พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดตัวบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยภายใต้บริษัท อีพี-เทค เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นทั้งหมดโดย ปตท.สผ. ซึ่งเออาร์วีให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ โดยเน้นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจยุคใหม่ ถือเป็นการเดินหน้ายุทธศาสตร์การลงทุนในธุรกิจใหม่ของ ปตท.สผ. เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยจะต่อยอดจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น เพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เชื่อว่า เออาร์วีจะช่วยยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากด้านพลังงานของ ปตท.สผ. ได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับการลงทุนของเออาร์วีในระยะแรก คือช่วง 2562-2564 กำหนดงบประมาณที่ 1.6 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่ง ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปเออาร์วี ให้ความเห็นว่า เออาร์วีมีเป้าหมายระยะยาวในการเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งจากภาคการศึกษา อุตสาหกรรม รวมถึงสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจในยุคนี้และในอนาคต
หนึ่งในเทคโนโลยีล่าสุดที่เป็นผลจากความร่วมมือของเออาร์วีและพันธมิตรจากประเทศนอร์เวย์คือ หุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ (Subsea Flowline Control and Repair Robot: SFCR) ตัวแรกของโลก ที่สามารถตรวจสอบและซ่อมท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำได้โดยอาศัยการควบคุมจากระยะไกล ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในงานซ่อมแซมได้กว่าครึ่งจากการทำงานรูปแบบเดิม และลดความเสี่ยงของทรัพยากรบุคคล
นอกจากนี้ เออาร์วียังให้บริการและอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ สำหรับการปฏิบัติงานทั้งบนบก ในทะเล และทางอากาศ เช่น หุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย (Inspection-Class Autonomous Underwater Vehicle: IAUV) สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ใต้น้ำได้โดยอัตโนมัติ เช่น ตรวจสอบท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำและโครงสร้างของแท่นผลิตปิโตรเลียมใต้ทะเล เพื่อป้องกันการชำรุด โดยไม่ต้องอาศัยเรือสนับสนุนหรือเจ้าหน้าที่บังคับ หุ่นยนต์ตรวจสอบภายในท่อ (In-Pipe Inspection Robot: IPIR) เพื่อใช้สำรวจสภาพภายในท่อปิโตรเลียมที่มีพื้นที่จำกัด สามารถประมวลผลเป็นภาพ 3 มิติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ และอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) หรือโดรน สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ในที่สูง ถ่ายภาพทางอากาศ และยังสามารถใช้บินสำรวจพื้นที่เกษตรกรรม ช่วยวิเคราะห์พืชผลเพื่อเพิ่มผลผลิตด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)