นอกจากมะม่วงเปลือกสีทับทิมแดงรสหวานฉ่ำจะเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของ ‘มิยาซากิ’ จังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นแล้ว น้อยคนนักที่จะรู้ว่าจังหวัดนี้เปรียบได้ดั่งบ้านเกิดของ ‘คิกุรุมิ’ หรือมาสคอตชื่อดังจากทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่มาสคอตชื่อดังขวัญใจใครหลายคนอย่าง ‘เจ้าหมีคุมะมง’ (Kumamon) จากจังหวัดคุมาโมโตะ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานการรังสรรค์จากที่นี่ (เฉพาะการผลิตชุด)
คิกุรุมิ (Kigurumi) ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง มาสคอต โดยเป็นการประสมสองคำเข้าด้วยกัน ได้แก่ ‘คิรุ’ (Kiru) ที่แปลว่า การสวมใส่ และนุยกุรุมิ (Nuigurumi) ที่หมายถึง ตุ๊กตาของเล่น
หลังบานประตูสีแดงเยื้องๆ กับเกมเซ็นเตอร์และตู้คีบตุ๊กตาหลายสิบตู้บนชั้น 2 ของอาคาร Aceland ที่แห่งนี้คือรังลับของ คิกุรุมิ บิซ (Kigurumi Biz) บริษัทผู้ผลิตมาสคอตรายใหญ่ในญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากหลากหลายองค์กรทั้งในและนอกประเทศ โดยมีการเปิดเผยว่าตลอดทั้งปี 2015 พวกเขาทำเงินจากการสร้างมาสคอตได้มากถึง 1.5 ล้านยูโร หรือประมาณ 59 ล้านบาท!
THE STANDARD ได้รับโอกาสสุดพิเศษให้ร่วมพูดคุยกับ ‘ฮิโรมิ คาโนะ’ (Hiromi Kano) ผู้ร่วมก่อตั้งและเจ้าของบริษัทคิกุรุมิ บิซ วัย 56 ปี เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรื่องราว และแรงบันดาลใจของการสร้างมาสคอตนานกว่า 27 ปี ที่เธอนิยามตัวเองเป็นดั่งแม่ผู้ให้กำเนิดลูกๆ และหาคำตอบว่าทำไมวัฒนธรรมการใช้มาสคอตช่วยสื่อสารของชาวญี่ปุ่นจึงได้รับความนิยมเช่นนี้ ตลอดจนโมเดลการทำธุรกิจที่ทำให้ คิกุรุมิ บิซ ประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่บุคลากรมีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดแห่งหนึ่งของประเทศ
มันคงเหมือนกับกุ๊ก การที่จะรู้ว่าอาหารของเขาอร่อยหรือไม่ก็ต้องลองชิมก่อน เราเป็นผู้ผลิตมาสคอต ก็ต้องทดลองใส่เองว่าใส่สบายไหม เคลื่อนไหวสะดวกหรือเปล่า
จากอดีตคู่รักนักทำพร็อพประกอบละครเวที สู่การก่อตั้งบริษัทรับผลิตมาสคอต
ย้อนไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ยูอิจิ และฮิโรมิ คาโนะ (Yuichi & Hiromi Kano) สองสามีภรรยาชาวญี่ปุ่นได้เปิดกิจการเล็กๆ ที่รับผลิตอุปกรณ์สำหรับใช้ในการแสดงละครเวทีและการแสดงโอเปราขึ้นในจังหวัดมิยาซากิ
ทั้งคู่รับจ้างผลิตตั้งแต่งานสเกลเล็กๆ เช่น พร็อพประกอบการแสดง เครื่องแต่งกายของนักแสดง เรื่อยไปจนถึงฉากและโมเดลขนาดมหึมากว่า 20 เมตร แต่เเล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อผู้ว่าจ้างรายหนึ่งได้โยนโจทย์ให้สองสามีภรรยาชาวญี่ปุ่นรายนี้ลองผลิตชุดมาสคอตขึ้นมา
ด้วยความที่มีนิสัยเป็นคนขี้เกรงใจและไม่กล้าปฏิเสธคน ทั้งคู่จึงจำใจรับงานดังกล่าวมาทำ ก่อนที่ต่อมามาสคอตตัวนั้นจะกลายเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิตที่ทำให้ยูอิจิและฮิโรมิเปลี่ยนสายงานมาผลิตมาสคอตเต็มตัว และเริ่มดำเนินธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ปี 1990 (ก่อตั้งบริษัทในปี 2012) เพราะกระแสความนิยมของมาสคอตกำลังบูมอยู่พอดิบพอดี
จากคติความเชื่อที่ว่า ‘There’s no one inside’ จุดเด่นที่ทำให้ คิกุรุมิ บิซ ได้รับความไว้วางใจจากบรรดาหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศจึงอยู่ที่การออกแบบและกระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญด้านฟังก์ชันการใช้งานตามที่ผู้ว่าจ้างแต่ละรายต้องการได้ครบถ้วนทุกประการ ดังจะเห็นได้จากการที่มาสคอตคุมะมงสามารถถ่ายทอดคาแรกเตอร์ความทะเล้นผ่านท่าทางการเคลื่อนไหวแสนกวนโอ๊ย นอกจากนี้พวกเขาก็ยังเป็นผู้ผลิตมาสคอตรายแรกๆ ที่เริ่มติดตั้งพัดลมระบายอากาศภายในตัวมาสคอตอีกด้วย
ฮิโรมิบอกกับเราว่า “สมัยที่ฉันยังผลิตมาสคอตกับสามีแค่สองคน เขาจะถนัดการออกแบบมาสคอตให้สวยและน่ารักแค่ภายนอก แต่ด้วยความที่เป็นผู้หญิง ฉันจึงใส่ใจการออกแบบภายในชุดมาสคอตเป็นพิเศษ ฉันรู้สึกว่าต้องทำยังไงก็ได้เพื่อให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบายมากที่สุด เมื่อใส่แล้วเขาจะต้องเคลื่อนไหวออกมาได้เป็นธรรมชาติและไม่เก้งก้าง
“เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ตอนที่พวกเราทำมาสคอตหมีแดง ‘บิซแบร์’ (Bizbear) ประจำบริษัทตัวเอง ฉันก็ให้พนักงานทุกคนในบริษัทเวียนกันลองใส่ชุดมาสคอตที่ผลิตกันเองในการตระเวนออกงานต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลมาปรับปรุงให้พวกเราผลิตมาสคอตให้ออกมาดีที่สุด มันคงเหมือนกับกุ๊ก การที่จะรู้ว่าอาหารของเขาอร่อยหรือไม่ก็ต้องลองชิมก่อน เราเป็นผู้ผลิตมาสคอต ก็ต้องทดลองใส่เองว่าใส่สบายไหม เคลื่อนไหวสะดวกหรือเปล่า”
การเปรียบเทียบตัวเองเป็น ‘แม่’ ยามที่ผลิตมาสคอต จะช่วยทำให้เราใส่ใจในแต่ละขั้นตอนการผลิตเป็นพิเศษ บางครั้งตอนท่ีผลิตพวกเขาเสร็จแล้วก็จะแอบรู้สึกเหงาๆ บ้างเหมือนกัน มันเหมือนกับว่าพวกเราต้องพลัดพรากจากลูกของตัวเอง
จิตวิญญาณความเป็นแม่และเหล่าพนักงานหญิงล้วน! ผู้ให้กำเนิดมาสคอตหลายร้อยหลายพันตัว
สิ่งที่ทำให้เราประทับใจกระบวนการผลิตมาสคอตของ คิกุรุมิ บิซ ไม่ใช่แค่เรื่องการออกแบบมาสคอตโดยให้ความสำคัญด้านการนำไปใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความเชื่อของฮิโรมิที่มองมาสคอตทุกตัวเป็นดั่งลูกๆ ของเธอ โดยที่ คิกุรุมิ บิซ ก็ยังเลือกจ้างพนักงานทุกคนจำนวน 28 ชีวิตเป็นผู้หญิง! ซึ่งพนักงานแต่ละคนก็ผ่านประสบการณ์การทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมสิ่งทอมาแล้วทั้งสิ้น
ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์กับ Al Jazeera English ไว้ว่า การทำมาสคอตก็เหมือนการให้กำเนิดชีวิตเด็กน้อย แม้จะมีเรื่องของวัสดุที่ใช้ผลิตมาเกี่ยวข้อง แต่มันก็เป็นมากกว่าการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าทั่วๆ ไป เพราะหลังจากที่ส่งมอบมาสคอตไปสู่มือลูกค้า เธอและทีมงานก็มักจะคอยติดตามผลงานของมาสคอตเหล่านั้นผ่านโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ ราวกับเป็นแม่ที่คอยเป็นห่วงเป็นใยว่าลูกๆ กำลังทำอะไร ที่ไหน และอย่างไร
ฮิโรมิบอกว่า “การเปรียบเทียบตัวเองเป็น ‘แม่’ ยามที่ผลิตมาสคอต จะช่วยทำให้เราใส่ใจในแต่ละขั้นตอนการผลิตเป็นพิเศษ บางครั้งตอนท่ีผลิตพวกเขาเสร็จแล้วก็จะแอบรู้สึกเหงาๆ บ้างเหมือนกัน มันเหมือนกับว่าพวกเราต้องพลัดพรากจากลูกของตัวเอง เเต่ก็จะพยายามบอกกับมาสคอตอยู่เสมอว่าห้ามป่วยกลับมานะ (ชำรุด) คอยอวยพรให้ลูกๆ เติบโตไปมีชีวิตที่ดี มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นที่รักของผู้พบเห็น
“ในความเป็นจริง ฉันไม่ได้บังคับว่าพนักงานทุกคนจะต้องมีความคิดแบบนี้นะ (นิยามว่าตัวเองเป็นแม่ของมาสคอต) ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเพราะสัญชาตญาณความเป็นแม่ของพวกเธอมากกว่า เเล้วก็ไม่ใช่ว่าเราจะปิดกั้น ไม่รับสมัครพนักงานผู้ชาย เพราะผู้ชายก็มีสัญชาตญาณความเป็นแม่ได้เหมือนกัน เพียงแต่ก่อนหน้านี้เรามีประสบการณ์ที่ไม่สู้ดีเท่าไรกับพนักงานชาย เนื่องจากพวกเขามักจะเข้ามาขโมยสูตรการผลิตมาสคอตของเราออกไป”
นอกจากทัศนคติของความเป็นแม่แล้ว คิกุรุมิ บิซ ก็ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ตัดเย็บด้วยมือเป็นหลัก เพราะฮิโรมิมองว่าการใช้เครื่องจักรจะทำให้มาสคอตออกมาดูไม่เป็นธรรมชาติ เก็บรายละเอียดของงานได้ไม่ดี โดยทุกๆ การผลิตมาสคอตแต่ละตัวก็จะต้องมีการศึกษาลักษณะผิวหนังของสัตว์ต้นแบบ เพื่อจะได้เลือกใช้วัสดุตัดเย็บออกมาใกล้เคียงกับผิวหนังจริงของสัตว์ตัวดังกล่าวให้มากที่สุด
การแสดงออกด้วยการกอดเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นมักไม่ค่อยทำกัน แต่มาสคอตกลับทำได้ เพราะฉะนั้นมันเลยช่วยเยียวยาปัญหาของคนญี่ปุ่นในจุดนี้ เวลาที่ได้กอดมาสคอตก็เหมือนการเยียวยาให้จิตใจของผู้ที่ได้รับการกอดให้สงบลง มีความสุข และหายเครียด
เพราะคนญี่ปุ่นขี้อาย สื่อสารไม่เก่ง มาสคอตจึงเป็นทั้งผู้ทลายกำแพงและผู้เยียวยา?
เคยสงสัยกันหรือเปล่าว่าเหตุใดประเทศญี่ปุ่นถึงมีวัฒนธรรมการนำมาสคอตมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์กันอย่างแพร่หลาย ทุกจังหวัดและเกือบจะทุกๆ อำเภอล้วนแล้วแต่มีมาสคอตที่สื่อเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นเป็นของตัวเองกันแทบทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่สถานีตำรวจและโรงพยาบาล ที่ก็มีมาสคอตเป็นของตัวเองเช่นกัน
สาเหตุที่วัฒนธรรมการใช้มาสคอตในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จเช่นนี้ ฮิโรมิเชื่อว่ามาจากการที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นคนขี้อาย สื่อสารกันด้วยคำพูดและการแสดงออกไม่ค่อยเก่ง การใช้มาสคอตจึงทำให้สารเดินทางไปถึงตัวผู้รับได้ง่ายขึ้น
“คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเก่งด้านการสื่อสาร เพราะขี้อาย ตั้งแต่ในอดีต เวลาที่เราต้องการจะอธิบายหรือสื่อสารอะไรออกไปก็จะเขียนเป็นคำบรรยายพร้อมภาพประกอบอยู่เสมอ บางครั้งการประชาสัมพันธ์ด้วยคำพูดหรือบอกอะไรออกไปตรงๆ คนก็อาจไม่รับฟังและไม่เข้าใจ แต่การใช้มาสคอตมาช่วยมันทำให้เขาเข้าใจสารดังกล่าวได้ง่ายขึ้น เพราะเหมือนเป็นการสื่อสารระหว่างคนกับคนมากกว่าคนและตัวอักษร โดยเฉพาะเวลาที่ต้องสื่อสารกับชาวต่างชาติ การนำมาสคอตเข้ามาช่วยสื่อสารด้วยการแสดงท่าทางก็ช่วยทำให้กำแพงด้านภาษาพังทลายลง”
ด้วยภูมิหลังความเป็นคนขี้อายนี่เอง ที่เป็นสาเหตุให้คนญี่ปุ่นทั่วไปไม่ค่อยแสดงออกถึงความรักที่มีผ่านการสัมผัสร่างกายและการสวมกอดกัน แม้แต่ตัวของฮิโรมิเองก็เช่นกัน เธอยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวเธอเอง สามี หรือพนักงานในบริษัทก็แทบจะไม่กอดกันเลยด้วยซ้ำ ตรงข้ามกับเวลาที่พบเจอมาสคอต ซึ่งเธอกลับไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจแม้แต่น้อยในการโผเข้าไปกอดพวกเขา
“การแสดงออกด้วยการกอดเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นมักไม่ค่อยทำกัน แต่มาสคอตกลับทำได้ เพราะฉะนั้นมันเลยช่วยเยียวยาปัญหาของคนญี่ปุ่นในจุดนี้ ฉันเคยอ่านเจอว่าเวลาที่เด็กได้ดื่มน้ำนมจากเต้าของคุณแม่ พวกเขาจะได้รับฮอร์โมนออกซิโทซิน (oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนของความรักและความผูกพันมาด้วย เช่นเดียวกัน เวลาคนที่รักและชอบพอกันได้สัมผัสหรือกอดกัน ร่างกายของพวกเขาก็จะหลั่งสารดังกล่าวออกมา ซึ่งช่วยทำให้รู้สึกมีความสุข เวลาที่ได้กอดมาสคอตก็เหมือนการเยียวยาให้จิตใจของผู้ที่ได้รับการกอดให้สงบลง มีความสุข และหายเครียด”
เงินที่ใช้ในการผลิตมาสคอตของหน่วยงานรัฐบาลเป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้ามาสคอตของหน่วยงานใดไม่เป็นที่นิยมและสร้างเม็ดเงินให้กับหน่วยงานนั้นๆ ไม่ได้ พวกเขาก็จะไม่สนับสนุนให้มีการผลิตเพิ่ม
เปิดมุมเศร้าของมาสคอต ‘ถ้าไม่ดัง ไม่ขยัน สร้างผลตอบแทนไม่คุ้ม ก็อย่าหวังไปต่อ!’
แม้ว่าหน่วยงานของภาครัฐบาลญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจะนิยมผลิตมาสคอตเป็นของตัวเองเพื่อใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนและผู้บริโภคที่พบเห็น แต่ก็ใช่ว่ามาสคอตทุกตัวจะได้รับความนิยมเหมือนกันหมด
เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐบาลจึงเลือกสนับสนุนให้มีการผลิตมาสคอตเพิ่มเฉพาะตัวที่มีความขยันในการออกงานอีเวนต์ มีฐานเเฟนคลับหนาแน่น และสามารถทำเงินตอบแทนให้กับหน่วยงานนั้นๆ ได้ เหมือนท่ีพวกเขายินดีให้งบประมาณผลิตมาสคอตหมีคุมะมงและมาสคอตสาลี่ฟุนัชชี (Funassyi) เพิ่มได้ไม่อั้น
ฮิโรมิเล่าให้เราฟังว่า “เงินที่ใช้ในการผลิตมาสคอตของหน่วยงานรัฐบาลเป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้ามาสคอตของหน่วยงานใดไม่เป็นที่นิยมและสร้างเม็ดเงินให้กับหน่วยงานนั้นๆ ไม่ได้ พวกเขาก็จะไม่สนับสนุนให้มีการผลิตเพิ่ม เนื่องจากมองว่าเป็นการผลาญเงินภาษีประชาชนโดยเปล่าประโยชน์ ครั้งหนึ่งกรมสรรพากรก็เคยสั่งให้หน่วยงานตำรวจตามจังหวัดและอำเภอบางแห่งระงับการผลิตมาสคอตด้วยเหตุผลดังกล่าวเช่นกัน จนบริษัทผลิตมาสคอตจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบอย่างหนักและต้องปิดตัวลงไป แต่เราก็พลิกวิกฤตดังกล่าวโดยหันมารับงานจากองค์กรเอกชนและบริษัทต่างๆ มากขึ้น”
ฉันเชื่อว่าถ้าทำธุรกิจโดยมองแค่เรื่องเงินเป็นที่ตั้ง แต่พนักงานและคนทำงานไม่มีความสุข องค์กรไม่สามารถส่งต่อความสุขไปยังลูกค้าหรือผู้รับ สุดท้ายธุรกิจของคุณก็จะอยู่ไม่ได้
ธุรกิจทำเงินอย่างเดียวอาจไม่ยั่งยืน แต่ต้องตอบโจทย์สร้างความสุขให้คนในองค์กรด้วย
ในประเทศญี่ปุ่น ปัญหาเรื่องการทำงานของมนุษย์เงินเดือนถือเป็นวาระแห่งชาติที่หลายๆ ฝ่ายต่างให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากมีการเปิดเผยว่า อัตราการทำงานล่วงเวลาที่เกินกำหนดมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี คิกุรุมิ บิซ ถือเป็นบริษัทที่ได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมากในฐานะองค์กรที่มีอัตราการทำงานล่วงเวลาลดน้อยลงเรื่อยๆ ในแต่ละปี สะท้อนให้เห็นว่าพนักงานในบริษัทสามารถบริหารจัดการเวลาและปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีคุณภาพ และทันกำหนดการส่งมอบ โดยในแต่ละปี ฮิโรมิจะถูกเชิญไปบรรยายตามบริษัทต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 30 แห่งเพื่อเผยเคล็ดลับดังกล่าว
เบื้องหลังที่ทำให้ คิกุรุมิ บิซ ไปถึงจุดนั้นได้ ฮิโรมิบอกว่า โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยกล้าลาพักร้อนหยุดงานกัน เนื่องจากเกรงใจองค์กร แต่เธอเลือกทำตรงกันข้าม โดยอนุญาตให้พนักงานในบริษัทใช้สิทธิ์ลาพักร้อนกันได้อย่างเต็มที่เพื่อให้พวกเธอได้ใช้เวลาพักผ่อนตามต้องการ เวลาที่กลับมาทำงาน พนักงานทุกคนก็จะขยันและตั้งใจทำงานออกมาให้ดีที่สุด โดยปัจจุบัน คิกุรุมิ บิซ มีค่าเฉลี่ยในการลาหยุดของพนักงานอยู่ที่ประมาณ 84.5% ต่อปี
และถึงแม้จะมีการเปิดเผยว่าบริษัทของฮิโรมิมีรายได้จากการผลิตมาสคอตป้อนหน่วยงานต่างๆ ตลอดทั้งปี 2015 มากกว่า 59 ล้านบาท แต่เธอกลับมองว่า การประกอบธุรกิจโดยมีเป้าหมายสูงสุดเป็นผลประกอบการเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทำให้องค์กรยั่งยืนในระยะยาว เมื่อเทียบกับการบริหารบุคลากรในบริษัทให้มีความสุขในการทำงานไปพร้อมๆ กัน
เธอบอกว่า “จะบอกว่าเราไม่คิดถึงเรื่องธุรกิจเลยก็คงไม่ถูก เพราะบริษัทก็ต้องมีรายได้มาหล่อเลี้ยงพนักงานด้วย แต่เรามองว่าสิ่งที่ทำมันเป็นธุรกิจที่ทำให้หลายๆ ฝ่ายมีความสุขมากกว่า เมื่อพนักงานมีความสุข ก็จะสามารถผลิตมาสคอตออกมาได้ดี มีคุณภาพ ผู้ที่ใส่มาสคอตก็จะถ่ายทอดคาแรกเตอร์ออกมาและสร้างความสุขให้กับคนรอบตัวได้ ฉันเชื่อว่าถ้าทำธุรกิจโดยมองแค่เรื่องเงินเป็นที่ตั้ง แต่พนักงานและคนทำงานไม่มีความสุข องค์กรไม่สามารถส่งต่อความสุขไปยังลูกค้าหรือผู้รับ สุดท้ายธุรกิจของคุณก็จะอยู่ไม่ได้”
ก่อนจบบทสนทนาที่กินระยะเวลานานกว่า 1 ชั่วโมงเศษๆ เรานึกสงสัยจึงถามฮิโรมิว่า “เธอทำงานในวงการมาสคอตมาเกือบจะ 30 ปีแล้ว ไม่เคยรู้สึกเบื่องานที่ทำบ้างเลยหรือ?” เธอตอบเรากลับมาพร้อมรอยยิ้มว่า “ถ้าพูดถึงเรื่องความกระหายในปัจจุบันก็คงต้องใช้คำว่า ‘คงที่’ มากกว่า เนื่องจากมีหลายครั้งที่เราไม่สามารถรับงานเพิ่มขึ้นได้ เพราะมีจำนวนบุคลากรจำกัด แต่ความรักที่ฉันมีให้กับงานของตัวเองก็ไม่เคยลดลงเลยนะ เพราะถ้าไม่รักไม่ชอบจริงก็คงไม่สามารถทำมาได้นานถึงขนาดนี้หรอก” (หัวเราะ)
อ้างอิง:
- ปัจจุบัน ฮิโรมิ คาโนะ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารทั่วไปของบริษัทคิกุรุมิ บิซ เธอมีหน้าที่ดูแลและควบคุมคุณภาพการผลิตในทุกขั้นตอน ส่วน ยูอิจิ สามีของเธอ ได้ขยับขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานบริหารสูงสุด (CEO) แทน
- มาสคอตส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตั้งแต่ 3-10 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย โดยแต่ละตัวจะมีการติดพัดลมระบายอากาศขนาดเล็กขนาด 8×8 ซม. ภายในชุดที่บริเวณหน้าอกหนึ่งจุด และมีช่องระบายความร้อนบริเวณกระหม่อมอีกหนึ่งจุด ซึ่งคิกุรุมิ บิซ เป็นบริษัทผู้รับผลิตมาสคอตแห่งแรกๆ ที่เริ่มติดตั้งพัดลมระบายอากาศในตัวมาสคอตในญี่ปุ่น โดยเริ่มทำมาได้ 20 กว่าปีแล้ว
- กระบวนการผลิตต่อตัวอยู่ที่ประมาณ 1 เดือน โดยในแต่ละเดือนจะผลิตได้มากกว่า 20 ตัว หากเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการออกแบบจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และภายในหนึ่งปีจะผลิตมาสคอตได้ประมาณ 200-250 ตัว ซึ่งราคาการผลิตจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ ของมาสคอต โดยเฉลี่ยมาสคอตชุดหนึ่งๆ ที่ประกอบไปด้วยส่วนหัว ลำตัว ถุงมือ และรองเท้า จะสนนราคา 600,000 เยน หรือประมาณ 182,475 บาท (ไม่รวมภาษี)