×

‘เชลยสงครามการค้า’ ความบาดหมางที่มากกว่าแค่ Google และสหรัฐอเมริกาแบน Huawei

22.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่ากรณีที่สหรัฐฯ สั่งระงับไม่ให้บริษัทในประเทศดำเนินธุรกิจด้วยเกี่ยวข้องกับประเด็นสงครามการค้า
  • สงครามการค้าไม่ใช่แค่ปัญหาสหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้ากับจีน แต่ว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ มองว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และส่งผลให้เกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรม
  • Huawei คือหนึ่งในหมากที่สหรัฐฯ และทรัมป์พยายามใช้ต่อรองกับจีน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ย่อมสะเทือนทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานโลกอยู่แล้ว ทุกฝ่ายจึงต้องตั้งรับความเปลี่ยนแปลงให้ดี

เหตุการณ์ที่ Google ระงับความร่วมมือทางธุรกิจกับ Huawei ตามคำสั่งรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม ส่งผลกระทบรุนแรงมาก ไม่ใช่แค่เฉพาะกับแบรนด์ Huawei แต่สะเทือนไปในวงกว้าง ระบมฟกช้ำกันทั้งห่วงโซ่อุปทานโลกจนหลายฝ่ายปาดเหงื่อหน้าซีดไปตามๆ กัน เช่นเดียวกับลูกค้าของ Huawei ที่หลายๆ คนในเวลานี้ยังวิตกกังวลว่าสิ่งที่พวกเขาจะต้องเผชิญในบั้นปลาย สุดท้ายแล้วมันร้ายแรงแค่ไหน

 

ทวนกันอีกครั้ง ผู้ใช้อุปกรณ์ของ Huawei ในปัจจุบันจะยังใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Huawei และ Honor ได้ตามเดิม อัปเดตแอปฯ และฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยได้ปกติ แต่ไม่สามารถอัปเดตแอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่ ขณะที่ผู้ใช้งานในจีนไม่เดือดร้อนอยู่แล้ว เพราะแทบจะไม่ได้ใช้บริการของ Google เลย

 

ส่วนลูกค้าในอนาคตที่คิดจะซื้อผลิตภัณฑ์ของทั้ง Huawei และ Honor ซึ่งจะเปิดตัวในอนาคต นอกเหนือกรอบระยะเวลาที่ Huawei และ Google ตกลงกันไว้ก่อนถูกสหรัฐฯ สั่งแบนจะไม่สามารถเข้าถึงระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันทางการ ใช้ได้แค่แอนดรอยด์ Open Source และไม่สามารถเข้าถึงแอปฯ ของ Google เช่น Play Store, YouTube, Google Maps และ Drive ฯลฯ ต้องเลี่ยงไปใช้บริการเหล่านี้บนเว็บไซต์แทน (ซึ่งแน่นอนว่าไม่สะดวกเอามากๆ)

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นผลกระทบนี้อาจจะต้องติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง

 

 

แต่กว่าที่มาตรการนี้จะบังคับใช้จริง Huawei ผู้บริโภคและพาร์ตเนอร์คู่ค้ายังมีเวลาเหลืออีก 90 วันนับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคมเป็นต้นไป ตามคำสั่งผ่อนปรนโทษของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้แบบไร้รอยต่อ (นอกจาก Google บริษัทผู้ผลิตชิปหลายแห่งในสหรัฐฯ ที่ป้อนชิ้นส่วนให้กับ Huawei ก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย)

 

ทางออกที่หลายฝ่ายมองว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด และเชื่อกันว่า Huawei น่าจะงัดขึ้นมาใช้ นั่นคือการติดตั้งระบบปฏิบัติการ HongMeng ที่ซุ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012 ให้กับผลิตภัณฑ์ของพวกเขา แต่ก็ถือเป็นทางเลือกที่เสี่ยงเอาการ เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดที่ว่าการจะทำให้ผู้บริโภคยอมรับระบบปฏิบัติการอื่นนอกจากแอนดรอยด์หรือไอโอเอสย่อมไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะกว่าท่ีทั้ง Apple และ Google จะทำได้สำเร็จก็จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาต่อเนื่องนานร่วมทศวรรษ ไหนจะต้องมาพะวงกับความร่วมมือระหว่างบริษัทและผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วโลกอีก

 

ทั้งหมดคือสถานการณ์ที่หลายฝ่ายต้องจับตาให้ดี และคงจะใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะเห็นร่องรอยบาดแผลความเสียหายจากการรัวกลองสนั่นประกาศศึกในครั้งนี้ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้แบบชัดๆ แต่ถ้าเราลองถอยออกมาหนึ่งก้าวแล้วมองสถานการณ์ที่ Huawei กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ให้ดีก็จะพบว่ามันมีความ ‘เชื่อมโยง’ บางอย่างกับสงครามการค้าที่สหรัฐฯ และจีนกำลังตอบโต้กันไปมาอยู่พอสมควร

 

Photo: www.gettyimages.com

 

หมูสามชั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับกรณี Huawei ถูกลงดาบ

THE STANDARD ต่อสายตรงถึง อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสอบถามความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเขาได้เปรียบเปรยสถานการณ์นี้ว่าเกี่ยวข้องกับ ‘ทฤษฎีหมูสามชั้น’ ในประเด็นสงครามการค้าชนิดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

“ประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอยู่ท่ามกลางสงครามการค้า ซึ่งผมมักจะเรียกว่าทฤษฎีหมูสามชั้น ชั้นแรกเป็นเรื่องของการค้า แต่มันดันมีชั้นที่สองที่เกี่ยวข้องกับ ‘สงครามเทคโนโลยี’ เพราะจีนเติบโตด้านเทคโนโลยีได้รวดเร็ว และทรัมป์เองก็มองว่าการเติบโตนี้มีสาเหตุมาจากความไม่เป็นธรรม ทั้งการขโมยเทคโนโลยี อุดหนุนรัฐวิสาหกิจ ฉะนั้นจุดประสงค์หลักของสงครามการค้าก็คือบีบให้จีนมานั่งโต๊ะเจรจาเพื่อจะตกลงแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ยกเลิกการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน

 

“ขณะที่หมูชั้นที่สามคือความสำคัญของเทคโนโลยีไม่ได้เป็นแค่เรื่องของเทคโนโลยีอีกต่อไป มันไม่ใช่เรื่องธุรกิจการค้า แต่เป็นเรื่องของ ‘ความมั่นคง’ ผมจึงเรียกมันว่าเป็นสงครามความมั่นคง เทคโนโลยียุคใหม่อย่าง 5G หรือ AI มันมีมิติความปลอดภัยของข้อมูลและการถูกนำไปปรับใช้กับภาคการทหาร เราจึงมักจะเห็นสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลต่อเทคโนโลยี 5G ของ Huawei”

 

ข้อขัดแย้งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อ Huawei ในประเด็นความมั่นคงเกิดขึ้นมาสักระยะแล้ว เนื่องจาก Huawei ถูกมองว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลจีนเป็นพิเศษ จึงถูกรัฐบาลสหรัฐฯ เพ่งเล็งว่าอาจจะใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดเป็นช่องทางลับเพื่อสอดแนมข้อมูลให้กับจีน และข้อกล่าวหานี้ก็ได้ถูกยกระดับความจริงจังขึ้นไปอีกขั้น เมื่อหน่วยงานด้านความมั่นคงในสหรัฐฯ นำโดย FBI, CIA และ NSA ได้ยกขบวนออกมาประกาศแนะนำให้พลเมืองในประเทศเลี่ยงใช้งานสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมและบริการของ Huawei และ ZTE เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 แม้ข้อกล่าวหาทั้งหมดจะไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักมากเพียงพอขึ้นมารองรับก็ตาม

 

“ไม่มีหลักฐานว่า Huawei มีการสอดแนมหรือติดตั้งอะไรที่ไม่ชอบมาพากลในผลิตภัณฑ์ แต่ในขณะเดียวกัน มุมมองด้านวิศวกรรมหรือนักคอมพิวเตอร์ ทุกคนจะตอบว่าเรื่องพวกนี้สามารถทำได้ในทางเทคนิค โดยลักษณะของเทคโนโลยี 5G มันสามารถติดตั้งมัลแวร์หรือมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยข้อมูลสูงกว่า 4G มาก ที่สำคัญในยุคของ 5G มันจะเป็นยุคของ IoT (Internet of Things) ที่อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลขนาดมหาศาลเข้าถึงกันได้หมด ดังนั้นเมื่อระบบไม่มีความปลอดภัย สหรัฐฯ ก็กังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ไม่ได้มองแค่มุมการเพลี่ยงพล้ำทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว

 

“แต่ประเด็นก็คือทั้งจีนและสหรัฐฯ เองก็สามารถทำวิธีนี้ได้เหมือนกัน (สอดแนมข้อมูลผ่านอุปกรณ์) เราเองในฐานะผู้ใช้ก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสหรัฐฯ จะใส่มัลแวร์หรือสอดแนมข้อมูลผู้ใช้งานหรือเปล่า แม้สหรัฐฯ จะบอกว่าเชื่อใจพวกเขาได้ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถแทรกแซงเอกชนได้เหมือนกับรัฐบาลจีนก็ตาม”

 

อาร์มบอกต่อว่าอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Huawei กลายเป็นบริษัทที่ไม่น่าไว้วางใจในสายตาของสหรัฐฯ เป็นเพราะว่าสหรัฐฯ มองเบื้องหลังการทำธุรกิจและเติบโตจนเป็นบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของ Huawei ว่ามาจากการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลจีน โดยเฉพาะงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาก้อนโต

 

Photo: www.gettyimages.com

 

มาถึงตรงนี้ เราเชื่อว่าหลายคนคงปะติดปะต่อและพอจะมองเห็นภาพรวมว่าทฤษฎีหมูสามชั้น สงครามการค้า และ Huawei เกี่ยวข้องกันชนิดที่แทบจะแยกไม่ออก ปัญหาสงครามการค้าจึงไม่ใช่แค่เรื่องการขาดดุลการค้าอีกต่อไป

 

“จุดประสงค์และสาเหตุไม่ใช่แค่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า เพราะถ้าปัญหาคือขาดดุล วิธีแก้ก็ง่ายมาก แค่ให้จีนสั่งสินค้าจากสหรัฐฯ ในจำนวนเยอะๆ ซึ่งจีนก็ยินดีที่จะสั่งถั่วเหลือง เครื่องบินโบอิ้ง หรือสินค้าเทคโนโลยีมากขึ้นอยู่แล้ว แต่ประเด็นมันกลับไม่ใช่อย่างนั้น สหรัฐฯ ไม่ยินดีจะขายสินค้าเทคโนโลยีให้จีน พวกเขาใช้สงครามการค้าบีบจีนให้ปรับปรุงตัวในสองประเด็นคือ หนึ่ง เคารพทรัพย์สินทางปัญญา และสอง ยกเลิกการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนในประเทศ เนื่องจากสองเรื่องนี้ทำให้จีนค้าขายไม่เป็นธรรม สงครามการค้าจึงกลายเป็นเรื่องมากกว่าแค่การค้า แต่เกี่ยวเนื่องผูกโยงกับเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยียุคใหม่มันกระทบกับความมั่นคง”

 

Photo: www.gettyimages.com

 

จีนและสหรัฐฯ กับสถานะ ‘ศัตรูที่รัก’

หลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการบังคับห้ามมิให้บริษัทในประเทศดำเนินธุรกิจทางการค้ากับ Huawei เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็เดินทางไปตรวจเยี่ยมฐานการผลิตแร่ธาตุหายาก Rare earth ในมณฑลเจียงซีทันที ซึ่งแร่ธาตุหายากที่ว่าถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าไฮเทคต่างๆ โดยมีข่าวลือว่าสีจิ้นผิงอาจจะใช้แร่ธาตุหายากนี้เป็นไพ่เด็ดต่อรองกับสหรัฐฯ

 

“ปัจจุบัน 90% ของแร่ชนิดนี้ที่สหรัฐฯ นำมาใช้ผลิตสินค้าต้องนำเข้าจากจีน การที่สีจิ้นผิงเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงงานแห่งนี้ก็เปรียบเหมือนการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าจีนมีไพ่เหนือกว่าอยู่ในมือ แต่มันก็ไม่ง่าย เพราะลูกค้ารายใหญ่ของพวกเขาคือสหรัฐฯ ถ้าจำกัดการผลิตและการส่งออกจริง บริษัทสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว แต่อุตสาหกรรมจีนเองก็จะได้รับผลกระทบด้วย สุดท้ายถ้าสถานการณ์มันยกระดับไปไกลกว่านี้ ผลกระทบคงทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ต้องรอดูว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ จะตอบโต้กันอย่างไร”

 

เมื่อมองถึงผลกระทบระยะยาวกับห่วงโซ่อุปทานโลก อาร์มเชื่อว่าต้องส่งผลกระทบอยู่แล้ว และจะมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และเสียเปรียบ เช่น ถ้าคุณขายของแข่งกับจีนก็จะได้รับประโยชน์แน่นอน แต่ถ้าเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของจีนก็จะได้รับผลกระทบหนัก ดังนั้นคงตอบไม่ได้ชัดเจนว่าผลลัพธ์จะดีหรือไม่ดีต่อใคร เพราะสถานการณ์ก็คาดเดาได้ยากลำบาก ทางที่ดีคือทุกฝ่ายต้องเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

 

หากมองในอีกมุมก็มีความเป็นไปได้ว่าการออกมาตรการเชิงบังคับไม่ให้บริษัทดำเนินธุรกิจกับจีนเป็นหนึ่งในความพยายามที่สหรัฐฯ ต้องการบีบให้บริษัทในประเทศวางแผนห่วงโซ่การผลิตเสียใหม่โดยตัดจีนออกจากสารบบทางอ้อม แต่คำถามสำคัญคือสุดท้ายแล้วมันจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอย่างที่หลายฝ่ายทราบกันว่าห่วงโซ่การผลิตในปัจจุบันล้วนแล้วแต่ต้องผ่านจีนเป็นหลัก

 

Photo: www.gettyimages.com

 

“โดยภาพรวมเศรษฐกิจมันจะผันผวน เพราะทุกฝ่ายต้องวางแผนห่วงโซ่การผลิตกันใหม่ สถานการณ์แบบนี้มันคาดการณ์ได้ลำบาก เพราะไม่สามารถวางแผนในอนาคตได้เลย เดี๋ยววันนี้มีข่าวว่าจะดีกัน อีกวันก็ทะเลาะกันอีก แต่ถ้าเข้าใจภาพใหญ่ก็จะมองเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันมากกว่าแค่ปมการค้า สถานการณ์มันจะดีร้ายสลับกันไป เป็นความผันผวนในระยะยาว

 

“ต้องแยกออกเป็นสองข้อเท็จจริง ข้อแรก จีนขึ้นมาท้าทายสหรัฐฯ มาก สหรัฐฯ จึงใช้สงครามการค้าเพื่อจัดการกับการผงาดของจีน ข้อเท็จจริงข้อที่สองคือเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และจีนมันเชื่อมโยงกันมาก เช่น วัตถุดิบที่สหรัฐฯ ใช้ผลิตชิปมาจากจีน แต่ชิปที่จีนใช้ในการผลิตมือถือก็มาจากสหรัฐฯ จะเห็นว่ามันเชื่อมโยงกันมาก สุดท้ายมันจึงไม่สามารถตีกันได้เต็มที่ เพราะต่างฝ่ายก็จะเจ็บตัวสาหัสทั้งคู่

 

“เมื่อทนไปได้สักระยะก็จะเกิดเสียงเรียกร้องให้ต่างฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน สหรัฐฯ และจีนอาจมีทีท่าว่าจะปรับความเข้าใจกันได้ หลังจากนั้นไม่นานก็คงจะตกลงกันไม่ได้จริง เพราะเรื่องที่สหรัฐฯ ต้องการให้จีนปฏิบัติตามเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ภายในประเทศของเขา สุดท้ายมันก็ต้องกลับมาทะเลาะกันอีก ภาพที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นสถานการณ์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายสลับกันไป ระยะยาวก็กลับมาขัดแย้งกันอีก ตัดขาดกันไม่ได้”

 

กับกรณีของ Huawei อาร์มมองว่าค่อนข้างชัดเจนว่าทรัมป์ใช้บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่รายนี้มากดดันจีนเพื่อประโยชน์ในการเจรจาต่อรอง

 

ขณะที่ล่าสุด เหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Huawei ได้ออกมาตอบโต้ในกรณีนี้ผ่านการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CCTV เมื่อวันอังคารแล้วว่าสหรัฐฯ ประเมินศักยภาพของพวกเขาต่ำไป และเขาเองก็รู้อยู่เต็มอกว่าการตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเทคโนโลยี ไม่ช้าหรือเร็ว Huawei และจีนก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นกับสหรัฐฯ

 

อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก แต่สถานการณ์ที่ Huawei กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ก็ใกล้เคียงที่เดียวกับการตกเป็น ‘เชลย’ ศึกสงครามการค้าที่ถูกสหรัฐฯ จับไว้เป็นตัวประกันขู่ฟ่อใส่จีน ในระยะยาวหากสถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ซ้ำร้ายหากบานปลายขึ้นไปอีก ผลลัพธ์ย่อมไม่ดีกับทุกฝ่ายแน่นอน…

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X