สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยคล้อยหลังไม่กี่วันหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ และออกคำสั่งแบนอุปกรณ์โทรคมนาคมของต่างประเทศที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคง เพื่อปกป้องเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ จากการถูกโจมตี และสอดแนมโดยปรปักษ์ต่างชาติ
วันนี้ (20 พ.ค. 2562) สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า Alphabet Inc. บริษัทแม่ของกูเกิล ประกาศระงับความร่วมมือทางธุรกิจบางส่วนกับหัวเว่ยเรียบร้อยแล้ว โดยจะระงับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการเชิงเทคนิค แต่ยกเว้นส่วนที่เป็น Open Source
โฆษกของกูเกิลระบุว่า บริษัทฯ ทำตามคำสั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ขึ้นชื่อหัวเว่ยอยู่ในบัญชีดำ
ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงในครั้งนี้จะทำให้สมาร์ทโฟนหัวเว่ยรุ่นต่อไปไม่สามารถเข้าถึงระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ Google Play Store รวมทั้งแอปพลิเคชันยอดนิยมจากกูเกิล เช่น YouTube, Gmail หรือ Google Maps ได้
สำหรับผู้ใช้หัวเว่ยรุ่นปัจจุบัน โฆษกของกูเกิลยืนยันว่า “Google Play และระบบป้องกันความปลอดภัยจาก Google Play Protect ยังใช้งานได้ตามปกติ” แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้สำนักข่าวรอยเตอร์สยืนยันว่า ผู้ใช้หัวเว่ยยังสามารถใช้บริการ และอัปเดตแอปฯ ของกูเกิลได้ตามปกติ แต่ถ้ากูเกิลปล่อยแอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่ หัวเว่ยก็จะไม่สามารถเข้าถึงได้
นักวิเคราะห์มองว่า สมาร์ทโฟนหัวเว่ยที่ขายในประเทศจีนจะไม่โดนผลกระทบมากนัก เนื่องจากไม่ได้ใช้ Google Play อยู่แล้ว แต่สำหรับสมาร์ทโฟนที่ขายทั่วโลก เบน วูด นักวิเคราะห์จาก CCS Insight Consultancy เห็นว่าจะเกิดผลกระทบใหญ่ต่อธุรกิจอย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้มีหลายประเทศแสดงความกังวลว่ารัฐบาลจีนอาจใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยในการสอดส่อง สอดแนม และจารกรรมข้อมูลลับของรัฐบาลต่างชาติ รวมถึงข้อมูลการค้า และเทคโนโลยีที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับจีน ขณะที่สหรัฐฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานรัฐแบนอุปกรณ์ของหัวเว่ยภายในองค์กรไปก่อนหน้านี้
CNN รายงานว่า คำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อเงินรายได้ที่บริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอนแวลลีย์จะได้มาจากการขายส่วนประกอบให้หัวเว่ย เพราะคำสั่งแบนนี้มีผลบังคับให้บริษัทผู้ส่งออกเหล่านี้ห้ามทำธุรกรรมหรือค้าขายกับหัวเว่ยอย่างสิ้นเชิง หากไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล
นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group เตือนว่า การขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยจะส่งผลเสียต่อตัวบริษัทเอง และเครือข่ายลูกค้าของหัวเว่ยทั่วโลก เพราะหัวเว่ยจะไม่สามารถอัปเกรดซอฟต์แวร์ ดูแลรักษา และเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ใหม่ในผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนหัวเว่ยจะไม่สามารถอัปเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในอุปกรณ์ของพวกเขาด้วย
นอกจากนี้ คำสั่งแบนยังอาจสร้างผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เพราะบริษัทต่างชาติจะไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบ และชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ ไปให้กับหัวเว่ยด้วย ซึ่งหมายความว่าหัวเว่ยจะไม่สามารถซื้อชิปเซตจากซัพพลายเออร์ในไต้หวัน เนื่องจากชิปเซตเหล่านี้มีชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ เป็นส่วนประกอบ
ก่อนหน้านี้หัวเว่ยระบุว่า ทางบริษัทจะเร่งหาทางออกในเรื่องนี้โดยเร็ว และแสดงเจตจำนงที่จะเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อสะสางปัญหา พร้อมกับยืนกรานปฏิเสธว่าผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยไม่ได้เป็นอันตรายต่อความมั่นคง
“การจำกัดการทำธุรกิจของหัวเว่ยในสหรัฐฯ จะไม่ช่วยให้สหรัฐฯ ปลอดภัยขึ้นหรือแข็งแกร่งขึ้น แต่ในทางกลับกันจะทำให้สหรัฐฯ มีทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่ด้อยกว่าในราคาที่แพงขึ้น” หัวเว่ยระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา
แต่สำหรับสถานการณ์ในวันนี้ หัวเว่ยยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียง
อ้างอิง: