หลังมีกระแสกดดันต่อท่าทีของที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ออง ซาน ซูจีได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกรณีความรุนแรงในรัฐยะไข่ว่า “รัฐบาลของเรากำลังทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของชาวโรฮีนจา” พร้อมย้ำว่าประชาชนทุกคนในเมียนมาจะได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งในทางการเมือง สังคม และมนุษยชน
อาจด้วยความล่าช้าของดอว์ซูจี ผู้เข้าร่วมลงนามผ่านเว็บไซต์ Change.org จึงระดมรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการโนเบลริบคืนรางวัลจากเธอ จนถึงตอนนี้ตัวเลขพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกือบ 350,000 คนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งมูลนิธิโนเบล ข้อที่ 10 ระบุข้อความส่วนหนึ่งไว้ว่า “ไม่มีคำอุทธรณ์ใดจะคัดค้านการตัดสินใจในเรื่องการมอบรางวัลของคณะกรรมการได้”
นัยของเนื้อหานี้ครอบคลุมด้วยว่า รางวัลที่มอบให้แก่บุคคลหนึ่งๆ ไปแล้วย่อมไม่มีทางถอดถอนได้ แม้กระบวนการดังกล่าวจะแน่ชัด แต่การแสดงความคิดเห็นที่ต้องการปลด เนลสัน แมนเดลา แห่งเอเชีย ออกจากตำแหน่ง ย่อมแสดงถึงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่
ออง ซาน ไม่ใช่รายแรก
ภาพหญิงแกร่งที่ถูกจองจำอยู่ในบ้านพักนาน 15 ปี หลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมียนมาในปี 1988 เป็นภาพที่หลายฝ่ายจดจำผู้นำเมียนมาทางพฤตินัยในปัจจุบัน หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) คว้าชัยอย่างถล่มทลายจากการเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1991 รายนี้ เป็นหนึ่งในหลายรายที่มีผู้แสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้ยึดตำแหน่งคืน โดยชื่อที่โผล่มายังมีอดีตประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ด้วย
การปรึกษาในคณะกรรมการเองก็ใช่ว่าจบด้วยมติเอกฉันท์เสมอไป เมื่อปี 1994 อันเป็นปีที่ ยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำปาเลสไตน์ แบ่งรางวัลสันติภาพไปครองร่วมกับบรรดาผู้นำอิสราเอลอย่าง ยิตซัค ราบิน และ ชิมอน เปเรส สมาชิกคณะกรรมการรายหนึ่งประกาศลาออก พร้อมตราหน้าอาราฟัตในฐานะผู้ก่อการร้ายที่ไม่สมควรได้รับรางวัล
รายงานจากสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจน
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้ปะทะเข้ากับฝ่ายกบฏในรัฐยะไข่ หลังมีการก่อเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายหลังเหตุดังกล่าว กองทัพออกมาเปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 400 ราย โดยที่ส่วนใหญ่เป็นพวกกบฏ
ไม่นานนักหลังเหตุความรุนแรง รัฐบาลเมียนมาออกคำสั่งปิดกั้นพื้นที่บางส่วนเพื่อความปลอดภัย ส่งผลให้องค์กรต่างๆ รวมถึงสหประชาชาติ ไม่สามารถส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและสำรวจความเสียหายในพื้นที่ประสบเหตุได้
ฝ่ายกองทัพเมียนมาและฝ่ายโรฮีนจาต่างกล่าวโทษฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีและเผาบ้านเรือนตามหมู่บ้านต่างๆ จนทำให้ผู้คนบาดเจ็บและต้องพลัดถิ่นจำนวนมาก
รายงานสหประชาชาติเปิดเผยตัวเลขล่าสุดว่า มีชาวโรฮีนจา 125,000 คนที่อพยพเข้าบังกลาเทศ นับตั้งแต่เหตุความไม่สงบปะทุขึ้น
พร้อมกันนี้ตำรวจบังกลาเทศรายหนึ่งออกมาให้ข้อมูลว่า เรือประมงลำหนึ่งที่ขนชาวโรฮีนจา 35 ชีวิต พลิกคว่ำลงกลางทะเลเมื่อช่วงกลางคืนที่ผ่านมา พร้อมมีรายงานว่าพบศพผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 5 ราย
สำหรับการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2017 จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคมนี้ เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนอร์เวย์ หวังว่าผู้ได้รับรางวัลในปีนี้จะไม่ถูกกังขาเช่นเดียวกับ ออง ซาน ซูจี
อ้างอิง: