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามจากภาครัฐที่จะออกกฎหมายมาควบคุมการทำงานของสื่อ และเกิดกระแสสื่อมวลชนได้ร่วมกันต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าว
สำหรับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่มีผู้เปรียบเปรยว่าเป็น ‘ฐานันดรที่ 4’ ในสังคม และเป็นประหนึ่ง ‘แมลงวันที่ไม่ตอมแมลงวัน’ พวกเดียวกันเอง นี่จึงเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งที่จะต้องทำความจริงให้กระจ่างต่อสังคม
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง: