หลังจากมติในที่ประชุมเลือกนายกฯ ออกมาเป็นเอกฉันท์ โดยผลปรากฏว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับผลโหวตจำนวน 500 คะแนน ต่อผลโหวตของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้ 244 คะแนน งดออกเสียง 3 คะแนน
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan’ โดยมีข้อความระบุว่า ทั้ง 7 พรรคการเมืองร่วมปกป้องประชาธิปไตยจนถึงที่สุดแล้ว พร้อมเปิดเผยว่าสมาชิกพรรคทุกคนได้ทำการบ้านในการอภิปรายอย่างหนัก เพื่ออภิปรายให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐอย่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยแบ่งเป็น 3 ประการ ดังนี้
ประการที่ 1 ส.ส. เพื่อไทย เปิดประเด็นให้เห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ มีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) 98 (15) เนื่องจากเป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’
ซึ่งในข้อนี้ ส.ส. ของเรายกหลักฐานชัดเจนว่า ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้เคยพิพากษาว่าหัวหน้า คสช. คือ ‘เจ้าพนักงาน’ ซึ่งหมายความว่าเป็น ‘เจ้าหน้าที่ของรัฐ’ ซึ่งเป็นหลักฐานว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ตามคุณลักษณะต้องห้ามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 160(6) กำหนดไว้
ประการที่ 2 ส.ส. เพื่อไทย เปิดประเด็นให้เห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมข้อ 5 ที่ระบุว่า ‘ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย’
เหมือนที่ ส.ส. สุทิน คลังแสง จากมหาสารคาม ยกตัวอย่างชัดเจนว่า “รัฐธรรรมนูญระบุชัดเจนว่าการล้มล้างรัฐธรรมนูญเป็นกบฏ ท่านทำผิดข้อนี้ แต่ไปนิรโทษกรรมตัวเอง ในการนิรโทษกรรมเพียงแค่ไม่เอาผิด แต่ความผิดนั้นยังคงอยู่ ท่านยังได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้ากบฏ ถ้าเลือก พล.อ. ประยุทธ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก เปรียบเสมือนการเอาโจรมาใส่ชุดตำรวจ”
ประการที่ 3 พล.อ. ประยุทธ์ ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมข้อ 7 ที่ระบุว่า ‘ต้องถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าผลประโยชน์ตนเอง’ และขัดต่อข้อ 11 ที่ระบุว่า ‘ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม’ กรณีตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ ที่มาและกระบวนการคัดเลือก 250 ส.ว. ซึ่งสาธารณชนจดจำเรียกขานกันว่า #สวเอื้อพวกพ้อง และ 250 ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชนนี้เองที่ได้ขานชื่อสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
นอกจากนั้นยังมีประเด็นเสริมอีกมากมาย โดยเฉพาะกรณีที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. จากจังหวัดน่าน ย้ำว่า “ถ้าปล่อยให้สภาฯ สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี การบริหารบ้านเมืองจะเดินไปสู่ความหายนะและล้มเหลว เนื่องจากวิธีคิดในการบริหารประเทศที่ยึดเอารัฐราชการเป็นศูนย์กลาง ซึ่งที่ถูกต้องควรเป็น ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง”
“ดิฉันอยากย้ำว่า ถ้านี่คือการแข่งขันกีฬา สิ่งที่เราพบก็คือ ทีมประชาธิปไตยถูกโกงตลอดสนามการแข่งขัน ขณะที่อีกฝั่งอยู่นิ่งๆ เส้นชัยก็วิ่งเข้าหาแล้ว เหมือนที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐบางคนเคยพูดไว้บนเวทีว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา ไม่รวมถึงว่ายังมีนักการเมืองตระบัดสัตย์ หันไปต่อชีวิตต่อเวลาให้เผด็จการอีกเป็นจำนวนมาก แตกต่างจากที่ได้เคยหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งอย่างสิ้นเชิง แม้จะถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกระทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยยอมแพ้
“เรายืนหยัดอยู่ได้เพราะ ‘ประชาชน’ และด้วยการตระหนักอยู่เสมอว่า โอกาสของประเทศและโอกาสของประชาธิปไตยที่จะได้กลับมาลงหลักปักฐานให้มั่น คือภารกิจสำคัญยิ่งกว่าการแสวงหาอำนาจทางการเมือง”
นี่คือความมุ่งมั่นของพวกเรา 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งยึดมั่นต่อคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียง จนถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ และนำพาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนมา โดยกาลเวลาพิสูจน์ว่า เราไม่เคยทรยศประชาชน และการยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้องจะทำให้เรายืดอกได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี เมื่อหันกลับมามองวันนี้ เรายืดอกได้อย่างภาคภูมิว่า เราได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วเพื่อปกป้องประชาธิปไตยจนถึงที่สุด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: