×

เมื่อการทำไร่ ทำสวน กลายเป็นภารกิจสำคัญของคนรุ่นใหม่ในนาม ‘Young Smart Farmer’ เหล่าอเวนเจอร์เวอร์ชันเกษตร ‘ผู้นำเกษตรกรยุคใหม่’ ที่จะสร้างเครือข่าย เชื่อมโยงชุมชน ยกระดับสินค้าเกษตรสู่ตลาดยุค 4.0

โดย THE STANDARD TEAM
28.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • Young Smart Farmer หรือ YSF โครงการที่ริเริ่มโดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเกษตร ให้รู้จักบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถพึ่งพาตนเอง และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่นได้
  • การผลักดันเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำด้านเกษตร 4.0 ด้วยภารกิจ ‘เจ้าของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่’ เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ YSF ทั่วประเทศ

ไม่แน่นะ อีก 5 ปีข้างหน้า หนึ่งในอาชีพที่คนรุ่นใหม่อาจจะอยากเป็นคือ เกษตรกร ก็ได้ ด้วยชีวิตที่เร่งรีบในเมืองหลวงที่แสนจะกดดันจากปัญหาหลายด้าน คงจะเกินกว่าคนที่ต้องการใช้ชีวิตแบบ Slow Life จะทนไหว แถมโรคภัยไข้เจ็บที่มากับอาหารก็มากเสียจนการกินอาหารคลีนไม่ใช่แค่เรื่องของคนรักสุขภาพ แต่เป็นวาระสำคัญของคนที่ไม่อยากจะป่วยตาย และเมื่อวันหนึ่งทุกคนต่างหันมาปลูกผัก ทำสวนปลอดสารพิษเป็นของตัวเอง องค์ความรู้ด้านการเกษตรจะกลายเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจพอๆ กับศาสตร์ด้าน Data Science ที่ตอนนี้ใครๆ ก็อยากเรียนรู้

 

แต่ครั้นจะก้มหน้าก้มตาทำเกษตรแบบเดิมๆ ที่ได้ผลผลิตต่ำ แต่สูญเสียทรัพยากรมาก โดยเฉพาะสัดส่วนการใช้น้ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยแล้ว ภาคเกษตรใช้น้ำมากถึง 75% ของภาพรวมการใช้น้ำของทั้งประเทศเลยทีเดียว ลองนึกภาพตาม ถ้าเราสามารถนำความชำนาญของเกษตรกรรุ่นเก่ามาผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และประยุกต์ใช้โดยคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเรียนรู้และพัฒนาการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ดี มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และขยายตลาดสินค้าเกษตรได้กว้างขึ้น คำว่า ‘ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม’ คงจะยังหมายความตามนั้นจริงๆ  

 

 

Young Smart Farmer สร้างผู้นำเกษตรกรยุค 4.0 สร้างเครือข่าย เชื่อมโยงชุมชน พัฒนาสินค้าสู่ตลาดยุคใหม่

 

ด้วยเหตุนี้เอง กรมส่งเสริมการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงริเริ่มโครงการ Young Smart Farmer หรือ YSF โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเกษตร ให้รู้จักบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ พึ่งพาตนเอง และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่นได้ ในช่วงเริ่มแรกเกษตรกรจะเป็นศูนย์กลางและออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้จัดการเรียนรู้ ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer เป็นจำนวนมาก และกำลังต่อยอดส่งเสริมและพัฒนาเกษตรรุ่นใหม่เหล่านี้ให้เป็นเจ้าของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ด้วย

 

เกษตรกรรุ่นใหม่ YSF ที่จะเป็นเจ้าของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ได้นั้น จะต้องผ่านคุณสมบัติต่างๆ เพื่อเป็นผู้นำด้านเกษตร 4.0 ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer หรือ YSF ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้พร้อมเป็นจุดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตร และตอบโจทย์ความต้องการในระดับพื้นที่ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งเด็กๆ ยุวเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจ จะมาศึกษาหาความรู้ ฝึกปฏิบัติจริงในแปลงเรียนรู้ เป็นแหล่งเชื่อมโยง Young Smart Farmer ต้นแบบ เสมือนแหล่งถ่ายทอดความรู้เฉพาะด้านทุกสาขาการเกษตร สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรม หลักการธุรกิจเกษตร การผลิต การแปรรูป และการตลาด ตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งมั่น ตั้งใจพัฒนา และส่งเสริม เพื่อให้ขยายผลไปสู่ชุมชนเชื่อมโยงสู่กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่และการตลาดยุคใหม่ต่อไป

 

ศุภชัย เณรมณี เจ้าของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ จังหวัดอ่างทอง

 

ปรับแนวคิด พัฒนาสมาชิก สร้างเครือข่ายตามแนวคิด YSF กลายเป็นกลุ่มปลูกผักสวนครัวที่มีพื้นที่รวม 200 กว่าไร่

ศุภชัย เณรมณี YSF ซึ่งกลายมาเป็นผู้นำกลุ่มปลูกผักแปลงใหญ่ เริ่มต้นการเป็นเกษตรกรจากการปลูกผักกินเองในครอบครัว แล้วค่อยๆ ต่อยอดพัฒนาเป็นสินค้าสำหรับจำหน่าย ผลประกอบการดีจนเริ่มขยายพื้นที่ และได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ YSF ทำให้ได้แนวคิด และความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงหันมาปลูกพืชผักปลอดสารพิษ จนได้รับรองมาตรฐาน GAP และเริ่มรวมกลุ่ม พัฒนาจากกลุ่มเล็กๆ มีสมาชิกไม่ถึงสิบคน สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ กลายเป็นกลุ่มปลูกผักสวนครัวที่มีพื้นที่รวมทั้งกลุ่มประมาณ 200 กว่าไร่เมื่อปลายปี 2559 ตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 80 คน ซึ่งตัวเขาเองก็ทำหน้าที่ช่วยแนะนำและพัฒนาให้สมาชิกมีความชำนาญ และค่อยๆ ขยายเครือข่ายต่อไป

 

 

“สินค้าของเราส่งตลาดตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และบริษัทฯ ที่ต้องการพืชผักที่ปลอดภัย รวมถึงส่งตลาดทั่วไปด้วย ในส่วนของการพัฒนาสินค้า เนื่องจากผลผลิตของเราเป็นพืชผัก รูปแบบการพัฒนาจึงเน้นไปที่เรื่องคุณภาพและความปลอดภัย ได้มาตรฐาน GAP กลุ่มฯ ของเราเกิดขึ้นได้ เพราะกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้เราได้รับการพัฒนา และเพราะเราเป็น YSF ทำให้ได้เจอเพื่อน เจอเครือข่าย มีมุมมองที่กว้างขึ้น ทำให้มองเห็นว่า การจะพัฒนาและพาเพื่อนไปด้วยกันนั้นเป็นอย่างไร กรมส่งเสริมการเกษตรให้เราทุกอย่าง สนับสนุนในเรื่องปัจจัยต่างๆ รวมถึงองค์ความรู้ด้วย” ศุภชัยกล่าว

 

นวลลออ เทิดเกียรติกุล เจ้าของและผู้ก่อตั้ง ‘Aromatic Farm’ มะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์


ทดลอง เรียนรู้ ปรับใช้องค์ความรู้ YSF พร้อมส่งต่อความรู้สู่เกษตรกร ขยายเครือข่ายจนกลายเป็นศูนย์บ่มเพาะแปลงตัวอย่าง

ทางด้าน นวลลออ เทิดเกียรติกุล เจ้าของศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้ก่อตั้ง ‘Aromatic Farm’ ผลิตมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และยังเป็นประธาน Young Smart Farmer ของจังหวัดราชบุรี ก็เป็นอีกหนึ่งผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ที่นำองค์ความรู้จากการเข้าร่วมเป็น YSF มาพัฒนาสินค้า และขับเคลื่อนเครือข่ายมะพร้าวน้ำหอมพื้นที่กว่า 800 ไร่ เธอสนใจการทำเกษตรถึงขั้นผันตัวเองจากการทำงานประจำในบริษัทเอกชน มาทำการเกษตรอย่างเต็มตัว

 

“เราเริ่มต้นจากที่เป็นเกษตรกรรายเดี่ยว พอทำไปได้สักระยะหนึ่งก็คิดว่ามาตรฐานที่เราทำอยู่ตอนนี้เป็นมาตรฐานที่ดีต่อผลิตภัณฑ์และดีต่อผู้บริโภค คือเราทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิก ไม่ใช้เคมี พอเรารู้ว่ามาตรฐานที่เราสร้างขึ้นมาดี เราก็นำไปบอกต่อกับเกษตรกรรายอื่นๆ จากนั้นก็ค่อยๆ สร้างเครือข่ายกัน เพื่อที่จะให้เขาได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ราคาของผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น จึงเกิดการรวมตัวกัน และพวกเราก็เชื่อมโยงเป็นสมาชิกของแปลงใหญ่ และได้รับเลือกให้เป็นศูนย์บ่มเพาะฯ เป็นแปลงตัวอย่างของแปลงใหญ่ด้วย”

 

ขณะนี้เครือข่ายมะพร้าวน้ำหอมของเธอมีพื้นที่ทั้งหมด 800 ไร่ ส่วนด้านการตลาดจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ส่งให้กับห้างสรรพสินค้า และกลุ่มที่สอง ส่งให้กับโฮสเทล ภัตตาคาร กลุ่มโรงแรมต่างๆ และร้านอาหาร เธอยังบอกอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาช่วยเหลือและดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ โดยส่งเสริมความรู้ทั้งหมดในการผลิต และยังมีการจัดสรรงบประมาณบางส่วน เพื่อมาพัฒนาต้นแบบ ซึ่งเมื่อพัฒนาเสร็จแล้ว ก็ทำให้เกิดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ นับเป็นการพัฒนาต่อยอดที่มีประสิทธิภาพมาก

 

 

กิติพล พระนา ผู้นำศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ เจ้าของสวนมะม่วงเขียวเสวยส่งออกมาตรฐาน GAP


รวมพลังสมาชิก เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ ส่งออกมะม่วงเขียวเสวยไปยังประเทศเวียดนามด้วยมาตรฐาน GAP

ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ที่นำโดย กิติพล พระนา จังหวัดขอนแก่น คือสวนมะม่วงเขียวเสวยส่งออกมาตรฐาน GAP เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าติดตาม ความน่าสนใจอยู่ที่การรวมตัวกันและเชื่อมโยงเครือข่ายจนเป็นแปลงใหญ่ในการปลูกมะม่วงเขียวเสวยส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม สร้างรายได้ให้กับสมาชิกได้เป็นอย่างดี โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรในชุมชนซึ่งเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ทำมาตรฐาน GAP และในอนาคตจะส่งเสริมให้พัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานการส่งออก นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปสินค้าเป็นมะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงกวน และอนาคตจะขยายไลน์การแปรรูปเป็นไอศกรีมมะม่วงอีกด้วย

 

“แต่ก่อนผมปลูกมันสำปะหลังและอ้อย ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ผล ศูนย์ฯ ของผมทำสวนมะม่วงมา 6-7 ปีแล้ว ตอนหลังมาจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ และเป็นกลุ่มมะม่วงส่งออกได้ประมาณปีกว่า เราขายมะม่วงสดส่งออกให้กับประเทศเวียดนาม ผลผลิตหลักเป็นมะม่วงเขียวเสวย สวนของผมมีอยู่ 30 ไร่ แต่เมื่อรวมของเครือข่ายทั้งหมดที่เป็นแปลงใหญ่ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 300 ไร่”

 

เขาเล่าด้วยความภูมิใจว่า ทุกวันนี้ที่คนในชุมชนมีรายได้ สวนมะม่วงเขียวเสวยได้ส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม หรือองค์ความรู้ในการเชื่อมโยงเครือข่ายจะสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมการเกษตร โดยทางกรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำในเรื่องการทำมาตรฐาน GAP การจัดตั้งกลุ่ม การเขียนโปรแกรมโครงการทำกลุ่มแปลงใหญ่ และนำเขาไปอบรมคอร์สต่างๆ ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น จนสามารถขับเคลื่อนและเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ และอย่างที่บอกไปข้างต้น ดูเหมือนการหันมาปลูกพืชผักทำสวนกินเองเป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามาทุกที โครงการ YSF ดูจะเป็นสัญญาณการเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มต้นปรับตัวของภาคการเกษตรไทย ทั้งวิธีการผลิต แนวคิดในการทำการตลาด และเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ แน่นอนว่า YSF เหล่านี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรไทยให้ก้าวไปข้างหน้า สามารถแข่งขันได้ในโลกยุคดิจิทัล และก้าวไปสู่การเป็นเกษตรกรไทย 4.0 อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising